บินไทยจ่อโละ ‘ทรัพย์สิน’ หาเงินสดพยุงธุรกิจ

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) การบินไทย เร่งหาเงินทุนใหม่ 5 หมื่นล้านพยุงธุรกิจ หลังกระแสเงินสดเหลือใช้ไม่ถึงสิ้นปี เตรียมนำสำนักงานใหญ่ถนนวิภาวดีฯมูลค่าหมื่นล้านใช้ค้ำประกันเงินกู้ พร้อมขายเครื่องบิน สำนักงานย่อย ด้านชาญศิลป์ จ่อทิ้งเก้าอี้รักษาการดีดีบินไทย

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. การบินไทย กล่าวว่า หลังจากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย และเห็นขอบคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธาน 2. นายพรชัย ฐีระเวช 3. นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ 4. นายไกรสร บารมีอวยชัย และ5.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร หลังจากนี้คณะผู้บริหารทำแผนจะมีการประชุม เพื่อผลักดันให้แผนฟื้นฟูการบินไทยเป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีระยะเวลา 5 ปี ซึ่งหากการบินไทยฟื้นฟูกิจการได้ก่อน 5 ปี ก็สามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ แต่หากไม่สำเร็จภายใน 5 ปี ก็สามารถต่อระยะเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี ซึ่งการจะออกจากแผนฟื้นฟูได้สำเร็จคือการบินไทยจะต้องมีกำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) ของ 2 ปีสุดท้ายในแผนฟื้นฟูไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการหลังจากนี้ คือการหาทุนใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับการบินไทย โดยตามแผนคือจำนวนเงิน 5 หมื่นล้าบาท ซึ่งแหล่งเงินจะมาจากรัฐบาล 2.5 หมื่นล้านบาท และจัดหาจากเอกชน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยยังตอบไม่ได้ว่าจะต้องได้เมื่อไหร่ แต่จะพยายามหาแหล่งเงินใหม่เข้ามาเสริมสภาพคล่องให้เร็วที่สุด และระยะเวลาการหาแหล่งเงินใหม่นั้นไม่จำเป็นต้องมาทั้งก้อน 5 หมื่นล้านบาท อาจทยอยหาเข้ามาภายใน 1-3 ปี ซึ่งในส่วนของการจัดหาเงินจากแหล่งเงินกู้สถาบันเอกชนนั้น อาจมีความจำเป็นที่การบินไทยต้องขายทรัพย์สิน หรือนำทรัพย์สินมาใช้ค้ำประกัน เช่น เครื่องบิน ตึกสำนักงาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากกรณีที่มีการเปิดเส้นทางบิน หรือธุรกิจการบินกลับมาบินได้ปกติและเป็นไปตามแผน วงเงินของแหล่งเงินใหม่อาจลดลงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องถึง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายได้ก็จะมาจากแผนธุรกิจทั้งการเปิดบิน และการปรับโครงสร้างองค์กรที่ได้มีการเริ่มทำไปมากแล้ว โดยสามารถลดจำนวนผู้บริหารจาก 740 คน เหลือ 500 คน ลดจำนวนพนักงานจาก 2.9 หมื่นคน เหลือ 1.45-1.5 หมื่นคน ลดจำนวนเครื่องบินให้เหมาะสมกับองค์กรเหลือ 60 ลำในปัจจุบัน เป็นสัญญาเช่า 54 ลำ เครื่องบินการบินไทย 6 ลำ เป็นต้น ส่วนที่การบินไทยจะออกจาก

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าตนได้ยื่นหนังสือลาออกจากรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. การบินไทย แล้วนั้น เรื่องดังกล่าวต้องให้บอร์ดพิจารณา ตนคงตอบไม่ได้ เพราะการอยู่หรือการไปขึ้นอยู่กับบรอร์ดและผู้บริหารแผน โดยมองว่าการบินไทยมีคนเก่งหลายคน และตนก็อายุ 62 แล้ว


ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ สายการเงินและการบัญชี บมจ.การบินไทย กล่าวว่า กระแสเงินสดของการบินไทยที่จะใช้ประกอบธุรกิจในปัจจุบันสามารถอยู่ได้ไม่ถึงสิ้นปี ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งหาเงินใหม่เข้ามาเติม ซึ่งก็เป็นไปตามแผนฟื้นฟูที่ต้องการเงินเข้ามา 5 หมื่นล้านบาท โดยเงินที่จะทยอยเข้ามาควรจะต้องมาเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปตามได้ แม้ว่าการบินไทยจะมีการทำแผนธุรกิจและเริ่มเปิดบินอีกครั้ง แต่ก็ไม่แน่ใจว่ารายได้ในไตรมาส 3 และ 4 จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศ ซึ่งการบินไทยมีความจำเป็นที่ต้องนำทรัพย์สินออกมาขายหรือนำมาคำ้ประกันเงินกู้ โดยเตรียมนำสำนักงานใหญ่การบินไทยที่ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท มาใช้คำ้ประกันเงินกู้ก้อนใหม่ รวมถึงสำนักงานย่อยที่หลานหลวง สีลม ดอนเมือง ก็จะนำมาใช้ค้ำประกัน และจะประเมินว่าสำนักงานใดที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็จะขายออกไป รวมทั้งออฟฟิศในต่างประเทศด้วย เพราะการบินไทยมีค่าใช้จ่ายตามการปรับโครงสร้างใหม่เฉลี่ยประมาณ 1 พันล้านบาทต่อเดือน