สธ.ขยับฉีดเข็ม2'วัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้า'เร็วขึ้นในพื้นที่ระบาด

สธ.ขยับฉีดเข็ม2'วัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้า'เร็วขึ้นในพื้นที่ระบาด

สธ.ขยับฉีด'วัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้างเข็ม 2 เร็วขึ้นเป็น 8 สัปดาห์  ขณะที่ 1 สัปดาห์โควิด-19 พันธุ์เดลตาพบเพิ่มขึ้น 168 ราย  รวม 1 เดือนสะสม 661 ราย ส่วนพันธุ์เบตายังอยู่เฉพาะในภาคใต้เชื่อมโยงคลัสเตอร์ในยะลา  เร่งตรวจสายพันธุ์ใน 10 จังหวัด

          เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2564  นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สธ.ได้จัดสรรวัคซีนกระจายไปยังพื้นที่แล้วรวม 8.5 ล้านโดส ตามแผนที่ ศบค. กำหนด เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 21 มิถุนายน 2564 ฉีดวัคซีนแล้วรวม 7,906,696 โดส เป็นเข็ม 1 จำนวน 5,678,848 โดส และเข็ม 2 จำนวน 2,227,848 โดส  เป็นวัคซีนซิโนแวครวม 5,550,891 โดส และแอสตร้าเซนเนก้ารวม 2,355,805 โดส

          สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มีมติ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 กำหนดระยะห่างของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และสามารถขยายได้ถึง 16 สัปดาห์ในกรณีที่จำเป็น สอดคล้องกับข้อมูลของประเทศอังกฤษที่มีการศึกษาว่าขยายได้ถึง 16 สัปดาห์ในระยะแรกของการรณรงค์ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์เดลตา โดยมอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/ กทม. บริหารจัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม

       “ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าสายพันธุ์เดลตา มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงเห็นชอบให้พื้นที่ที่มีการระบาด สามารถปรับระยะเวลาการฉีด เข็มที่ 2 ให้เร็วขึ้นจากปกติที่นัดห่างจากเข็มแรก 10-12 สัปดาห์เป็น 8 สัปดาห์”นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

162435575641
 เดลตาเพิ่มขึ้น 168 ราย  
     วันเดียวกัน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์ได้เก็บตัวอย่างเชื้อโควิดทั่วประเทศเพื่อตรวจหาสายพันธุ์ โดยตั้งแต่ 1 เม.ย.- 20 มิ.ย. ตรวจสายพันธุ์กว่า 6,000 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 5,641 ราย คิดเป็น 88.97% สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) พบ 661 ราย  โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สายพันธุ์เดลตาพบเพิ่ม 168 ราย ทำให้มีสัดส่วนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จาก 9% เป็น 10.43% ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) พบ 31 ราย โดยพบเพิ่มขึ้น 7 ราย คิดเป็น  0.6%

         สำหรับสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) พบเพิ่ม 168 รายนั้น พบมากสุดในเขตสุขภาพที่ 13 หรือ พื้นที่กทม. รายใหม่ 87 ราย จากเดิม 404 ราย สะสมอยู่ที่  491 ราย เขตสุขภาพที่ 1 พบ 2 คน ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้รับเหมาที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เขตสุขภาพที่ 4 พบ 65 ราย จากแคมป์คนงานนนทบุรี 63 ราย และปทุมธานี 2 ราย, เขตสุขภาพที่ 5 พบ 1 ราย ที่ จ.นครปฐม , เขตสุขภาพที่ 8 พบ 10 ราย ที่จ.อุดรธานี 2 ราย สกลนคร 4 ราย เลย 2 ราย หนองคาย 2 ราย, เขตสุขภาพที่ 9 พบ 3 ราย ที่ จ.นครราชสีมา 2 ราย ชัยภูมิ 1 ราย

       ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) พบเพิ่ม 7 ราย อยู่ที่ จ.ยะลา 1 ราย ปัตตานี 4 รายสัมพันธ์กับชุมชนในยะลา และภูเก็ต 2 ราย ซึ่งเป็นนักเรียนที่กลับจากโรงเรียนสอนศาสนาในศูนย์มัรกัสยะลา ซึ่งเป็นเชื้อจากนอกพื้นที่ภูเก็ตและขณะนี้อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่แล้ว เชื่อว่าหากพ้นระยะ14 วันแล้วไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม คาดว่าในภูเก็ตกรณีสายพันธุ์เบต้าน่าจะจบ ทั้งนี้ กรณีขณะนี้ผ่านมา 6-7 วันแล้ว ซึ่งกรณีขอทำความเข้าใจว่า นักเรียนที่ศูนย์มัรกัสยะลา พบว่าติดเชื้อ กว่า 500 รายนั้น ไม่ได้เป็นสายพันธุ์เบตาทั้งหมด ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา และที่มีข่าวว่านักเรียนเดินทางกลับบ้านไปมากกว่า 10 จังหวัดนั้น ซึ่งกรมวิทย์ฯ ได้ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดที่เด็กกลับบ้าน ส่งตัวอย่างมาให้กรมฯ ตรวจหาสายพันธุ์แล้ว รวมถึงขณะนี้กำลังมีการถอดรหัสไวรัสเบตาทั้งตัวที่พบในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อดูสายตระกูลว่าสัมพันธุ์กับเชื้อที่ไหน แต่จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบว่านักเรียนและครูสอนในศูนย์มีมาจากจ.นราธิวาสด้วย

     “ โดยสรุปสายพันธุ์เดลตาเริ่มมีสัดส่วนมากขึ้น สายพันธุ์เบตาเพิ่มจำนวนขึ้นและออกนอกจ.นราธิวาส แต่ยังอยู่เฉพาะในภาคใต้ ยังแพร่ระบาดไม่มาก และความจริงเราก็พบสายพันธุ์เบตา ก่อนสายพันธุ์เดลตาด้วยซ้ำ แต่สายพันธุ์เบตาเพิ่มจำนวนไม่เร็ว ไม่น่าวิตก และเก็ควบคุมได้เร็ว ตอนนี้พบ 1% ขณะที่สายพันธุ์เดลตา พบเพิ่มขึ้น 10 %ในระยะเวลา 1 เดือน”นพ.ศุภกิจกล่าว 

 แอสตร้าฯ 2 เข็มเอาเดลตาอยู่

        ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีการศึกษาสายพันธุ์เดลตาในสก๊อตแลนด์ ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ตัวลดลงประมาณ 10%  ซึ่งยังป้องกันได้ แต่ประสิทธิภาพลดลง ในส่วนของไฟเซอร์เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม ป้องกันได้ 79%  วัคซีนแอสตร้าฯที่ให้ 2 เข็ม  ป้องกันได้ 60%  จากเดิมเกือบ 90%

     “ภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าจะป้องกันเดลตาไม่ได้ ไม่ว่าไฟเซอร์หรือแอสตร้าฯ หากฉีดเข็มเดียว ระดับภูมิฯที่สูงไม่เพียงพอ ประสิทธิภาพป้องกันโรคก็จะลดลงเหลือ 20-30% ของวัคซีนทั้ง 2 ตัว แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันที่ต้องการใช้ต้องได้ปริมาณสูง ประเทศไทยจึงต้องชะลอการระบาดของเดลตาให้มากที่สุด เมื่อรู้ว่าติดง่ายในชุมชน ในแรงงาน จึงต้องช่วยกันทั้งหมด และจะมีการปรับกลยุทธ์แผนการให้วัคซีนด้วย”ศ.นพ.ยง กล่าว
      ศ.นพ.ยง กล่าวถึงนโยบายการเปิดประเทศใน 120 วัน ว่า ถ้าถามว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ในประเทศตอนนี้หรือไม่นั้น คงตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน ถ้าช่วยกันจริงๆ แล้วสมมุติว่าช่วยกันควบคุมโรคนี้ให้ได้ มีอัตรการติดเชื้อหลักหน่วยหรือหลักสิบรายต่อวัน แล้วไม่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น หรือเสียชีวิตแค่วันละคน 2 คน หรือ 3 คน ถึงเวลานั้นก็คิดว่าเป็นไปได้ที่จะเปิดประเทศได้ แต่ถ้ายังมีผู้ป่วยหลักพันคน ถึงเปิดประเทศได้ก็เชื่อว่าไม่มีใครมา เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่ช่วยกันควบคุมการระบาดของโรคนี้ให้ได้เร็วที่สุด