'ปลดล็อก' วัคซีนเปิดประเทศ - '200 ซีอีโอ' จี้รัฐลดเงื่อนไขเข้าถึง เร่งฉีดวัคซีน

'ปลดล็อก' วัคซีนเปิดประเทศ - '200 ซีอีโอ' จี้รัฐลดเงื่อนไขเข้าถึง เร่งฉีดวัคซีน

'200ซีอีโอ' จี้รัฐลดเงื่อนไขเข้าถึง กระจายจุดฉีด 62% หนุนเปิดประเทศ ชี้ธุรกิจต้องเดินหน้าลดผลกระทบ ขณะที่ ซีอีโอ 60% เชื่อกระตุ้นเชื่อมั่นการลงทุน ด้าน ส.อ.ท.หนุนเปิดประเทศ ปตท มั่นใจลุยปรับแผนธุรกิจ

162424345547

“200ซีอีโอ” หนุนเปิดประเทศใน 120 วัน เผยซีอีโอกว่า 80% แนะรัฐเร่งฉีดวัคซีนควบคู่เปิดประเทศ ซีอีโอ 70% ชี้ธุรกิจรอไม่ได้ต้องเดินหน้าต่อ ลดผลกระทบปิดกิจการ ขณะที่ 60% เชื่อเปิดประเทศกระตุ้นความเชื่อมั่น ภาคบริการ ท่องเที่ยว ฟื้นรายได้สำคัญประเทศ ยังหวั่นหากรัฐคุมสถานการณ์ไม่อยู่ อาจนำไปสู่การระบาดระลอก 4

ขณะที่ซีอีโอกว่า 60% ไม่เชื่อมั่นแผนจัดการโควิดทั้งระบบของรัฐ ยังไม่ปรับแผนธุรกิจจนกว่าสิ้นปี 64 ขอรอดูสถานการณ์ เน้นปรับองค์กรให้คล่องตัว ดึงเทคโนโลยีเสริม รักษากระแสเงินสด ด้าน ส.อ.ท.หนุนเปิดประเทศใน 120 วัน ปตท.มั่นใจเศรษฐกิจฟื้น ลุยปรับแผนธุรกิจ เพิ่มงบลงทุนปีนี้

“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจความคิดเห็น 200 ซีอีโอองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก บริการ ท่องเที่ยว รถยนต์ อุปโภคบริโภค สุขภาพ และไอทีดิจิทัล ถึงความเห็น และข้อเสนอแนะ จากภาคธุรกิจกับการประกาศเปิดประเทศใน 120 วันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ธุรกิจในเดินหน้าต่อท่ามกลางความพยายามในการคุมการระบาดของโควิด-19 และเร่งปูพรมฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564

73.8%ซีอีโอชี้เปิดประเทศเรียกเชื่อมั่น

จากการสำรวจพบว่า ซีอีโอ 62% เห็นด้วยกับการประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน และอีก 38.5% ไม่เห็นด้วย โดยเหตุผลที่เห็นด้วยนั้นซีอีโอกว่า 73.8% ให้เหตุผลว่า เพราะธุรกิจรอไม่ได้ต้องเดินหน้าต่อ เพื่อลดผลกระทบทั้งความเสี่ยงการปิดกิจการ และคนตกงาน รองลงมา 61.1% เชื่อว่า จะสามารถกระตุ้นความเชื่อมั่นภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้สำคัญ ขณะที่ซีอีโอ 46% เห็นว่า การเปิดประเทศจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของภาคธุรกิจรวมถึงต่างชาติได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีซีอีโอกว่า 33% ให้เหตุผลสนับสนุนแผนเปิดประเทศครั้งนี้ เพราะยังเชื่อมั่นแผนฉีดวัคซีนของรัฐบาล และเห็นว่าประเทศไทยมีบริษัทผลิตวัคซีนในประเทศได้เองน่าจะหนุนให้การฉีดวัคซีนเป็นได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ซีอีโอ บางส่วนเห็นว่า รัฐบาลควรมีแผนบริหารความเสี่ยงรับการเปิดประเทศ และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งการปิดประเทศนานเกินไปจะส่งผลเสียระยะยาว ซึ่งซีอีโอบางส่วนแนะว่า ควบคู่กับการเปิดประเทศรัฐบาลต้องพยายามเร่งฉีดวัคซีนให้ได้เร็ว ขณะที่บางส่วนเห็นว่า เฉพาะพื้นที่สีแดงเข้ม หรือจุดที่ระบาดสูงสุดอาจยังต้องมีมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มข้น

เมื่อถามถึงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย ซีอีโอ 66% ระบุว่า เพราะไม่เชื่อมั่นแผนการบริหารจัดการแก้วิกฤติโควิดของรัฐบาลทั้งระบบ และ 62.3% ไม่เชื่อมั่นแผนปูพรมฉีดวัคซีนของรัฐบาล การเปิดประเทศอาจก่อให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และ 52.8% ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถหาวัคซีนได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ขณะที่ 46.2% ไม่เชื่อมั่นแผนการเยียวยาธุรกิจจากภาครัฐ

ซีอีโอ ยังระบุถึงความกังวลในการเปิดประเทศ โดยเกือบ 66% หวั่นว่า อาจเป็นต้นตอนำไปสู่การระบาดระลอกที่ 4 และรัฐบาลจะแก้ไขสถานการณ์ได้ยากขึ้น รองลงมา 59.7% หวั่นว่ารัฐบาลจะคุมไม่อยู่ เกิดคลัสเตอร์เพิ่ม ส่งผลจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตสูงขึ้น ขณะที่ 56.5% หวั่นว่า หากเกิดการติดเชื้อเพิ่ม ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจจะยิ่งทรุดหนัก ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน และ 49.7% หวั่นว่า อาจส่งผลให้ระบบสาธารณสุขล่ม เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นจนรับมือไม่ไหว

80%จี้รัฐเร่งวัคซีน-ลดขั้นตอนเข้าถึง

ความเห็นเกี่ยวกับข้อกังวลการเปิดประเทศเพิ่มเติม เช่น จำนวนวัคซีนที่ ซีอีโอ ไม่เชื่อว่า รัฐจะมีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และหากฉีดไม่ได้ตามเป้าจำนวนผู้ติดเชื้ออาจสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น แก้สถานการณ์ยากขึ้น นอกจากนี้ยังมองว่า การบูรณาการแผนความร่วมมือภายในรัฐบาลที่ยังไม่เป็นเอกภาพ ก็อาจกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีน และแผนการเปิดประเทศ

“รัฐบาลตัดสินใจกลับไป กลับมา ทำให้ขาดความเชื่อมั่น ไม่โปร่งใสในการนำเสนอแผนการจัดหาวัคซีน โดยเฉพาะการกระจายวัคซีนในภาคแรงงานที่รัฐ ยังไม่สามาถเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนได้อย่างเต็มที่”

เมื่อถามว่า รัฐบาลควรมี “มาตรการเพิ่มเติม” ลักษณะใด เพื่อดำเนินการควบคู่ไปกับแผนเปิดประเทศใน 120 วันของรัฐบาล ซีอีโอมากกว่า 80% เทน้ำหนักไปที่ กระจายจุดฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ครอบคลุมทุกพื้นที่ เข้าถึงง่าย ลดขั้นตอนยุ่งยากในการเข้าถึงวัคซีน รองลงมา ซีอีโอ 62% เห็นว่าควรกำหนดบทลงโทษอย่างเฉียบขาดกับผู้ที่ฝ่าฝืน หรือสร้างความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

ซีอีโอ 60.5% เห็นว่า ต้องคัดกรองคนเข้า-ออกประเทศ เช่น ต้องมีวัคซีน พาสปอร์ต หรือ ต้องมีการกักตัวในเวลาที่กำหนด และกว่า 30% เห็นว่า รัฐต้องสร้างมาตรการจูงใจให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น และ 24% เห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำควบคู่ไปกับการเปิดประเทศได้ คือ การเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยฝีมือคนไทย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากซีอีโอ เช่น แนะให้รัฐใช้งบด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศมีความพร้อมรับมือ การประกาศแผนพลิกฟื้นประเทศให้ชัดเจน ข้อเสนอแนะที่สำคัญ และซีอีโอส่วนใหญ่ มองตรงกัน คือ เรื่องของวัคซีนที่รัฐบาลต้องพยายามหาวัคซีนทางเลือกรวมถึงการอนุญาตให้มีการนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นที่ยอมรับจากสากล เข้ามาเป็นทางเลือกของประชาชนได้มากขึ้น

ธุรกิจเน้นเพิ่มความคล่อง-รักษาเงินสด

แม้การเปิดประเทศใน 120 วัน จะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจได้ไม่น้อย แต่จากการสำรวจครั้งนี้ ได้ถามถึงแผนการปรับธุรกิจเพื่อรับการเปิดประเทศ ซีอีโอเกือบ 40% ระบุว่า ยังจะไม่ปรับแผนธุรกิจในทันที โดยจะรอดูสถานการณ์ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2564 ขณะทีกว่า 30% บอกว่า จะปรับแผนธุรกิจทันทีใน 1-3 เดือนข้างหน้า และมีมากกว่า 10% บอกว่าจะขอปรับแผนทีเดียวปี 2565

ทั้งนี้ แผนธุรกิจส่วนใหญ่ ซีอีโอกว่า 71.2% จะหันมาเน้นปรับองค์กรให้ Lean มีความคล่องตัวสูง (Agility) ที่มีการปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว รวมถึงเน้นรักษากระแสเงินสดไว้ก่อน รองลงมา 44.4% เน้นลงทุนเทคโนโลยี ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เครื่องมือดิจิทัล เสริมกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจในทุกมิติ ซีอีโอ 35.4% เน้นการกระจายความเสี่ยงสู่การดำเนินธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม และ 25.3% เน้นเดินหน้าลงทุน ต่อยอด แตกไลน์ ธุรกิจใหม่ๆ (Cross Industry) ตอบโจทย์โลกยุคเน็กซ์ นอร์มอล

หวังผู้ติดเชื้อลด เปิดประเทศเต็มที่

เมื่อถามถึง ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเปิดประเทศ ซีอีโอราว 40% เห็นว่าควรเป็นช่วงที่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตลดลงในระดับที่ไม่น่ากังวล และมีตัวบ่งชี้ที่ชัดว่า มีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น รองลงมา 38% ควรเป็นช่วงที่ประชาชนต้องได้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มครอบคลุมมากกว่า 50-70% ของประชากร และ 25.5% ประชาชนต้องได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกครอบคลุมมากกว่า 50-70% ของประชากร

ก่อนจะถึงโมเดลการเปิดประเทศใน 120 วัน ประเทศไทยได้กำหนดให้วันที่ 1 ก.ค.นี้ เป็นวันเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ซีอีโอส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อมั่น โดยหวั่นว่าอาจเสี่ยงเกิดคลัสเตอร์ หากรัฐคุมไม่อยู่ และยังมีเงื่อนไขการกักตัวไม่เอื้อนักท่องเที่ยว ทั้งยังเชื่อว่า จะกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวได้ไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ ยังได้ประเมินจีดีพีในปี 2564 หลังการประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน ซึ่งซีอีโอส่วนใหญ่ ประเมินว่า จีดีพีปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 1-2% เท่านั้น

เร่งเยียวยาเศรษฐกิจ หนุนเอสเอ็มอี

สำหรับข้อเสนอแนะอื่นของซีอีโอ ต่อภาครัฐในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และธุรกิจทั้งระยะสั้น ระยะยาว รับการเปิดประเทศใน 120 วัน เช่น ส่วนใหญ่ให้เน้นเรื่องแผนการกระจายวัคซีนในทุกช่องทางทั่วประเทศอย่างเท่าเทียม ให้การปูพรมฉีดเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการเสนอแนะให้ ปลดล็อคการนำเข้าวัคซีนชั่วคราว โดยอนุญาตนำเข้าเสรีหากวัคซีนผ่านการอนุมัติจาก WHO รัฐบาลควรจะทยอยเปิดประเทศ พร้อมๆ ไปกับเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุฃขเพื่อรองรับ และควรมีการหารือกับทุกภาคส่วนก่อนกำหนดเปิดประเทศ 120 วัน เพราะภาคเอกชนบางส่วนอาจจะยังไม่มั่นใจ และยังไม่เห็นแผนรับมือการเปิดประเทศที่ชัดเจนของรัฐบาล

“ วัคซีนและยา คือ การลงทุนสำหรับอนาคต รัฐต้องสร้างการลงทุนด้านการป้องกันสุขภาพให้มากกว่านี้เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ ที่สำคัญวัคซีน คือ คำตอบของทางรอดวิกฤติประเทศ หลังจากนั้นธุรกิจถึงจะเดินต่อได้ ที่สำคัญวัคซีนที่นำเข้ามา ควรเป็นวัคซีนที่ได้คุณภาพด้วย” หนึ่งในความเห็นของซีอีโอ

ซีอีโอยังแนะแนะเรื่องการจัดมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยระบุกว่าต้องมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก รวมถึงการอัดฉีดเงินเข้าสู่ภาคธุรกิจ กระตุ้นการใช้จ่ายของผู้มีเงินออม ลดภาษีรถยนต์ อสังหาฯ ลง ขณะที่ คุมสถานการณ์การระบาดให้ได้ แล้วกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนภายในประเทศก่อน

“รัฐต้องให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” หนึ่งในข้อคิดเห็น

นอกจากนี้ เนื่องจากรายได้ของประเทศมาจากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีน ซีอีโอ ตั้งคำถามว่า เราจะมีมาตราการเเละความร่วมมือในระยะสั้น กลาง ยาว ต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักอย่างไรที่ต้องการเข้ามาเที่ยว เเละมั่นใจว่าเขาจะกลับมาเที่ยว โดยที่รัฐบาลต้นทางเขาสนับสนุนให้มาประเทศไทยด้วยความมั่นใจ ความร่วมมือระดับนโยบายรัฐต่อรัฐ มีการตกลงกันหรือยังสำหรับกลุ่มประเทศเป้าหมาย ทั้งหลักการเเละเเนวทางปฎิบัติทั้งสองฝ่าย

ขณะเดียวกัน เห็นว่า รัฐต้องมีการปรับปรุงเรื่องการสื่อสาร สร้างความเชื่อมั่น และมีแผนที่ชัดเจน

“รัฐบาลต้องปรับวิธีการบริหารจัดการและการสื่อสารอย่างรุนแรง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในประเทศคืนมาก่อน หาคนเก่งๆ และเทคโนโลยีมาช่วยจัดการการ detect หรือทำ predictive model การเกิด cluster ที่จะเกิดใหม่ มีการ​บูรณาการ​ทั้งภาค​รัฐ​และ​ภาคเอกชน​ควบคู่​กัน”

ซีอีโอ ยังเห็นด้วยว่า รัฐต้องมีมาตรการชัดเจน สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ให้เหมาะสม ควรระวังเชื้อใหม่จากต่างประเทศ เพราะระลอก 3 เกิดจากแรงงานต่างชาติ รวมถึงอยากให้ควบคุมและลงโทษผู้นำพาต่างด้าวเข้าประเทศและนำพาไปจุดต่างๆ

ส.อ.ท.หนุนเปิดประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. เห็นด้วยกับมาตรการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ของรัฐบาลมาก เพราะจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ โดยเฉพาะธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้ายนวด ร้านเสริมสวย ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจรถตู้ให้บริการนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้การเปิดประเทศอาจจะมีความเสี่ยงต่อการระบาดกลับมาอีกครั้ง ซึ่งผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องคงความเข้มงวดเหมือนในช่วงการระบาดของโควิด เช่น การใส่หน้ากาก การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การวัดอุณหภูมิ และที่สำคัญจะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมคนไทยให้ทั่วถึงมากที่สุด เพราะโควิดจะยังคงอยู่ในโลกนี้และประเทศไทยอีกยาวนาน จึงต้องระมัดรวันตัวตลอดเวลาจนเป็นเรื่องปกติ

ส่วนภาคเอกชนเมื่อรัฐบาลมีเป้าหมายการเปิดประเทศที่ชัดเจน ภาคเอกชนก็ต้องปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงการระบาดของโควิดจนถึงขณะนี้ผู้ประกอบการก็ต้องปรับแผนกันอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารคน การนำเทคโนโลยีมาใช้ การเพิ่มมาตรการความปลอดภัย การปรัยบแผนผลิตผลิตภัณฑ์และแผนโลจิสติกส์ ซึ่งแม้ภายหลังการเปิดประเทศ ปัญหาโควิดก็ยังคงอยู่ เพียงแต่บรรเทาความรุแรง ทำให้การค้า การผลิต และการบริการ ก็จะต้องปรับตัวต่อไป

ปตท.ปรับแผนธุรกิจ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน เป็นการประกาศเป้าหมายครั้งสำคัญของประเทศออกมาเพื่อสร้างจุดร่วมของประเทศให้ทุกคนในประเทศรู้ทิศทางการทำงานที่นำไปสู่การเปิดประเทศในอีก 120 วัน ซึ่งจะสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะมาสนับสนุนการส่งออกที่เหลืออยู่เครื่องจักรเดียวในขณะนี้

สำหรับ ปตท.อยู่ระหว่างการปรับแผนกลยุทธ์ปี 2564 ที่มีการปรับแผนในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ เป็นช่วงการปรับแผนธุรกิจ 1 ปี และแผนธุรกิจ 5 ปี ซึ่งได้นำปัจจัยการเปิดประเทศมาร่วมพิจารณาด้วย ส่วนการบริหารธุรกิจได้มีการเตรียมความพร้อมตลอด โดยโรงงานทุกแห่งไม่หยุดและเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ในขณะที่ปั๊มน้ำมันที่มีแนวโน้มยอดขายมากขึ้นในกรณีที่มีการเปิดประเทศ ซึ่งได้มีการเตรียมมาตรการรักษาระยะห่างไว้และมีการฝึกอบรมพนักงานเพื่อเตรียมรับการบริการที่จะมีมากขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ปตท.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2564 มีมติทบทวนแผนการลงทุนของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% และอนุมัติให้ปรับปรุงเงินลงทุนสำหรับปี 2564 จาก 52,931 ล้านบาทเป็น 67,504 ล้านบาท โดยการทบทวนแผนลงทุนข้างต้นส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงการลงทุนของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม สืบเนื่องจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าที่ผ่านมาและการปรับแผนลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน