"ด่าน" ประชามติ- รธน.ใหม่ "วินิจฉัยศาล" ขวางฝ่ายค้าน

"ด่าน" ประชามติ- รธน.ใหม่ "วินิจฉัยศาล" ขวางฝ่ายค้าน

ไม่ว่า จะเสนอเรื่อง ให้ทำประชามติออกเสียง เพื่อ รื้อ รัฐธรรมนูญ 60 ทั้งฉบับ ตามกลไกที่ ร่างพ.ร.บ.ประชามติให้อำนาจ แก่ รัฐสภา - ประชาชนเข้าชื่อ 5หมื่น แต่เสียงที่ชี้ขาด จะให้ ผ่าน หรือไม่ ถูกล็อคไว้ที่ เสียง “ข้างมาก” และตอนนี้ คนคุม คือ “รัฐบาล"

      สมาชิกรัฐสภา 618 คนพร้อมใจเห็นชอบให้ “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ...” ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เพื่อหวังจะเป็นเส้นทางที่นำไปสู่การยุติปัญหาในหลายเรื่องด้วยเสียงชี้ขาดของประชาชน โดยเฉพาะ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” ตามที่กลุ่มพรรคฝ่ายค้านพยายามยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านกลไกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.

      หากพิจารณาเนื้อหาที่ “ฝ่ายค้าน” มองให้เป็นประเด็นที่สอดรับกันในร่าง พ.ร.บ.ประชามติ คือมาตรา 9 ที่ปรับแก้ไขให้สิทธิ “รัฐสภา” และ“ประชาชน 50,000 คน” เสนอเรื่อง-ประเด็นให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการออกเสียงประชามติ

      ดังนั้น “พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล” จึงพยายามใช่ช่องทางนี้ ผลักดันทางที่นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดำเนินผ่านการออกเสียงประชามติ ถามความเห็นประชาชนว่าจะยินยอมให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้แทนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หรือไม่

162437740637

      กลไกในทางปฏิบัติสำคัญ คือการเสนอเป็น “ญัตติ” ให้รัฐสภาพิจารณา

      สาระของการพิจารณา​โดยรัฐสภานั้นกำหนดไว้ว่า ต้องให้ทีละสภาเป็นผู้พิจารณา เพราะด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 156 ว่าด้วยการประชุมร่วมของรัฐสภา ไม่ได้กำหนดขอบข่ายของเรื่องนี้ไว้

      สำหรับเสียงเห็นชอบต้องได้รับเป็นเสียงข้างมากจากทั้ง 2 สภา หากสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเห็นด้วย แต่เสียงของวุฒิสมาชิกข้างมากไม่เห็นด้วย เท่ากับว่าญัตติที่เป็นข้อเสนอนั้นไม่เป็นผลในทางปฏิบัติ หมายถึงจะไม่ถูกส่งต่อให้ ครม.รับไปดำเนินการ

      ดังนั้นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญกับช่องทางทำประชามติของฝ่ายค้าน หากนับหัวถัวคะแนนแบบชัดเจนจะเห็นว่าผู้ที่คุมและครองเสียงข้างมากของรัฐสภาคือ “ฝั่งรัฐบาล”

    จึงเชื่อว่าการใช้ช่องทางนี้ เป็นเรื่องยากของพรรคฝ่ายค้านที่จะทำให้สำเร็จ เว้นแต่มีเสียงกดดันจากพลังของมวลชน - กลุ่มการเมือง ภาคประชาชนเป็นตัวช่วยสำคัญ

162437749398

      ขณะที่ ญัตติของพรรคฝ่ายค้านที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นมาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 200 คน ขึ้นสถานะ “ติดธงแดง”

      เพราะดันเข้าบรรจุวาระประชุมรัฐสภาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสัปดาห์นี้ หรือสัปดาห์ไหน หรือสมัยประชุมใด เพราะเนื้อหาเชิงประจักษ์คือ “ขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ 4/2564

      ที่มีเนื้อหาโดยย่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยึดโยงกับมติมหาชน คือจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนดำเนินการ และเมื่อจัดทำแล้วเสร็จต้องออกเสียงประชามติอีกครั้ง

      นอกจากนั้น ยังกำหนดสาระสำคัญ คือการแก้รัฐธรรมนูญต้องกระทำผ่านที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพราะเป็นอำนาจของรัฐสภาโดยเฉพาะ

162437753081

      ดังนั้น ในวันนี้ (23 มิ.ย.) ที่ฝ่ายค้านจะหาช่องทางเพื่อดันญัตติของตัวเองเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง จะมีผู้ยกคำวินิจฉัยนี้ขึ้นมาตอบโต้ และชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ฝ่ายค้านควรทำคือ "ถอนญัตติออกไป”

      เพื่อไม่ให้มีปัญหากับฝ่ายค้านเองในภายหลัง เพราะหากดันทุรังให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติชี้ขาด เสียงข้างมากของรัฐสภาที่ “รัฐบาล”เป็นผู้คุมย่อมชนะในเกมนี้.