เมื่อรธน. ‘(ไม่)ปราบโกง’ ช่องโหว่ ‘เสือหิว’ ล่างบ ?

เมื่อรธน. ‘(ไม่)ปราบโกง’   ช่องโหว่ ‘เสือหิว’ ล่างบ ?

การมี “เสือหิว” ล่างบหน้าเดิมๆ เพ่นพ่านอยู่ในกมธ.งบประมาณชุดปัจจุบัน นำมาซึ่งคำถามว่า ที่สุดแล้วการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา144และมาตรา185 ของพรรคพลังประชารัฐ เป็นการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ใคร?

อย่างที่รู้กันว่า ภาคต่อของ “กลเกมแก้รัฐธรรมนูญ” เวลานี้กลับไปเริ่มต้นที่การแก้ไขรายมาตรา ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา “13 ญัตติแก้ไข” ที่เสนอโดยพรรครัฐบาล และฝ่ายค้าน ในชั้นรับหลักการวาระแรก

ทว่า เพียงแค่เริ่มต้น ดูเหมือนว่าพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐกำลังเผชิญคำถามถึงหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญ "ฉบับปราบโกง" ที่เวลานี้อาจ “เปิดช่องโกง” จากประเด็นการเสนอแก้ไข 2 มาตรา 

ประเด็นแรก อยู่ที่การแก้ไข “มาตรา 144”  โดยเฉพาะในวรรคสาม จากเดิมที่ระบุว่า ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว 

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้การเสนอการแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้กระทำการนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

 แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการหรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และให้ผู้กระทำการดังกล่าวต้องรับผิด ชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย

ทว่าใน “ร่างแก้ไขของพลังประชารัฐ" กลับตัดบทลงโทษของ “ส.ส.-ส.ว.-รัฐมนตรี” ออกเหลือเพียง “หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิดให้การเสนอการแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลไป” เท่านั้น

นั่นหมายความว่า  “ส.ส.-ส.ว.-รัฐมนตรี” ที่ทำผิด “ไม่ต้องรับโทษ”

162445046287

ขณะที่ในส่วนของ "เจ้าหน้าที่รัฐ"  จากเดิมที่ระบุไว้ในวรรค 4-6 ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือ หรือมีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ ให้พ้นจากความรับผิด

การเรียกเงินคืนตามวรรคสามหรือวรรคสี่ ให้กระทำได้ภายในยี่สิบปีนับแต่วันที่มีการจัดสรรงบประมาณนั้น

ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับแจ้งตามวรรคสี่ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน หากเห็นว่ากรณีมีมูลให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการต่อไปตามวรรคสาม และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญ หรือบุคคลใดจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งมิได้

ปรากฎว่า “ร่างแก้ไขพลังประชารัฐ” กลับตัดบทบัญญัติดังกล่าวออกเกลี้ยง!!

162445059597

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงคือ การแก้ไข “มาตรา 185”   จากเดิมที่ระบุว่า ส.ส. หรือ ส.ว.ต้องไม่ใช้สถานะ หรือตําแหน่งการเป็นสมาชิกระทําการใดๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

แต่ "ร่างแก้ไขพลังประชารัฐ" กลับตัดเหลือเพียง “ห้ามไม่ให้ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุแต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนขั้นของข้าราชการ” เท่านั้น แต่ “ไม่ห้าม” นักการเมืองก้าวก่าย หรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการในหน้าที่ประจําของข้าราชการอีกต่อไป

162445073869

เมื่อเป็นเช่นนี้ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับ 60 ซึ่งรัฐบาล คสช. รวมถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเคยพรีเซ็นต์ไว้ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ” เวลานี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น

กลับกันจะยิ่ง “เปิดช่อง” ให้บรรดา “อาเฮีย-อาเจ๊” ทั้งหลาย เล่นแร่แปรธาตุ “ปรับ-เพิ่ม-ลด-โยก-ย้าย” ได้สะดวกโยธิน โดยไม่มีความผิด 

ยิ่งเวลานี้บรรดา “เสือหิว” ล่างบหน้าเดิมๆ กลุ่มเดิมๆ กลับมาเพ่นพ่านอยู่ในคณะกรรมาธิการงบประมาณชุดปัจจุบันด้วยแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นจึงนำมาซึ่งคำถามต่างๆ นานา ว่าเป็นการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ใคร?

ประเด็นนี้ จึงถือเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลในการปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ (วาระ 2) ตามที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ในฐานะผู้เสนอญัตติได้รับปากไว้