4 กูรูเศรษฐศาสตร์ จับตา กนง.หั่น ‘จีดีพี’ปี 64 ต่ำ2%

4 กูรูเศรษฐศาสตร์ จับตา กนง.หั่น ‘จีดีพี’ปี 64 ต่ำ2%

จับตาประชุมกนง.นักที่4วันพุธนี้ ด้าน4นักเศรษฐศาสตร์คาด มีโอกาสเห็น กนง.คงดอกเบี้ยยาวถึงปี66 พร้อมหั่นจีดีพีไทยต่ำ2% จากผลกระทบโควิดระลอก3

      จากวิกฤติไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระลอก 3 ถือว่าสร้างความไม่แน่นอน ให้กับ “เศรษฐกิจไทย”ต่อเนื่อง ทำให้การคาดการณ์ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีปีนี้ คาดการณ์ได้ยากขึ้น

      รวมไปถึงการใช้ “นโยบายการเงิน” ที่อาจใช้เครื่องมือแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป และหันไปสู่ เครื่องมือที่แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
       ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือกนง. ครั้งที่ 4ของปี 2564 ในวันพุธที่ 23มิ.ย. นี้ก็ถือเป็นอีกนัดสำคัญ ที่ตลาด และนักลงทุน “ติดตาม”มาก เพราะไม่ใช่แค่ลุ้นว่ากนง.จะปรับ “ดอกเบี้ย”หรือไม่ แต่ยังรวมไปถึงการปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปีนี้จาก ผลกระทบโควิด ระลอก 3 ด้วย จากเดิมที่คาดขยายตัว 3%

     อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า คาดการณ์การประชุมกนง.ครั้งนี้ กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยยาวที่ 0.50% ยาวไปถึงปี 2566 เพราะครั้งนี้ ธปท.ดูเหมือนมีความอดทนสูงขึ้น แม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น บวกกับต่างประเทศที่มีทิศทางปรับนโยบายการเงินหรือดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
      ดังนั้นเชื่อว่าธปท.น่าจะยืดการขึ้นดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด และไม่ลงดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2566 เพื่อรอเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจน
        อีกทั้ง ดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือเดียวในการดูแลเศรษฐกิจ แต่สามารถใช้เครื่องมืออื่นๆเพื่อดูแลปัญหาทางการเงินให้ตรงจุดมากกว่า มากกว่าหว่านแหด้วยการลดดอกเบี้ย
        ส่วนการคาดการณ์จีดีพี คาดมีโอกาสเห็นธปท.ปรับจีดีพีต่ำกว่า 2% ได้ เพราะการระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อกว่าคาด การบริโภคอ่อนแอ

       แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบั้นการเงิน(FIDF) ว่าจะมีการหั่นเงินนำส่งลดลงอีกหรือไม่จากปัจจุบันที่เหลือ 0.23% เพื่อเป็นแรงส่งให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยลดภาระผู้ประกอบการและครัวเรือนในระยะข้างหน้า

        นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย).กล่าวว่า คาดการณ์กนง.จะยังคงดอกเบี้ยเป็นเอกฉันท์ในการประชุมครั้งนี้ที่ 0.50% และปรับจีดีพีมาใกล้เคียงที่ธนาคารมองที่ราว 1.8%ได้ เพราะเชื่อว่าธปท. น่าจะติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจหลังจากนี้ ภายใต้โควิด-19

         รวมถึงการฉีดวัคซีน การกระจายวัคซีน ภายใต้กำหนดเปิดประเทศในไม่ถึง 120วันข้างหน้านี้ รวมถึงการเปิดภูเก็ตรับนักท่องเที่ยว และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินรอบใหม่ของภาครัฐ
        ดังนั้น เชื่อว่า ธปท.น่าจะนิ่งๆเพื่อรอดูสถานการณ์ 3-4 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปได้ก็เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเป็นลำดับ
         แต่หากไม่ดีขึ้น ปลายปี หรือไตรมาส 4 ธปท.จะเจอแรงกดดันมากขึ้น จากธนาคารกลางอื่นๆที่เริ่มพูดถึงการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น
         ดังนั้นหากประเทศไทยปรับนโยบายการเงินตามประเทศอื่นๆไม่ทัน อาจทำให้เกิดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และมีผลกระทบมาสู่ตลาดเงินตลาดทุนให้ผันผวน และเงินทุนไหนออกในระยะข้างหน้าได้ จากโลกที่กำลังปรับนโยบายไปสู่ดอกเบี้ยขาขึ้น

       นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ คาดกนง.คงคงดอกเบี้ยตลอดทั้งปีนี้ที่ 0.50% เพราะน้ำหนักขณะนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดอกเบี้ย แต่ขึ้นอยู่กับการใช้นโยบายการเงินให้ตรงจุดมากกว่า อีกทั้งหากปรับดอกเบี้ยลง อาจกระทบต่อผู้ฝากเงินได้

      ขณะเดียวกันมองว่า ธปท.ยังเหลือเครื่องมือที่สามารถทำได้ คือการลดเงินนำส่ง FIDF แม้จะไม่มีโอกาสเห็นลดเหมือนรอบแรกที่ 0.23% แต่การลด FIDF ก็มีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนให้กับระบบการเงินได้ ส่วนคาดการณ์เศรษฐกิจมีโอกาสที่จะเห็นธปท.ปรับจีดีพีมาใกล้เคียงธนาคารที่ประเมินไว้ 1.5-1.6%
       นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า คาดกนง.น่าจะคงดอกเบี้ย 0.5% ต่อเนื่อง เพราะประเด็นคงไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ย
        แต่ปัญหาวันนี้คือการส่งผ่านสภาพคล่องไปสู่คนที่ต้องการเงินทำได้ช้า ดังนั้นการปรับปรุงการส่งผ่านนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
         “วันนี้เราเห็นคนเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ ต่อให้ลดดอกเบี้ยไปคงไม่มีประโยชน์ ดังนั้นกนง.น่าจะไปพูดเครื่องมืออื่นๆมากกว่า เช่นนโยบายที่ออกมาแล้ว ผ่านสินเชื่อฟื้นฟู และAsset Warehousing หรือโกดังเก็บหนี้ หากเครื่องมือเหล่านี้ยังไม่ได้ผล ธปท.ก็อาจต้องไปดูว่าสามารถปรับปรุงเพิ่มตรงไหนได้บ้างให้เครื่องมือช่วยตรงจุดได้มากขึ้น”
           ส่วนการคาดการณ์จีดีพีปีนี้ กรุงศรียังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสโตได้ 2% ดังนั้นก็มีโอกาสที่การปรับจีดีพีของธปท.รอบนี้จะใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ได้ เพราะหากยังมีการฉีดวัคซีนระดับ 2.5 แสนโดสต่อวัน หรือได้ 55 ล้านโดสในปีนี้ ก็มีโอกาสที่จะเริ่มเห็นกิจกรรมเศรษฐกิจกลับฟื้นได้มากขึ้น