EEC กับภัยตัวใหม่ โครงสร้างภาษีโลก

EEC กับภัยตัวใหม่  โครงสร้างภาษีโลก

ในที่สุดกลุ่มประเทศผู้นำ G-7 ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และแคนาดา ได้มีการตกลงกันแล้วในข้อเสนอมาตรฐานการเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติของตนเองที่ไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีอัตราภาษีต่ำ แล้วขนกำไรเข้ามา

ในที่สุดกลุ่มประเทศผู้นำ G-7 ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และแคนาดา ได้มีการตกลงกันแล้วในข้อเสนอมาตรฐานการเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติของตนเองที่ไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีอัตราภาษีต่ำ แล้วขนกำไรเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการคุยกันในระดับรัฐมนตรีคลังของกลุ่มนี้มานานกว่า 8 ปี ที่ผ่านมา 

โดยกลุ่ม G-7 มองว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติทั้งหลายนั้นจ่ายภาษีไม่เป็นธรรมให้กับประเทศตนเอง ธุรกิจเหล่านี้มีการประกอบธุรกิจข้ามชาติมักจะจดทะเบียนธุรกิจ ตั้งสำนักงาน หรือสถานประกอบการผลิตในประเทศที่มีอัตราภาษีกำไรของบริษัทในอัตราที่ต่ำ ถือว่าไม่เป็นธรรมกับประเทศ สังคม และผู้ประกอบการหรือธุรกิจที่ลงทุนในประเทศตนเอง ถือว่าการกระทำเยี่ยงนี้เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี

ถ้ามองในบริบทภาพใหญ่แล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายก็ต้องการการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติเหล่า โดยเสนอมาตรการสร้างแรงจูงใจผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ

แม้ว่า ผู้นำกลุ่มประเทศ G-7 จะออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงของความเป็นธรรมทางด้านภาษีที่บริษัทเหล่านี้หลีกเลี่ยง ทำให้ไม่เป็นธรรมกับประชาชนหรือธุรกิจเดียวกันที่ลงทุนทำในประเทศตัวเอง แต่ในความเป็นจริงนั้นเราก็พอมองออกได้ว่า 

ในขณะนี้รัฐบาลประเทศเหล่านี้ต้องการเงินงบประมาณมหาศาล โดยเฉพาะหลังโควิดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 10 ปีที่แล้วนั้น ประเทศเหล่านี้ก่อหนี้สาธารณะสูงมาก และเพิ่มอย่างต่อเนื่อง มีงบประมาณขาดดุลทุกปีและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องหาวิธีสร้างรายได้เพิ่มเพื่อมาปิดหีบงบประมาณ

ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น พบว่าโควิดอยู่กับโลกนานกว่าที่คิด ผู้นำทุกประเทศในช่วงนี้ก็อยากขึ้นภาษีกันทั้งนั้นแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ทุกรัฐบาลเลือกทางที่จะหารายได้มาปิดหีบงบประมาณจากการกู้แทน เพราะน่าจะถูกด่าน้อยกว่าทางออกอื่น ๆ

แต่สำหรับประเทศใหญ่ ๆ ก็พอที่จะหาทางออกได้โดยวิธีอื่น ซึ่งวันนี้ G-7 เล็งไปที่กลุ่มบริษัทข้ามชาติของตนเองที่ไปทำธุรกิจในประเทศที่มีอัตราภาษีกำไรบริษัทในอัตราที่ต่ำ ซึ่งก็พออ้างเหตุผลได้ดูเป็นพระเอกได้ว่าเพื่อความเป็นธรรมทางภาษีและลดการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติและคนรวย และหวังลึก ๆ ว่ามาตรการนี้ก็จะลดความเสียเปรียบของภาระภาษีของบริษัทข้ามชาติที่จะไปลงทุนในต่างประเทศกับในประเทศไม่มีความแตกต่างมากนักกับการลงทุนในประเทศตัวเอง ซึ่งจะเป็นการสร้างงาน และภาษีเพิ่มตามมา มาตรการแบบนี้ อาจเรียกว่าเป็นการกีดกันการลงทุนในต่างประเทศกำลังพัฒนาทางอ้อม (Indirect Barrier to FDI) และผมเชื่อว่า G-7 จะไม่ทำเฉพาะ 7 ประเทศเท่านั้น แต่จะพยายามใช้อิทธิพลต่าง ๆ ในเวทีโลกทุกเวทีสร้างระบบโครงสร้างภาษีให้ออกมาแบบที่เขาต้องการ เพราะหากทำเฉพาะ G-7 รับรองว่าบริษัทข้ามชาติแห่ออกจากประเทศตนเองแน่ ๆ และเป็นก้าวแรกของการกีดกันจีนในเวทีเศรษฐกิจโลก โดยเปลี่ยนกติกาในประเทศอื่น ๆ ให้เดินตามประเทศตะวันตก

แน่นอนครับในกรณีของประเทศไทยนั้นที่ผ่านมากว่า 50 ปี เรายังใช้อัตราภาษีของนิติบุคคลนั้นเป็นตัวจูงใจที่สำคัญให้กับบริษัทที่มาลงทุนในประเทศไทย แม้ว่าระยะหลังหลังเราจะพยยามกำหนดให้การส่งเสริมการลงทุนเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศก็ตาม แต่ปัจจัยสำคัญก็ยังวนอยู่กับการลดอัตราภาษีรายได้ให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งก็เป็นมาตรการที่กลุ่มประเทศคู่แข่งเราในอาเซียนใช้ทุกประเทศ ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นอัตราภาษีนิติบุคคลของ ประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลดลงอย่างมากมากกว่า 40%

เรื่องนี้ EEC ต้องคิดหนัก ๆ รอบด้าน เพราะวางอนาคตส่วนหนึ่งไว้กับการลงทุนของบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ที่จะมาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่นี้ หากภาษีทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่ง EEC ต้องมีหรือสร้างปัจจัยใหม่ ๆ ที่สร้างความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบให้กับนักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายแทน ต้องรอดูผลการศึกษาที่ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการให้คณะกรรมการฯ EEC ไปดูผลกระทบและกลยุทธ์ใหม่ในการที่จะทำให้ EEC ยังคงมีเสน่ห์พอที่จะเป็นบ้านใหม่ของบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตามที่เราหวังไว้