สมาพันธ์ SME ชง 9 มาตรการอุ้มธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุน-หนุนจ้างงาน

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจัดทำแผนช่วยเหลือเอสเอ็มอี 9 มาตรการเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้อย่างตรงจุด หลังจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับผู้ประกอบการ


ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย แสงชัย ธีรกุลวาณิช ระบุ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้ทำการสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วประเทศ เพื่อสรุปเป็นมาตรการเสนอต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา อุปสรรคจากการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย รายย่อม และรายกลาง จำนวนหลายล้านรายให้มีทิศทางการแก้ไขตรงกับความต้องการ และสภาพปัญหาที่แท้จริงทางเศรษฐกิจ

แม้ภาครัฐจะมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือ SME แต่การเข้าถึงความช่วยเหลือยังไม่สามารถทำให้ SME เข้าถึงได้ง่าย SME จำนวนมากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการภาครัฐ เช่น มาตรการ Soft loan 1 มี SME เข้าถึงเพียง 77,787 ราย วงเงิน 138,200 ล้านบาท จึงอยากให้ธนาคารผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณา เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

สำหรับมาตรการเร่งด่วนที่สมาพันธ์ฯเสนอเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนและลดการว่างงาน ประกอบด้วย การพักต้น-พักดอก-เติมทุน โดยไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักต้น และยืดระยะเวลาการชำระออกไป รวมทั้งไม่ติดเครดิตบูโร เพื่อลดผลกระทบในระยะยาว NPLs บรรเทาภาระหนี้ และสร้างสภาพคล่องชั่วคราวให้กับเอสเอ็มอีที่ไม่ได้รับ Soft loan / สินเชื่อ Factoring ใบสั่งซื้อ-ใบกำกับภาษี mSMEs โดยใช้ใบสั่งซื้อมาขอสินเชื่อ 30-50% ของวงเงินใบสั่งซื้อที่มีจากลูกค้าเพื่อนำเงินไปใช้ซื้อวัตถุดิบ และจ้างงานช่วยเพิ่มสภาพคล่อง /กองทุนประกันสังคม 30,000 ล้านบาท ที่ผู้ประกอบการเข้าถึงยาก หากปรับเปลี่ยนเป็นให้วงเงินผู้ประกอบการที่มีประวัติการส่งเงินสมทบตรง มีการจ้างงานจำนวนหนึ่งจะช่วยรักษาการจ้างงาน และผยุงกิจการให้สามารถมีสภาพคล่องต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสำหรับการฟื้นฟูกิจการได้แก่ ร่าง พรบ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากที่ผ่านมาเอสเอ็มอีจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ ทำให้เกิดหนี้นอกระบบเติบโตขึ้น การที่มีกองทุนฯนี้เป็นการเปิดโอกาสให้สามารถสร้างแต้มต่อ มีต้นทุนการเงินที่ต่ำ แข่งขันได้มากขึ้น /กองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีที่เป็น NPLs จากผลกระทบ COVID-19 และได้รับการดูแล แก้ไข ปรับปรุงหนี้อย่างเป็นระบบ ให้สามารถกลับสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ และอยู่ในระบบฐานภาษีของรัฐ/และกองทุนนวัตกรรมเพื่อ mSMEs เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม เทคโนโลยี การตลาดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการ และแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงสามารถพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

ส่วนมาตรการเพื่อความเข้มแข็งและยั่งยืนได้แก่มาตรการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจชาติ พัฒนาฝีมือแรงงาน ทักษะ และเพิ่มขีดความสามารถให้กับเอสเอ็มอี /จ้างงงานผู้ว่างงานพัฒนา mSMEs ท้องถิ่น และเฟรนไชส์ไทย สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจไทย ให้โอกาสผู้ว่างงาน บัณฑิตตกงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจ มาเชื่อมโยงกับเฟรนไชส์ไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ในกลุ่มเฟรนไชส์