ราคาน้ำมันดิบระยะสั้นทรงตัวระดับสูง หลังการใช้มีแนวโน้มฟื้นตัว

ราคาน้ำมันดิบระยะสั้นทรงตัวระดับสูง หลังการใช้มีแนวโน้มฟื้นตัว

ไทยออยล์ ประเมิน ราคาน้ำมันดิบระยะสั้นทรงตัวระดับสูง หลังการใช้มีแนวโน้มฟื้นตัว จากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกลดลงต่อเนื่อง คาด เวสต์เท็กซัส อยู่ในกรอบ 68-73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ อยู่ในกรอบ 70-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 21 – 25 มิ.ย. 64 โดยแนวโน้มราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง หลังความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 16.1% ของประชากรโลก

นอกจากนี้ อุปสงค์น้ำมันได้รับแรงหนุนจากตัวเลขผู้ใช้รถใช้ถนนในสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรปฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่จะคงอัตราดอกเบี้ยต่ำจนถึงปี 2567

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 68-73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • ราคาน้ำมันดิบมีทิศทางทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลกจากรายงานขององค์การอนามัยโลกล่าสุด ณ วันที่ 16 มิ.ย. 64 อยู่ที่ระดับประมาณสามแสนรายซึ่งปรับลดลงมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดที่ระดับประมาณ 8 แสนรายในเดือน เม.ย. - พ.ค. ที่ผ่านมา

162424445487

  • ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากรายงานของ Bloomberg ณ วันที่ 16 มิ.ย. 64 ระบุว่า มีการฉีดวัคซีนมากกว่า 2.47 พันล้านโดส ใน 180 ประเทศ ซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณเฉลี่ย 35.7 ล้านโดสต่อวัน หรือคิดเป็น 16.1% ของจำนวนประชากรโลกที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งคาดการณ์ว่าอีก 8 เดือนข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้ฉีดวัคซีนที่ระดับ 75% ซึ่งจะทำให้ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ หรือสถานการณ์ที่สัดส่วนของประชากรมีภูมิคุ้มกันมากพอจนเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจาย หรือถูกส่งผ่านไปยังคนอื่นๆ ได้
  • อุปสงค์น้ำมันได้รับแรงหนุนจากตัวเลขผู้ใช้รถใช้ถนนในสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรปฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง นอกจากนี้องค์การพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในรายงานประจำเดือน มิ.ย. 64 จะสามารถกลับไปสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดได้ในไตรมาส 4/65 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ในรายงานฉบับก่อนหน้าที่ปี 2566
  •  การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านและ 6 ประเทศมหาอำนาจยังคงไม่มีความคืบหน้า และช้ากว่ากำหนดการเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะบรรลุข้อตกลงให้ได้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านในวันที่ 18 มิ.ย. 64 ส่งผลให้อุปทานจากอิหร่านมีแนวโน้มกลับมาช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือน เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 มิ.ย. 64 ปรับตัวลดลง 7.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.3 ล้านบาร์เรล
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงขึ้นจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่ม 6 แท่น สู่ 365 แท่นในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้นสู่ 7.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 64 แตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.00 – 0.25% จนถึงปี 2565 พร้อมทั้งยังคงมาตรการในการซื้อสินทรัพย์ตามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน นอกจากนี้ เฟดปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีสหรัฐฯ ปี 2564 เป็น 7.5% จากระดับเดิมที่ 6.5% อย่างไรก็ตาม เฟดเริ่มมีการส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่จะคงอัตราดอกเบี้ยต่ำไปจนถึงปี 2567
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การตัดสินใจประกาศอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางจีน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตยูโรโซน (PMI) เดือน มิ.ย. 64 และการประชุมคณะมนตรีสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 14 – 18 มิ.ย. 64 พบว่า   ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.51 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 71.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก

นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือน เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย. 64 ตามคาด แต่เริ่มส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่ได้ส่งสัญญาณในเดือน มี.ค. 64 ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยต่ำไปจนถึงปี 2567