‘สมคิด’ เตือนโควิดลากยาว  แนะรัฐ-เอกชน คิดใหม่ ฝ่าวิกฤติ

‘สมคิด’ เตือนโควิดลากยาว   แนะรัฐ-เอกชน คิดใหม่ ฝ่าวิกฤติ

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนากรัฐมนตรี และแม่ทัพครม.เศรษฐกิจ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ออกโรงเตือนวิกฤติโควิดลากยาว ฉุดเศรษฐกิจ ธุรกิจเสียหายหนัก แนะรัฐ เอกชน จะอยู่รอด พลิกสูตรคิด ดึงเทคโนโลยี ออนไลน์ ยกระดับซัพพลายเชนแกร่ง คว้าชัยการค้า

กว่า 1 ปี ที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลให้การจัดมหกรรมจำหน่ายสินค้าประจำปีอย่างงาน “สหกรุ๊ปแฟร์” ของเครือสหพัฒน์ผ่านออนกราวด์ไม่สามารถทำได้ ต้องยกไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แทน ซึ่งปี 2564 เป็นครั้งที่ 2 ของการจัดงาน “สหกรุ๊ปแฟร์ ออนไลน์” และเป็นครั้งที่ 25 ของงานสหกรุ๊ปแฟร์ 

ในการแถลงจัดงานดังกล่าว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ได้บรรยายผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ธุรกิจการค้าขายแทบหยุดชะงัก ผู้คนจำนวนมากตกงาน ประชาชนโดยรวมได้รับความเดือดร้อน 

ทั้งนี้ การจะผ่านห้วงเวลาที่ยากลำบากได้ และโลกเข้าสู่สภาวะปกติได้ มีเพียงหนทางเดียวคือการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมถึงการเร่งพัฒนาวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับการต้านไวรัสที่กำลังกลายพันธุ์ยิ่งขึ้น 

“เดิมคาดการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะกินเวลาไม่นานก็จะเข้าสู่ภาวะสงบ แต่ปัจจุบันเกือบ 2 ปีที่แล้วคนทั้งโลกอยู่กับโรคระบาดและคาดว่าจะอยู่กับเราไปอีกพอสมควร” 

++หมดยุคทองโกยนักท่องเที่ยวเชิงปริมาณ 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมาก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวหลายสิบล้านคนมาเยือนจุดหมายปลายทางต่างๆ แต่โรคโควิด-19 ทำให้จากนี้ไปการหวังตัวเลขนักเดินทางจำนวนมากเกิดขึ้นได้ยาก เพราะประชาชนราวครึ่งโลก อาจยังไม่มีโอกาสได้รับวัคซีน หรือได้รับการฉีดวัคซีนล่าช้า รวมถึงปัจจัยของไวรัสที่กลายพันธุ์ จะส่งผลให้ประชากรโลกหวาดกลัวยิ่งขึ้น

ขณะที่เทคโนโลยี เข้ามามีบทบาททั้งการทำงาน ประชุม สัมมนาฯ ทำให้การเดินทางลดลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในกลุ่มการประชุม สัมมนา จัดนิทรรศการ และท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล หรืออุตสาหกรรมไมซ์ รวมถึงธุรกิจสายการบิน นักธุรกิจที่เดินทางบ่อยเพื่อเจรจาการค้าจะหดตัว มีผลต่อบริการชั้นธุรกิจหรือบิสสิเนสคลาส เป็นต้น  

ดังนั้น หากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต้องการยืนหยัดต่อ ต้องปรับตัวเจาะนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น ดูแลด้านสาธารณสุข ความปลอดภัยจากไวรัส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักเดินทางมากขึ้นเมื่อมาเยือนประเทศไทย นำไปสู่การช่วยให้ธุรกิจพลิกทำกำไรได้ด้วย 

“ธุรกิจท่องเที่ยวต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง ยกระดับการท่องเที่ยว เพิ่มคุณภาพการบริการ เลือกเป้าหมายนักเดินทางที่จะมาไทย เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ให้คนไทยในอนาคต”  

++ธุรกิจคิดใหม่ ทางรอดพ้นวิกฤติ

นายสมคิด กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มไวรัสระบาดที่จะคงอยู่กับทั้งโลกอีกระยะใหญ่ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคม เกิดวิถีปกติใหม่(New Normal) พฤติกรรมผู้บริโภคตระหนักเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพมาก่อน ระแวงการติดเชื้อโรคง่าย หลีกเลี่ยงเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ไม่ไปสถานที่เป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เน้นอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ขาดรายได้ บางรายอาจล้มละลาย 

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ธุรกิจโดนดิสรัป และยืนหยัดอยู่รอดได้ ต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง สร้างการเติบโตและชนะคู่แข่ง จาก 2 ปัจจัย 1.บริษัทต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง พัฒนาสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้ 2.การสร้างความแตกต่างให้ลูกค้าต้องมีต้นทุนต่ำสุด ประสิทธิภาพสูงสุด 

นอกจากนี้ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการจัดเก็บและนำข้อมูล รวมถึงเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำการค้ารอบด้าน ทั้งการเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงลึกหรืออินไซต์ การผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการของผู้บริโภค ฯ ไม่เช่นนั้นบริษัทอาจถูกกลืนโดยยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น อเมซอน อาลีบาบา  

++แนะรัฐ-เอกชน ตระหนักออนไลน์ ซัพพลาย 

ปัจจุบันเทคโนโลยี ดิจิทัลมีบทบาทต่อธุรกิจและผู้บริโภค ช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์มียอดขายเติบโตขึ้นเป็น 100% ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการต้องจริงจังกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เพราะไม่เพียงเป็นช่องทางสร้างการเติบโตยอดขาย และยังสร้างโอกาสใหม่ๆทางการค้าอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อดีตค้าปลีกมีอำนาจต่อรองสูงสุด เพราะผู้บริโภคต้องไปซื้อสินค้าหน้าร้าน แต่โควิด-19 ทำให้คนไม่เข้าห้างค้าปลีก ช้อปออนไลน์แทน หากโรคระบาดไม่คลี่คลาย ผู้ประกอบการค้าปลีก และสินค้าอื่นต้องตระหนักในการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นของตัวเอง ถือเป็นหัวใจของการทำธุรกิจในยุคนี้ 

“ธุรกิจต้องตื่นตัว ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร ค้าขายกับผู้บริโภคโดยตรง ใช้เป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ลูกค้า เจาะอินไซต์ ซึ่งจะทำให้แบรนด์รู้ว่าอนาคตลูกค้าต้องการอะไร แล้วสร้างกลยุทธ์การตลาดสื่อตรงกับกลุ่มเป้าหมาย”  

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การจัดการคลังสินค้า ระบบโลจิสติกส์ ไปจนถึงป้อนสินค้าถึงมือผู้บริโภค โดยหาแนวร่วมทั้งผนึกพันธมิตรเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง จะเอื้อให้ธุรกิจประสบชัยชนะได้

“ท่ามกลางวิกฤติเราต้องไม่ยอมแพ้  และเป็นจุดเริ่มที่ประชาชน เอกชน รัฐบาล ต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงจากโรคระบาด การขับเคลื่อนธุรกิจต้องมุ่งสุ่ดิจิทัล การบริหารจัดการซัพพพลาายเชน ต้องเป็นผู้นำด้านต้นทุนที่มีประสิทธิภาพหรือ Cost leadership ขณะที่เครือสหพัฒน์ จัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ออนไลน์ ถือเป็นเอกชนตัวอย่างตระหนักเรื่องเหล่านี้”