ปตท.รุกเจาะตลาดนิคมฯ หวังขยายฐานลูกค้าแอลเอ็นจี

ปตท.รุกเจาะตลาดนิคมฯ หวังขยายฐานลูกค้าแอลเอ็นจี

ปตท.บุกหาพันธมิตรนิคมอุตสาหกรรม เจาะตลาดขยายฐานลูกค้าก๊าซ LNG รับมือเปิดเสรีการแข่งขัน คาดปีนี้ยอดใช้ก๊าซฯของประเทศโต 5-7% ชี้สัญญาเศรษฐกิจฟื้น การส่งออกดีขึ้น

แม้สถานการณ์โควิด-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาลง แต่พบว่าในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วมีทิศทางตรงกันข้ามหลังความพยายามฉีดวัคซีนเริ่มเห็นผล ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุนมีทิศทางความเคลื่อนไหวอย่างน่าสนใจ  ทำให้ภาคการผลิตในประเทศไทยเองจะได้รับอานิสงค์นี้ด้วย 

วุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.พร้อมเปิดกว้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ทุกรายเพื่อทำตลาด LNG ให้ลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแบบโคเจนเนอเรชั่น ด้วยการให้บริการ Energy Solution Provider เช่น

การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ตามที่ลูกค้าต้องการเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

หลังจากล่าสุด ปตท. ได้เตรียมจัดตั้ง บริษัท ปิ่นทอง เนเชอรัลก๊าซ รีเทลล์ จำกัด (PINTHONG NGR) เพื่อการดำเนินธุรกิจค้าปลีกก๊าซธรรมชาติผ่านระบบท่อขนส่งและจำหน่ายก๊าซฯ รวมทั้งให้บริการ Energy Solution Provider กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 5 จังหวัดชลบุรี ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนและรองรับการลงทุนของลูกค้าอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ

โดยคาดว่าจะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ เริ่มการก่อสร้างได้ในปีหน้า เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 282 ล้านบาท และดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2566

“เบื้องต้น ในนิคมฯปิ่นทอง มีลูกค้าแล้วประมาณ 4-5 ราย คาดว่าในช่วงแรกจะมีความต้องการใช้ก๊าซฯอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 10 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ต้องการใช้ก๊าซฯเพื่อผลิตไอน้ำเป็นส่วนใหญ่ และในจำนวนนี้มีทั้งลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีสัญญาซื้อขายก๊าซประมาณ 5-10ปี และลูกค้ากลุ่มโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแบบโคเจนเนอเรชั่น จะมีสัญญาซื้อขายก๊าซประมาณ 10-15 ปี”

162444652836

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ปตท.จะขยายโครงข่ายลูกค้าให้ครอบคลุมและตอบโจทย์การใช้บริการธุรกิจระยะยาวต่อไป รวมถึงจะมีบริการโซลูชั่นที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวกับนิคมฯปิ่นทอง น่าจะเป็นรายที่ 3 หลังจากที่ ปตท. ได้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซด้วยระบบท่อผ่าน บริษัท ปตท. จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (PTT NGD) และบริษัท อมตะ. จัดจำหน่ายก๊าซ​ธรรมชาติ จำกัด (ANGD) เป็นต้น ส่วนในอนาคตจะมีความร่วมมือในลักษณะนี้กับนิคมฯอื่นๆเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ทางปตท.ยินดีที่จะเปิดกว้างสำหรับพันธมิตรทางการค้าทั่วไป

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท.(บอร์ด ปตท.) เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2564 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) (บริษัทย่อยของ ปตท. ซึ่ง ปตท.ถือหุ้น 100%) จัดตั้งบริษัท ปิ่นทอง เนเชอรัลก๊าซ รีเทลล์ จำกัด (PINTHONG NGR) ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่มของ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด(มหาชน) ด้วยทุนจดทะเบียนไม่เกิน 282 ล้านบาท

สำหรับกรณีบริษัท PTT Global LNG (PTTGL ) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างปตท. และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP)ที่อยู่ระหว่างการยื่นขอเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ (Shipper) รายใหม่ แต่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เนื่องจากยังขาดข้อมูลเพิ่มเติมนั้น ทาง ปตท.อยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อกกพ.พิจารณาให้ครบถ้วน เพื่อให้บริษัทดังกล่าวได้รับการอนุมัติตามหลักเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนดไว้ ซึ่งข้อมูลที่ กกพ.ต้องการเพิ่มเติมนั้น เช่น ดีมานด์ความต้องการใช้ก๊าซฯและปริมาณก๊าซฯที่สอดรับกันเป็นต้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้าของ PTTGL จะเน้นโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก

162444655328

วุฒิกร กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยในปีนี้ คาดว่า จะไม่ต่ำกว่า ปี2562 ที่เป็นความต้องการใช้ก๊าซฯก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีปริมาณการใช้อยู่ที่ ประมาณที่ 4,700-4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยคาดว่า ความต้องการใช้ก๊าซฯปีนี้ จะสูงกว่าปี 2563 ประมาณ 5-7% หรือจากข้อมูลปี 2563 มีการใช้ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 4,300-4,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“ปริมาณการใช้ก๊าซปีนี้ ยังไงก็สูงกว่าปีก่อน และไม่ต่ำกว่าปี 2562 เพราะที่ดูตอนนี้ การใช้ไม่ได้ลดลงแม้จะเกิดโควิด น่าจะสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและที่สำคัญการส่งออกก็ยังขยายตัวได้ดีในปีนี้”

ส่วนแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (Spot LNG ) ปัจจุบัน ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 11-12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นช่วงราคาขาขึ้น และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงช่;งปลายปีตามเทรนด์เข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศที่มักจะมีความต้องการใช้ก๊าซฯสูงขึ้น ดังนั้นจะส่งผลให้ราคา Spot LNG ปรับสูงขึ้นอีก แต่ในส่วนของ ผู้ได้รับใบอนุญาต Shipper รายใหม่ ที่ต้องการนำเข้า LNG ตามแผนที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ก็มีความเป็นไปได้ในแง่ของปริมาณนำเข้า เพราะยังมีช่วงว่างสำหรับการนำเข้าก๊าซในปีนี้ อยู่ที่ประมาณ กว่า 1 ล้านตัน

ก่อนหน้านี้ ปตท. ประเมินว่า ประเทศไทย มีการนำเข้า LNG ในปีนี้ราว 6-6.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณการนำเข้าตามสัญญาระยะยาว 5.2 ล้านตัน ยังคงเหลือปริมาณการนำเข้า LNG อีก 0.8-1.3 ล้านตัน ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ผู้ได้รับใบอนุญาต Shipper แต่ละรายจะนำเข้าได้ ส่วนปริมาณจะเป็นเท่าไหร่นั้น ยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาของภาครัฐด้วย