ผู้ส่งออกไทยโดนผู้ส่งออกจีนส่งสินค้าไม่ตรงตามเงื่อนไข

ผู้ส่งออกไทยโดนผู้ส่งออกจีนส่งสินค้าไม่ตรงตามเงื่อนไข

ทูตพาณิชย์ปักกิ่ง เผย ผู้ประกอบการไทย ร้องให้ช่วยเหลือหลัง ซื้อสินค้าจากผู้ส่งออกจีนแล้วได้รับสินค้าไม่ตรงตามเงื่อนไข เมื่อเจรจาขอคืนเงินแล้วเจอเบี้ยวเงิน แนะผู้นำเข้าทำสัญญาซื้อขายที่มีผลทางกฎหมาย และใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการเงินด้วย

นางสาวชิยาวรรณ จงวัฒนา อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการไทย ที่นำเข้าสินค้าจากจีนว่า ผู้ส่งออกจีนส่งมอบสินค้าที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ เมื่อเจรจาขอให้ผู้ส่งออกจีนแก้ไขปัญหาดังกล่าว หรือขอคืนเงินค่าสินค้า ก็กลับไม่ได้รับการแก้ปัญหาให้ จึงต้องการให้ สำนักงานช่วยเหลือ ซึ่งสำนักงาน ได้ติดต่อผู้ส่งออกจีน เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และขอให้คืนเงินค่าสินค้าให้กับผู้นำเข้าไทย รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น ที่บริษัทผู้ส่งออกจีนตั้งอยู่ เพื่อขอให้ประสานกับผู้ส่งออกแก้ปัญหาให้แล้ว

 

“บางกรณี ผู้ส่งออกจีนยอมคืนเงินค่าสินค้าให้ แต่บางกรณีก็ไม่ยอม เพราะในการซื้อขายสินค้า ผู้นำเข้าไทยและผู้ส่งออกจีน ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการนำเข้า-ส่งออกอย่างครบถ้วน จึงไม่มีหลักฐานทางกฎหมายในกรณีเกิดปัญหา เช่น ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายที่มีผลทางกฎหมาย และไม่ได้ใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะเครื่องมือทางการเงิน เช่น ไม่มีLetter of Credit(L/C)ในการชำระเงิน ส่วนใหญ่จะเป็นการโอนเงินให้ผู้ส่งอกโดยตรงทางTelegraphic Tranfers (T/T)และมักโอนเงินให้ก่อนได้รับ หรือตรวจสอบสินค้า”

 อย่างไรก็ตาม จากการที่สำนักงาน ได้หารือกับผู้แทนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ กรุงปักกิ่ง ในเรื่องการใช้เครื่องมือทางการเงินป้องกันความเสี่ยงนั้น ผู้แทนธปท.แนะนำว่า ในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ ผู้นำเข้า-ผู้ส่งออก ต้องทำสัญญาซื้อขายที่มีผลทางกฎหมาย สำหรับผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ อาจขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ ธปท. ธนาคารพาณิชย์ จัดทำรูปแบบสัญญาพื้นฐานเพื่อให้เอสเอ็มอีนำไปใช้

 

 

นอกจากนี้ ผู้นำเข้าไทยต้องใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง เช่น ชำระเงินโดยใช้L/Cกำหนดให้มีผู้ตรวจสอบคุณสมบัติสินค้า ที่เป็นบุคคลที่ 3 ก่อนส่งออก จัดทำBank Guaranteeเพื่อให้ผู้นำเข้าสามารถได้เงินคืนจากธนาคารกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามสัญญา และป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ ธปท. หรือธนาคารพาณิชย์ ควรจัดอบรมให้ความรู้แก้ผู้ประกอบการไทย โดยอาจเน้นเอสเอ็มอี ให้สามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หรือเกิดความเสียหายจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้อีก