'มาคาเลียส' แนะรัฐเปิดประเทศต้องรอบคอบ ป้องกันสึนามิโควิด-19 ระลอก 4 ในไทย

'มาคาเลียส' แนะรัฐเปิดประเทศต้องรอบคอบ ป้องกันสึนามิโควิด-19 ระลอก 4 ในไทย

“มาคาเลียส” แนะนโยบายภาครัฐเตรียมเปิดประเทศไทยรับนักท่องเที่ยวภายใน 120 วัน ทำได้ แต่ต้องรอบครอบ ออกมาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบดูแล ป้องกันไม่ให้เกิดสึนามิ “โควิด-19” ระลอก 4 ในไทย พร้อมทั้งเร่งมาตรการดูแลคนในก่อนรับคนนอกอย่างการฉีดวัคซีนให้คนในประเทศ

จากการที่รัฐบาลได้แถลงการณ์ถึงการตั้งเป้าเอาไว้ว่าประเทศไทยจะต้องเปิดประเทศทั้งประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน นับจากวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญๆ หากพร้อมได้เร็วกว่าก็ควรทยอยเปิดให้ได้เร็วกว่านั้น นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสเรียบร้อยแล้ว ควรเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องมีเงื่อนไขข้อห้ามที่สร้างความยากลำบาก รวมทั้งคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ หากเป็นคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ก็ควรที่จะสามารถเดินทางกลับเข้าประเทศของตัวเองได้โดยไม่ต้องกักตัวเช่นเดียวกัน

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด สตาร์ทอัพธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ กล่าวว่า บริษัทฯเข้าใจเป็นอย่างดีว่าธุรกิจท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทย แต่ทั้งนี้การเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวต้องทำอย่างรอบครอบ และพิจารณาให้รอบด้าน เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นอีกจะกลายเป็นสึนามิการท่องเที่ยวลูกที่ 4 ของประเทศไทย กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และจะเกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาต่อกลุ่มธุรกิจอื่นๆ

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงคือการดูแลคนในก่อนรับคนนอก ด้วยการจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอและเร่งการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากรประเทศไทยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดการแพร่ระบาดและการเสียชีวิต และควรมีระบบการตรวจคัดกรองโรคอย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการตรวจได้จำนวนมาก เพื่อนำมาใช้ตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

รวมถึงนโยบายการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อนำไปฟื้นฟูธุรกิจให้พร้อมรับมือกับการเปิดประเทศ พร้อมทั้งจัดทำแผนบูรณาการด้านการท่องเที่ยวด้วยการร่วมมือและผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมไปถึงกลุ่มชุมชน เพื่อร่วมกันสร้างแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยว การกำหนดแนวทางการแก้ไข ดูแล และป้องกัน หากเกิดวิกฤตขึ้นอีกครั้ง

นางสาวณีรนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางด้านผู้ประกอบการก็ต้องเตรียมธุรกิจให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยการสนับสนุนและช่วยเหลือให้บุคลากรในองค์กรเข้ารับวัคซีนอย่างครบถ้วน พร้อมทั้งควบคุมมาตรฐานด้านสุขอนามัยอย่างในการให้บริการอย่างเข้มงวด ทั้งการทำความสะอาด การรักษาระยะห่าง การจัดเตรียมที่นั่งแบบส่วนตัว รวมถึงการเร่งนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการเช็คอิน การสั่งอาหาร การเรียกพนักงาน ใช้เพื่อลดการสัมผัสและเพิ่มมูลค่าให้กับบริการ เป็นต้น 

ทางด้านนักท่องเที่ยวเองก็ยังคงต้องให้ความร่วมมือรักษาสุขอนามัยกับส่วนรวมตามกฎของแต่ละสถานที่ที่ไปท่องเที่ยว ถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบตามจำนวน แต่ก็ยังคงต้องส่วนหน้ากากอนามัย พร้อมทั้งฉีดพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์หลังสัมผัสหรือจับสิ่งของสาธารณะต่างๆ