สำนักงบเผยเพิ่มงบงบลงทุนปี65ได้อีก9หมื่นล้าน

สำนักงบเผยเพิ่มงบงบลงทุนปี65ได้อีก9หมื่นล้าน

สำนักงบฯเผย สามารถเพิ่มงบลงทุนในปีงบประมาณ 65 ได้อีก 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้งบลงทุนสูงกว่าเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่มีวงเงิน 7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ราว 6 หมื่นล้านบาทมาจากพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผยว่า สำนักงบประมาณสามารถเพิ่มงบลงทุนในปีงบประมาณรายจ่าย 2565 ได้อีก 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้งบประมาณรายจ่ายปีดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังที่ระบุว่า วงเงินงบลงทุนจะต้องสูงกว่าเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล

“งบลงทุนที่เพิ่มเติมเข้ามาอีก 9 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนั้น ราว 6 หมื่นล้านบาท เป็นงบลงทุนของกระทรวงคมนาคม”

ทั้งนี้ งบลงทุนที่งอกเพิ่มเติมขึ้นมาจะมาจากพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งพ,ร.ก.เงินกู้ดังกล่าว ได้แบ่งการใช้จ่ายเป็นสามส่วน ส่วนแรก 3 หมื่นล้านบาท เป็นงบเพื่อการสาธารณสุข ส่วนสอง 3 แสนล้านเพื่อใช้เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และ 1.7 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ โดยในงบเยียวยาเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้านบาทนั้น จะมีส่วนหนึ่งราว 5 -6 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เขากล่าวว่า งบลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนที่สอง จะมาจากการกู้เงินตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ มาตรา 20 ซึ่งนอกจากจะกำหนดให้รัฐบาลสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้แล้ว ยังสามารถให้รัฐบาลกู้เงินในวัตถุประสงค์อื่น ซึ่งรวมถึง การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรัฐบาลจะกู้เงินในลักษณะโปรเจกต์โลนอีกราว 1.6 หมื่นล้านบาท

ส่วนงบลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนที่สามมาจาก เงินนอกงบประมาณ ที่อยู่ตามหน่วยราชการต่างๆ ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมว่า แต่ละหน่วยงานจะมีเงินเพื่อลงทุนในปีงบประมาณ 2565 เท่าไหร่ ซึ่งคาดว่า จะอีกหลายพันล้านบาท

สำหรับงบลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนที่สี่ จะมาจากการขอให้รัฐวิสาหกิจ เพิ่มเติมงบลงทุนในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งอยู่ในระหว่างการรอตัวเลขจากรัฐวิสาหกิจและงบลงทุนส่วนเพิ่มส่วนที่ห้า มาจากเงินลงทุนแบบ PPP

ทั้งนี้ งบประมาณปี 2565 กำหนดรายจ่ายรวมที่ 3.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 17.87% ของจีดีพี โดยคาดว่า จะมีรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลกำหนดการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลที่ 7 แสนล้านบาท

ขณะที่ กำหนดงบลงทุนไว้เพียง 6.24 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าการกู้เพื่อเชยการขาดดุล ซึ่งไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังปี 2561 ในมาตรา 20 ที่กำหนดว่าการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีนั้น งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจํานวนไม่น้อยกว่า 20%ของงบประมาณรายจ่ายประจําปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจําปีนั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เป็นปีแรกในรอบหลายสิบปีของรัฐบาลไทย ที่มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนด โดยพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ กำหนดให้รัฐบาลสามารถกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายในปีนั้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 เท่ากับ 6.2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังกู้ได้อีกไม่เกิน 80% ของงบชำระหนี้เงินต้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลกำหนดวงเงินงบประมาณเพื่อชำระหนี้เงินต้นไว้ 1 แสนล้านบาท 80% ของ 1 แสนล้านบาท เท่ากับ 8 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมทั้งสองส่วนดังกล่าว เป็น 7 แสนล้านบาท