‘ยำ’ ดอกอัญชัน ‘กุ้ง’ พันหอม ลดความเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดอุดตัน

‘ยำ’ ดอกอัญชัน ‘กุ้ง’ พันหอม ลดความเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดอุดตัน

เปิดสูตร “ยำ” รสเด็ด "ยำดอกอัญชันกุ้งพันหอม" กับคุณค่าสารสำคัญใน “ดอกอัญชัน” ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดอุดตัน แร่ธาตุใน "กุ้ง" ช่วยชะลอการเกิดอาการหลักโรคกระดูกพรุน

สรรพคุณในเชิงสมุนไพรของ อัญชัน หรือ ดอกอัญชัน (Butterfly Pea) คนไทยคุ้นหูมานาน ว่ามีการนำสีของดอกอัญชันมาใช้เกี่ยวกับการทำอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม รวมทั้งใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม โดยเฉพาะการทำแชมพูเพื่อความดกดำและเงางามของเส้นผม

162381912528

ดอกอัญชัน ดอกเล็กๆ สวยงาม แต่มีสารพฤกษเคมีสำคัญ

เว็บไซต์ medthai.com ระบุว่า ทั้งนี้ก็เพราะใน ‘ดอกอัญชัน’ มีสารที่ชื่อว่า แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งมีหน้าที่ไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ดีมากขึ้น เช่น ไปเลี้ยงบริเวณรากผม ซึ่งช่วยทำให้ผมดกดำ เงางาม หรือไปเลี้ยงบริเวณ ‘ดวงตา’ จะช่วยบำรุงสายตาไปด้วยในตัว หรือไปเลี้ยงบริเวณ ‘ปลายนิ้วมือ’ ซึ่งก็จะช่วยแก้อาการเหน็บชาได้ด้วย

ที่สำคัญสาร ‘แอนโทไซยานิน’ มีความโดดเด่นที่ใครหลาย ๆ คนอาจยังไม่ทราบ นั่นก็คือ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดอุดตันได้ และการ "กินดอกอัญชันทุกวัน...วันละหนึ่งดอก" จะ ช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดสมองตีบได้อีกด้วย

ดังนั้น เมนูสู้ โควิด วันนี้.. จึงขอเสนอการนำ ‘ดอกอัญชัน’ มาทำเป็นอาหารประเภท ยำ จานเด็ด แถมยังมีเนื้อ กุ้ง นุ่มเด้งที่ให้ทั้งโปรตีนและแร่ธาตุสำคัญอย่างแคลเซียม ฟอสฟอรัสและแมกนีเซียม ชะลอการเกิดอาการหลักโรคกระดูกพรุน

162381928766

เชฟโธมัส-วรพล อิทธิคเณศร

เมนูนี้ก็คือ ยำดอกอัญชันกุ้งพันหอม เป็นสูตรเด็ดของ เชฟโธมัส-วรพล อิทธิคเณศร เชฟใหญ่ประจำร้าน “ทองหล่อ” ร้านอาหารไทยพื้นบ้านดั้งเติม รสชาติที่ผู้ใหญ่หลายคนคุ้นเคยและเคยกินมาตั้งแต่เด็กๆ

เชฟวรพลเคยได้รับรางวัลพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และเคยเป็นครูสอนทำอาหารไทยที่วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวลให้กับผู้สนใจอาหารไทยได้เรียนรู้ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมซึ่งตั้งอยู่ข้าง ‘วังไกลกังวล’ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

162381935984

ยำดอกอัญชันกุ้งพันหอม สูตรเด็ดของ เชฟโธมัส-วรพล อิทธิคเณศร

 ยำดอกอัญชันกุ้งพันหอม 

 เครื่องปรุงและวัตถุดิบที่ต้องเตรียม 

  • กุ้ง  200 กรัม
  • ดอกอัญชัน 50 กรัม
  • ขิงอ่อน 20 กรัม 
  • ผิวส้มซ่า(ซอย) 10 กรัม
  • น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • ถั่วลิสง 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
  • หอมเจียว 2 ช้อนโต๊ะ
  • มะพร้าวคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ
  • ผักกาดหอม ใบสะระแหน่  ต้นหอมลวก พริกสด

 ขั้นตอนวิธีทำ 

  1. ทำกุ้งพันหอม โดยนำกุ้งมาลวกให้สุก จัดผักกาดหอมและใบสะระแหน่เป็นคำ แล้วพันด้วยต้นหอมลวกสุก
  2. ผสมน้ำตาลปี๊บ น้ำมะขามเปียก น้ำปลา แล้วนำไปเคี่ยวให้น้ำตาลปี๊บละลาย ทิ้งไว้ให้เย็น ใส่น้ำมะนาว พริกสด แล้วคนให้เข้ากัน
  3. ใส่ดอกอัญชัน ขิงอ่อน ผิวส้มซ่า ถั่วลิสง มะพร้าวคั่วส่วนหนึ่ง และน้ำยำที่ผสมไว้ คลุกเคล้าเบาๆ ให้เข้ากัน ตักราดบนกุ้งพันหอม  โรยมะพร้าวคั่วและหัวหอมเจียว จัดเสิร์ฟ

 เคล็ดไม่ลับตำรับข้างวัง :  สารแอนโทไซยานินในดอกอัญชัน เป็นสารที่มีสีม่วงคราม และเป็นสีที่ละลายในน้ำได้  ทำให้คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณนิยมนำสีจากดอกอัญชันมาผสมในอาหาร เพื่อให้มีสีสันสวยงาม โดยหากนำมาผสมในขนมหรืออาหารจะได้ ‘สีน้ำเงิน’ แต่หากบีบน้ำมะนาวลงไป สีที่ได้จะกลายเป็น ‘สีม่วง’

สรรพคุณของ ดอกอัญชัน ยังมีอีกเช่น มีส่วนช่วยบำรุงสมอง เพิ่มการไหลเวียนเลือด เครื่องดื่มน้ำอัญชันช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย น้ำคั้นจากดอกอัญชันใช้ทาคิ้ว ทาศีรษะ ใช้เป็นยาปลูกผม-เส้นขนให้ดกดำเงางามยิ่งขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน

อย่างไรก็ตาม medthai.com ระบุด้วยว่า เนื่องจากดอกอัญชันมีฤทธิ์ในการ ละลายลิ่มเลือด สำหรับผู้มี ‘เลือดจาง’ ห้ามรับประทานดอกอัญชันเด็ดขาด หรืออาหารเครื่องดื่มที่ย้อมสีด้วยอัญชัน ก็ไม่ควรรับประทานบ่อยๆ

162381966519

ดอกอัญชัน

เช่นเดียวกับ เว็บไซต์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่า แม้มีงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของดอกอัญชันเป็นจำนวนมาก แต่งานวิจัยทั้งหมดยังเป็นข้อมูลที่ศึกษาในระดับสัตว์ทดลอง ไม่มีรายงานการวิจัยในคน จึงยังไม่สามารถระบุขนาดและวิธีใช้ที่เหมาะสมได้

ดังนั้น การใช้ประโยชน์ของดอกอัญชันเพื่อการบริโภค จึงควรระมัดระวังการรับประทานร่วมกับ ยาที่มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด หรือ ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน และ warfarin เนื่องจากมีรายงานว่า สาร ternatin D1 ในดอกอัญชัน มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด  ซึ่งอาจมีผลเสริมฤทธิ์กันจนเกิดอันตรายต่อร่างกาย

ดังนั้นผู้ที่ต้องใช้ยาดังกล่าวเป็นประจำ หากต้องการบริโภคดอกอัญชันในรูปแบบเครื่องดื่มหรือชาชง ไม่ควรชงในขนาดความเข้มข้นมาก และไม่ควรดื่มแทนน้ำ

ส่วนข้อควรระวังสำหรับการใช้ภายนอกร่างกายคือ ควรระมัดระวังในผู้ที่มีอาการแพ้ดอกไม้ชนิดต่างๆ ให้หมั่นสังเกตตนเอง หากใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของอัญชันแล้วก่อให้เกิดอาการระคายเคืองควรหยุดใช้ทันที

แต่สำหรับผู้มีสุขภาพร่างกายปกติ การรับประทานดอกอัญชันในปริมาณปกติ ช่วยส่งเสริมสุขภาพได้ในเชิงคุณค่าสมุนไพรตามหลักวิชาการ

*  *  *  *  *

++  เมนูสู้โควิด..ที่คุณอาจสนใจ  ++

แกงเขียวหวาน : 10 สมุนไพรกอดคอเสริมภูมิคุ้มกัน

พุดดิ้งมรกต : ‘ขนม’ เป็นยา พุดดิ้งตำรับ ‘ใบบัวบก’ ทำได้เองที่บ้าน

อะโวคาโด : เติม HDL ป้องกันผนังหลอดเลือดแดงแข็ง

น้ำพริกพริกไทยอ่อน : รวมสารพฤกษเคมีสู้ไข้หวัด-ต้านมะเร็ง