ครม.ไฟเขียวกม.เพิ่มความปลอดภัยผู้ใช้ยานพาหนะ ให้ยางล้อสูบลมหล่อดอกซ้ำ บัส-พ่วง ต้องผ่าน มอก.

ครม.ไฟเขียวกม.เพิ่มความปลอดภัยผู้ใช้ยานพาหนะ ให้ยางล้อสูบลมหล่อดอกซ้ำ บัส-พ่วง ต้องผ่าน มอก.

​ครม.อนุมัติกฎหมายเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ยานพาหนะ กำหนดให้ยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ รถบัส-รถพ่วง ต้องผ่านมาตรฐาน มอก. สอดคล้องกับข้อกำหนดสากล

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เนื่องจากปัจจุบันได้มีการนำยางล้อแบบสูบลมของรถบัส รถบรรทุก หรือรถพ่วง ซึ่งเป็นยางเก่าผ่านการใช้งานมานานและดอกยางสึกเสื่อมสภาพ นำกลับมาหล่อดอกยางใหม่แล้ววางขายในท้องตลาดจำนวนมาก และมีราคาถูกกว่ายางใหม่ แต่ยางหล่อดอกซ้ำเหล่านี้ไม่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพและผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

ดังนั้น ครม.จึงอนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ  เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ของสหประชาชาติ (UN Regulation No. 109) และส่งเสริมให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ซึ่งร่างกฎกระทรวงมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2979 - 2562 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5471 พ.ศ.2562 โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ายางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับเชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง จะต้องได้รับใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้า ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายสินค้าที่ได้รับใบอนุญาตและมีการแสดงเครื่องหมายมาตรฐานถูกต้องครบถ้วน

ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ สมอ. (www.tisi.go.th) และแจ้งไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ร่วมแสดงความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว เช่น  สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย กรมการขนส่งทางบก สถาบันยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวม 140 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวง

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่จะได้รับ เมื่อร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ คือ 1) เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และป้องกันการนำยางล้อหล่อดอกซ้ำที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ 2) เป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานรับรอง และคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค