SMEs ไทยกับสงครามโรคครั้งที่ 3 (จบ)

SMEs ไทยกับสงครามโรคครั้งที่ 3 (จบ)

หวังว่า ธปท. และรัฐบาล จะเร่งปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือที่ตรงเป้าหมาย รวดเร็ว เป็นมาตรการพิเศษในภาวะวิกฤติ ที่จะทำให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจที่จะให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้ทันสถานการณ์ที่หนักหน่วงที่สุด !

มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เป็นมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดหวังว่าจะช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ทั้งในรูปแบบของการเยี่ยวยาฟื้นฟู เพื่อเตรียมพร้อมกลับมาเปิดกิจการรวมถึงการปรับปรุงธุรกิจ เพื่อรองรับโลกยุคหลังโควิด การระบาดของโควิด 19 ในรอบที่ 3 มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs รุนแรงมาก

โดย ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ตระหนักถึงปัญหาและความเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุมมากที่สุด โดยเฉพาะลูกหนี้ SMEs ขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังพอมีศักยภาพและต้องการสภาพคล่องไปประคับประคองกิจการที่ได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากการระบาดรอบนี้ ในการนี้ ธปท. ได้ให้สถาบันการเงินเร่งรัดกระบวนการพิจารณา และหาข้อสรุปกับลูกหนี้โดยเร็ว รวมถึงสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานสาขา ในการให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว เพียงพอและตรงจุด

ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งประกาศขานรับนโยบายของ ธปท. โดยกำหนดเป้าหมายในการเบิกวงเงินสินเชื่อ เร่งกระบวนการติดต่อลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าได้รับเงินสินเชื่อฟื้นฟูเร็วที่สุด คำประกาศของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs มีความหวังว่าคราวนี้ คงจะเข้าถึงสถาบันการเงิน และได้รับความช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยังไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน รอบนี้ ธปท. กำหนดว่าสามารถขอวงเงินสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช)เปิดเผยว่า มีความจำเป็นที่จะช่วยเหลือภาคเอสเอ็มอี ที่สู้มาตลอด 1 ปี แล้ว แต่ต้องเป็นการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้ามีความชัดเจน ซึ่งได้ประสานงานกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ออกแบบมาตรการขึ้นมาเพื่อให้สามารถช่วยกลุ่มเอสเอ็มอี ให้ตรงเป้ามากขึ้น

ถ้าเป็นไปตามข่าวที่ปรากฎผู้ประกอบการ SMEs น่าจะได้รับการช่วยเหลือสามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ แต่โลกแห่งความเป็นจริงปรากฎว่ายังมี SMEs จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะสถาบันการเงินยังคงมีความระมัดระวัง และการพิจารณาสินเชื่อมีความเข้มงวด ดูความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า การวิเคราะห์สินเชื่อยังเป็นไปในรูปแบบเดิม เครื่องมือเดิม การพิจารณาสินเชื่อให้ความสำคัญกับเรื่องความเสี่ยงเป็นพิเศษ จึงพยายามติดต่อลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว ที่ไม่เดือดร้อนมาก บางรายไม่ต้องการสินเชื่อเพิ่ม ลูกค้าในกลุ่มสีเหลืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ที่ต้องการปรับโครงสร้างการทำธุรกิจ และกลุ่มสีแดงที่ไดรับผลกระทบหนักที่สุด ต้องได้รับการช่วยเหลือ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ และยังมีข้อกำหนดของ ธปท. ต้องให้ บสย. ค้ำประกัน แม้ลูกหนี้จะมีหลักประกันเพียงพอ โดยในช่วงปีที 1-2 ต้องเสียค่าธรรมเนียมปีละ 1.75% เป็นการเพิ่มภาระ ขั้นตอนการดำเนินการต้องผ่านการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร ส่งเรื่องให้ ธปท. อนุมัติ ส่งเรื่องให้ บสย. ใช้เวลาในการดำเนินการนานประมาณ 3 สัปดาห์

มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือที่เรียกว่าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นโครงการที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ มีรายละเอียดและเงื่อนไขเฉพาะที่สถาบันการเงินและลูกหนี้ต้องเจรจาหารือเพิ่มเติม ลูกหนี้มีความกังวลเรื่องการหาแหล่งเงินทุนเพื่อซื้อทรัพย์คืนเมื่อถึงกำหนด อาจถูกยึดทรัพย์ โดยเฉพาะกรณีที่หลักทรัพย์มีมูลค่าสูงกว่าหนี้ รายที่หลักทรัพย์ไม่คุ้มหนี้ เมื่อโอนทรัพย์แล้วยังมีหนี้เหลือ ทำให้กังวลว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ที่เหลือได้

ปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs ในเมืองไทย ที่ลงทะเบียนแล้วมี 3 ล้านราย อีก 2 ล้านราย ยังไม่ลงทะเบียน เป็นรายขนาดกลางประมาณ 5 หมื่นราย รายเล็กประมาณ 4 แสนราย ที่เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เหลือยังไม่เข้าระบบภาษี เป็นข้อมูลที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมตั้งแต่ผมดูแลสินเชื่อ SMEs ที่แบงก์กรุงไทยเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว 

ทั้ง ๆ ที่ รัฐบาลทุกยุค ประกาศว่า SMEs คือวาระแห่งชาติ แต่ผู้ประกอบการ SMEs ยังคงเป็นกลุ่มที่ทำมาหากินด้วยความยากลำบาก ผมหวังว่า ธปท. และรัฐบาล จะเร่งปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือที่ตรงเป้าหมาย รวดเร็ว เป็นมาตรการพิเศษในภาวะวิกฤติ ที่จะทำให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจที่จะให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้ทันสถานการณ์ที่หนักหน่วงที่สุดตั้งแต่ผมเคยพบมา......