เอกชนผวาโควิดรอบใหม่ ป่วนซัพพลายเชน‘เอเชีย’

เอกชนผวาโควิดรอบใหม่ ป่วนซัพพลายเชน‘เอเชีย’

การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในอัตราลดลง แต่ในเอเชียกลับมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเดือน พ.ค.2564 เทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 26.4%

มาเลเซียเพิ่มขึ้น 40.0% ไทยเพิ่มขึ้น 143.3% และไต้หวันเพิ่มขึ้น 687.2% 

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 กกร.ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ และมีการรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในเอเชียที่อาจกระทบภาคการผลิตของไทยในระยะต่อไป 

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดระลอกล่าสุดช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ส่วนใหญ่อยู่ทางฝั่งเอเชีย ซึ่งมีความคืบหน้าด้านการกระจายวัคซีนค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเร่งตัวขึ้นมาก และกระทบไปยังภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่ส าคัญในประเทศ สะท้อนจากดัชนีเครื่องชี้ภาคการผลิต PMI ที่ปรับตัวลดลงในเดือนล่าสุด โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางอย่างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์

มาเลเซีย รัฐบาลประกาศ Total lockdown ตั้งแต่ 1-14 มิ.ย.2564 ทำให้โตโยต้าและฮอนด้าหยุดผลิตชั่วคราว (กำลังการผลิตรถยนต์ 3.7 แสนคัน และรถจักรยานยนต์ 3 แสนคันต่อปี) โรงงานผลิตบางส่วนถูกลดกำลังการผลิตเหลือ 60% ของทั้งหมด รวมถึงโรงงานในซัพพลายเชน เช่น โรงงานอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชุด PPE ถุงมือยาง และกลุ่มปิโตรเคมี กระทบซัพพลายเชนกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรรวม SSD

162402445942

ไต้หวัน ตรวจพบคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อในโรงงาน King Yuan Electronics ซึ่งเป็นโรงงานให้บริการทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนจะสั่งปิดโรงงานอย่างน้อย 14 วัน รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่แบ่งกะทำงานและบางส่วนให้ WFH เพื่อลดความเสี่ยง ทำให้กำลังการผลิตลดลง กระทบซัพพลายเชนกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์

เวียดนาม รัฐบาลแจ้งเตือนการแพร่ระบาดทางตอนเหนือในจังหวัด Bac Ninh โดยเฉพาะ Bac Giang ครอบคลุมถึงการสั่งปิด 4 เขตอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน Samsung Electronics, Foxconn และ Luxshare จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง กระทบซัพพลายเชนกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โทรศัพท์มือถือ

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเวียดนาม ไต้หวัน และมาเลเซีย นั้น มองว่าจะกระทบต่อซัพพลายเชนการผลิตของไทยไม่มากนัก เพราะมาเลเซีย และเวียดนามไม่ใช่ผู้ผลิตต้นน้ำที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม มีเพียงไต้หวันที่ผลิตสินค้าต้นน้ำในกลุ่มชิป และอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ

ทั้งนี้ โรงงานในไทยส่วนใหญ่ก็ได้เปลี่ยนระบบมาสต็อกสินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30 วัน เพราะมีประสบการณ์รับมือจากโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรก ที่หลายประเทศปิดประเทศ แต่หากโรงงานในไต้หวันหยุดนานกว่านี้ก็อาจจะกระทบบ้าง แต่ก็เชื่อว่าโรงงานผู้ผลิตจะกลับมาเร่งผลิตส่งมอบได้ทัน

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 ในเอเชียตะวันออกหลายประเทศที่เป็นแหล่งผุตสาหกรรม โดยเฉพาะไต้หวัน และมาเลเซีย ได้ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนชิ้นส่วนชิปในรถยนต์อยู่บ้าง โดยเฉพาะในไต้หวันที่เป็นแหล่งผลิตชิป และชิ้นส่วนอิเล็กททรอนิกส์ที่สำคัญ จะยิ่งซ้ำเติบสถานการณ์การขาดแคลนชิปมากขึ้น

“เชื่อว่าบริษัทที่สั่งซื้อชิปไปแล้วทางผู้ผลิตจะหาวิธีกลับมาเร่งการผลิตเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าได้ตามที่กำหนด และคงกระทบส่วนนี้ไม่มาก รวมทั้งผู้ผลิตรถยนต์ได้สต็อกสินค้าชิปไว้บางส่วน แต่ยังเป็นห่วงสถานการณ์การขาดแคลนชิปโดยรวมที่อาจรุนแรงขึ้น”

ส่วนการปิดโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของมาเลเซียบางส่วนจะกระทบโรงงานรถยนต์ในไทยไม่มาก เพราะไทยพึ่งพาชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศ และมีเพียงบางยี่ห้อบางรุ่นที่ต้องนำเข้าจากมาเลเซีย ซึ่งบริษัทผลิตรถยนต์ในไทยคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะระบาดหนักในมาเลเซียจึงเร่งคำสั่งซื้อและสต็อกสินค้าไว้แล้วจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก

สุภาพ สุวรรณพิมลกุล เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า​อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อร้องเรียนในเรื่องนี้จากสมาชิกกลุ่มฯ แต่ส่วนตัวมองว่าน่าจะส่งผลกระทบกับออเดอร์ชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อีก 3-6 เดือนข้างหน้าอยู่บ้าง และอาจจะกระทบกับผู้ที่สั่งซื้อสินค้าเมื่อ 3-6 เดือนก่อน เชื่อว่าผู้ผลิตชิปจะหาทางผลิตสินค้าส่งลูกค้าให้ได้ตามที่กำหนดเพื่อรักษาฐานลูกค้า แต่ก็เป็นห่วงในภาพรวมที่จะซ้ำเติมสถานการณ์การขาดแคลนชิปให้รุนแรงมากขึ้น

ขณะนี้ทางกลุ่มฯ ได้เร่งระดมความคิดเห็นในการแก้ปัญหาการขาดแคลนชิปในระยะสั้น กลาง และยาว โดยในระยะสั้นจะหามาตรการช่วยให้โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในไทยขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนในระยะกลางและยาว จะหามาตรการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทผลิตชิปชั้นนำของโลกให้มาร่วมลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย แต่ต้องพิจารณารายละเอียดว่าจะเลือกดึงผู้ผลิตค่ายไหน เพราะขณะนี้ผู้ผลิตชิปอยู่ในฝั่งสหรัฐและจีนที่ทำสงครามการค้ากันเป็นการเมืองในระดับโลก ซึ่งการเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจมีปัญหาได้

“ขณะนี้เรื่องเงินลงทุนไม่ใช่ปัญหาของไทย เพราะทุกบริษัทพร้อมลงทุนสนับสนุนเต็มที่ แต่ห่วงการดึงเทคโนโลยีที่ต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมและรองรับการเติบโตในอนาคต โดยสัปดาห์หน้ากลุ่มฯ จะประชุมแก้ปัญหานี้ คาดว่าจะมีข้อสรุปการแก้ปัญหาระยสั้นไม่ให้ขาดแคลนและวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว”