'ระบบอัตโนมัติ’ ปิดช่องว่าง 'ข้อจำกัดดิจิทัล’ องค์กรยุคใหม่

'ระบบอัตโนมัติ’ ปิดช่องว่าง 'ข้อจำกัดดิจิทัล’ องค์กรยุคใหม่

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลจะประสบความสำเร็จและเป็นไปได้อย่างครอบคลุม องค์กรจำเป็นต้องมีคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลอยู่ในองค์กร ทว่าปัญหาการขาดแคลนทักษะด้านดิจิทัลอย่างรุนแรงก็มีอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นความท้าทายที่สำคัญ

ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์ เผยผลสำรวจการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2563 โดยนูทานิคซ์และดีลอยท์ ประเทศไทย โดยระบุว่า ความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลที่องค์กรไทยพบเป็นอันดับแรก คือ การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ 49% ตามมาด้วย วัฒนธรรมดิจิทัลที่ยังไม่หยั่งรากลึกเต็มที่ 45% และกระบวนการทำงานที่แยกส่วนไม่ประสานกัน (silo) ทำให้ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน 37%

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาระบุว่า ผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 รวบรวมจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศจำนวน 154 สถาบันมีผู้สำเร็จการศึกษาสาขาไอซีทีในระดับปริญญาตรีเพียง 13,984 คน คิดเป็น 5.09% ของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับนี้ทั้งหมด

“ปีนี้องค์กรต่างๆ ยังคงต้องมองหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อจัดการกับความท้าทายเดิมๆ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทางธุรกิจ และระบบอัตโนมัติคือเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านต่างๆ รวมถึงปิดช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลที่ขาดแคลน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะนี้เห็นได้ว่าความตื่นตัวด้านทักษะด้านดิจิทัลกำลังเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในประเทศไทย”

เขากล่าวว่า ระบบไอทีแบบเดิมที่ใช้คนจำนวนมากและทำงานแบบแมนนวล เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการผลิต และกระทบต่อความสามารถของธุรกิจที่จะต้องตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงให้ได้อย่างรวดเร็ว ระบบอัตโนมัติเป็นแนวทางหนึ่งในการเปลี่ยนไปใช้รูปแบบไอทีแบบ “as a service” และ “on-demand” ได้มากขึ้น

แนะบูรณาการใช้เทคโนโลยี

เขมะฑัต วิภาตะวนิช รองคณบดีฝ่ายสื่อสารและพัฒนาดิจิทัล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ความต้องการของตลาดงานในปัจจุบันแยกเป็น 5 ส่วนสำคัญคือ 1. Software Engineering ประกอบด้วยโปรแกรมเมอร์ และ โปรเจคเมเนเจอร์ 2. Networking and Security Engineer และ Networking and Security Manager

ขณะที่ 3. ดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ รวมถึง เวอร์ชวลไลเซชั่น เน็ตเวิร์ค และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4. กลุ่มบริหารจัดการระบบไอทีเดิมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ต้องมีความรู้ด้าน IT Governance, Data Governance, Security Governance และ 5. กลุ่มที่มีความรู้และเข้าใจในการนำซอฟต์แวร์มาใช้ซึ่งอาจไม่ได้จบสาขาเทคโนโลยีโดยตรง

“ในภาพรวมนิสิตนักศึกษาที่จบไปต้องบูรณาการและสร้างสมดุลของตนเองในการใช้เทคโนโลยี มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายที่มีผลกระทบต่อการทำงานและดำเนินชีวิต ไม่สร้างปัญหา รู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเอง ผู้อื่น และหน่วยงาน”

ปัจจุบัน คลาวด์และระบบอัตโนมัติช่วยให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกทักษะได้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ทำให้ตลาดแรงงานได้บุคลากรที่มี “digital mindset” สามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้แบบบูรณาการ

ยกระดับทักษะเพิ่มประสิทธิภาพ

พิเชฐ ศรีวงษ์ญาติดี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับภาคธุรกิจการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงานให้กับพนักงาน (up-skill) และการยกระดับทักษะเดิมของพนักงานให้ดีขึ้น (re-skill) เป็นเรื่องสำคัญ

โดยองค์กรต้องกระตุ้นให้บุคลากรมีความพร้อมและปรับตัวให้ทันตามแผนงานด้านไอทีที่วางไว้ ด้วยเทคโนโลยีจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อบุคลากรเห็นถึงประโยชน์และนำไปใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งานจริงควบคู่กับกระบวนการทำงานเดิม เพื่อเป็นการเรียนรู้ในระหว่างปฏิบัติงาน (learning by doing) จะทำให้บุคลากรเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ทักษะใหม่กับผลลัพธ์ที่ได้

เคทีบีเอสทีนำระบบคลาวด์มาช่วยวางโครงสร้างระบบงานไอทีในด้านการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนระบบอัตโนมัติช่วยต่อยอดในการลดข้อผิดพลาดของบุคคลากร รวมถึงช่วยให้การทำงานร่วมกันดีขึ้น โดยพนักงานมีเวลาจดจ่อกับสิ่งที่สำคัญมากขึ้น แทนการทำในสิ่งเดิมซ้ำๆ 

"เมื่อเทียบกับการทำงานแบบแมนนวล การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการจัดเก็บ ประมวลผลข้อมูล วิเคราะห์ แสดงรายงาน ฯลฯ ช่วยลดเวลาในการดำเนินงานได้ถึง 80% ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายกว่า 30% "