7 แอร์ไลน์ลุ้นซอฟท์โลนอุ้มจ้างงาน 1.6 หมื่นคน ชงลดวงเงิน 50% พยุงธุรกิจครึ่งปีหลัง

7 แอร์ไลน์ลุ้นซอฟท์โลนอุ้มจ้างงาน 1.6 หมื่นคน ชงลดวงเงิน 50% พยุงธุรกิจครึ่งปีหลัง

หลังจากตัวแทนของสายการบินในไทย 7 สาย ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ นกแอร์ ไทยสมายล์ ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท ได้หารือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) รวมถึงกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม

เพื่อเจรจาขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ “ซอฟท์โลน” นำมาเสริมสภาพคล่องแก่ทั้ง 7 สายการบินหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ซัดอ่วมมานานร่วม 1 ปีครึ่ง!

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย เปิดเผยว่า ล่าสุดได้มีการปรับลดวงเงินซอฟท์โลนจากก่อนหน้านี้ที่เคยยื่นขอ 1.4 หมื่นล้านบาท สำหรับระยะเวลา 12 เดือนตลอดปี 2564 โดยปรับลดวงเงินลงประมาณ “ครึ่งหนึ่ง” ตามระยะเวลาที่ต้องการใช้ซอฟท์โลนซึ่งปรับลดลงเป็น 6 เดือนหลังของปีนี้หรือตั้งแต่ ก.ค.-ธ.ค.2564 อย่างไรก็ตามยังต้องรอสรุปตัวเลขวงเงินใหม่อย่างเป็นทางการ

“ส่วนที่มาของซอฟท์โลน สรุปแล้วจะเป็นของเอ็กซิมแบงก์หรือสำนักงานประกันสังคมนั้น อยู่ที่ภาครัฐจะพิจารณาว่าเป็นเงินจากช่องทางไหนถึงจะเหมาะสมกับการปล่อยกู้ให้แก่ 7 สายการบินมากที่สุด ทั้งนี้ต้องรอทางเอ็กซิมแบงก์ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมพิจารณาอีกที เพราะทางสมาคมฯได้ให้ข้อมูลแก่ภาครัฐไปหมดแล้ว โดยยังไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่ให้ซอฟท์โลนแก่ 7 สายการบิน ทำให้เรายังมีความหวังอยู่ว่าจะได้ซอฟท์โลนภายในปีนี้”

และหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ตั้งเป้า “เปิดประเทศ” ทั้งประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน! มองว่าถ้าหากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน ช่วยกันระมัดระวังอย่างดี ดูแลและปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็นและไม่มีข้อติดขัด หรือควบคุมให้เป็นไปตามแผนเปิดประเทศได้ สมาคมฯเชื่อว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวน่าจะกระเตื้องดีขึ้น

“หลังได้รับฟังข้อมูลจากคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทราบว่ามีตัวเลขดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติวางแผนจะมาท่องเที่ยวไทยจริง ทั้งนี้อยู่ที่มาตรการของประเทศไทยว่าจะสามารถกำกับควบคุมดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขนาดไหน โดยต้องเดินหน้ากระจายวัคซีนแก่คนไทยตามแผนควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ ซึ่งน่าจะเกิดผลที่ดีแก่ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่สายการบิน แต่รวมถึงโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ในซัพพลายเชน” พุฒิพงศ์กล่าว

แหล่งข่าวจากสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวเสริมว่า จากการหารือกับเอ็กซิมแบงก์ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมเพื่อขอซอฟท์โลนแก่ 7 สายการบิน ถือว่าเป็นความคืบหน้ามากที่สุดนับตั้งแต่ยื่นเรื่องขอซอฟท์โลนจากภาครัฐมาพยุงธุรกิจสายการบินเมื่อปลายเดือน มี.ค.2563 โดยเห็นความเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากมีกระทรวงแรงงานเข้ามาร่วมหารือด้วย เพราะจุดประสงค์หลักในการขอซอฟท์โลนคือ “มุ่งรักษาสภาพการจ้างงาน” ในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้ซึ่งปัจจุบันทั้ง 7 สายการบินมีพนักงานรวม 15,970 คน หวังผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้!

หลังธุรกิจสายการบินเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ดี จากปัจจัยคนไทยน่าจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 50 ล้านคนตามเป้าหมายในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศทั้งประเทศภายใน 120 วันของนายกฯ นำร่องด้วยโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ซึ่งใกล้ถึงกำหนดเริ่ม 1 ก.ค.นี้ ด้วยการเปิดเมืองภูเก็ตนำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วให้ท่องเที่ยวอยู่ในภูเก็ตแบบไม่กักตัว อย่างน้อย 14 คืนก่อนออกเดินทางไปเที่ยวพื้นที่อื่นในไทย

โดยคาดว่า “เที่ยวบินระหว่างประเทศ” จะเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 นี้ แต่ยังคงมีปริมาณจำกัด นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาจะเป็นตลาดระยะไกล เช่น ยุโรป และอเมริกามากกว่า ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2565 น่าจะเห็นการฟื้นตัวของเที่ยวบินระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยอยากให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจากับรัฐบาลประเทศเป้าหมายเพื่อทำ “ทราเวล บับเบิล” แลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกันแบบไม่ต้องกักตัว

“ระหว่างนี้ทางเอ็กซิมแบงก์เองก็น่าจะหารือกับกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมเพื่อดูเรื่องของขั้นตอน กฎระเบียบการปล่อยกู้ เงื่อนไขการปล่อยกู้ และสรุปช่องทางที่จะให้เงินทุนมาพยุงการจ้างงานแก่ 7 สายการบิน ส่วนตัวเลขซอฟท์โลนวงเงินใหม่ที่แต่ละสายการบินต้องการในช่วง 6 เดือนหลังนั้น ได้ทำสรุปยื่นเสนอให้ทางภาครัฐทั้ง 3 หน่วยงานพิจารณาแล้ว โดยลดลงจากเดิมเมื่อเทียบกับที่เคยยื่นเรื่องถึงกระทรวงการคลังไปก่อนหน้านี้ที่วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผ่านไปแล้ว 6 เดือนแรกของปียังไม่ได้รับซอฟท์โลน จึงเสนอขอนำซอฟท์โลนมาใช้ในช่วง 6 เดือนหลังได้หรือไม่เพื่อพยุงการจ้างงาน” แหล่งข่าวกล่าว

ด้าน ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า แม้แนวโน้มการเจรจาขอซอฟท์โลนจะค่อนข้างดี แต่รัฐบาลก็ยัง “แบ่งรับแบ่งสู้” อยู่ ยังไม่ได้ฟันธงว่าจะให้ซอฟท์โลนหรือไม่ แต่ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่ได้ปฏิเสธ ทาง 7 สายการบินก็ยังมีความหวังอยู่!

“ตอนนี้ทั้ง 7 สายการบินต่างก็เหนื่อยกันหมด หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยหน่วยงานภาครัฐกำลังดูอยู่ว่าการปล่อยกู้ซอฟท์โลนแก่ 7 สายการบิน สามารถดึงเงินทุนจากหน่วยงานไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด โดยวงเงินซอฟท์โลนที่เคยยื่นขอไป 1.4 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ปรับลดวงเงินขอไปมากแล้ว”

ธรรศพลฐ์ กล่าวถึงนโยบายเปิดประเทศไทยทั้งประเทศภายใน 120 วันของนายกฯด้วยว่า เป็นนโยบายที่ “มาถูกทาง” แล้ว! เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ แต่ต้องเป็นการเปิดประเทศอย่างรอบคอบที่สุด ควบคู่กับการเร่งระดมฉีดวัคซีนแก่คนไทยให้ได้ตามเกณฑ์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว ก่อนที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในหลายๆ พื้นที่

“แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในช่วงแรกอาจจะยังมีไม่ค่อยมากนัก แต่ถ้าไม่เดินหน้าเปิดประเทศสักที ก็จะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา โดยมองว่าในช่วงเริ่มต้นของการเปิดประเทศย่อมมีอุปสรรคอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยภายใน 120 วันนับตั้งแต่นายกฯออกแถลงการณ์ ก็จะได้เตรียมการอย่างรอบด้านเพื่อรอแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นข้างหน้า”