'วัคซีนโควิด-19' ลดอุบัติการณ์ระบาด 'โควิด-19' ลดอัตราเสียชีวิต

'วัคซีนโควิด-19' ลดอุบัติการณ์ระบาด 'โควิด-19' ลดอัตราเสียชีวิต

ขณะนี้ ทั่วโลกมีการฉีด 'วัคซีนโควิด-19' ไปแล้วมากกว่า 2,303 ล้านโดส (ณ 12 มิ.ย. 64) ขณะที่ผลของวัคซีนโดยเฉพาะในประเทศที่ฉีดครอบคลุมประชากรมาก เห็นผลว่าลดอุบัติการณ์การระบาด 'โควิด-19' ได้ รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิตได้เช่นกัน

นับตั้งแต่การฉีด 'วัคซีนโควิด-19รายแรกของโลกเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 ในหญิง 91 ปี ที่สหราชอาณาจักร จนปัจจุบัน เริ่มเห็นอุบัติการณ์การระบาดลดลง โดยเฉพาะในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมาก เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิสราเอล และในหลายประเทศที่แม้ผู้ป่วยรายใหม่ยังไม่ลดแต่อัตราการเสียชีวิตลดลง เช่น บราซิล

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเตือนช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน เม.ย. 64 ว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่ต้องระวังอย่างยิ่งเพราะ 'โควิด-19' กำลังจะรุนแรงมากขึ้น ครั้งนั้น WHO ออกมาเตือนเพราะเห็นว่า 8 สัปดาห์เต็มๆ ที่มีอุบัติการณ์ผู้ป่วยใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน 6 สัปดาห์เต็ม ที่มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย WHO ประกาศให้ทั้งโลกร่วมฉีดวัคซีน และมั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน เพราะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้โลกใบนี้ปลอดภัยจากโควิด-19 ได้

วานนี้ (15 มิ.ย. 64) “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เรื่องควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า วันที่ 8 ธ.ค. 63 สตรีวัย 91 ปี ฉีด 'วัคซีนโควิด-19' เป็นคนแรกของโลก จนปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 12 มิ.ย. 64) รวมฉีดวัคซีนแล้ว 2,303,866,151 โดส ฉีดวันละ 35,731,046 โดส เริ่มเห็นอุบัติการณ์ลดลง แต่เดิมประชากรโลกติดเชื้อราว 6 แสนรายต่อวัน ตอนนี้ ลงมาเหลือราว 3 แสนราย ขณะเดียวกัน ผู้เสียชีวิตจากเดิมราว 12,000 รายต่อวัน เหลือราว 7,000 - 9,000 รายต่อวัน ประเทศที่ควบคุมได้ดี คือ ประเทศกลุ่มที่ฉีดวัคซีนไปอันดับต้นๆ

“สถานการณ์ของโลกโดยรวมดีขึ้น ปัจจัยสำคัญน่าจะเป็นจากการที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากและเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีหลากหลายประเทศที่ประชากรของประเทศได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสมากกว่า 50% ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นชัดเจนถึงการลดลงของอัตราการเสียชีวิต รวมถึงการลดลงของจำนวนผู้ป่วยใหม่ในแต่ละวัน”

ข้อมูลจาก WHO แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อย 25% ของประชากรในประเทศใดประเทศหนึ่งได้รับการฉีดวัคซีน จะเริ่มเห็นผลบวกของการฉีดวัคซีน แม้ว่าในขณะนี้ ประซากรโลกได้รับวัคซีนแล้วรวมกว่า 25% (ประชากรโลก 7,674 ล้านคนในปี พ.ศ. 2562 และวัคซีนขณะนี้ฉีดแล้วกว่า 2,303 ล้านโดส) แต่การกระจายของวัคซีน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง ประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย ยังมีอัตราการได้รับวัคซีนค่อนข้างต่ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • อิสราเอล สหรัฐฯ เริ่มผ่อนมาตรการ

ทั้งนี้ หากมองในบางประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี เช่น “อิสราเอล” ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่อประชากรมากที่สุด รัฐบาลเริ่มประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุม/ป้องกันโควิด-19 เช่น ยกเลิกการใส่หน้ากากนอกอาคาร  ขณะที่ “สหรัฐอเมริกา” กฎเกณฑ์ในแต่ละรัฐไม่เหมือนกัน หน้ากากยังมีความจำเป็นสำหรับทุกคนที่อยู่ในอาคารสาธารณะที่มีคนเข้าออกจำนวนมาก

ขณะที่นอกอาคาร คนที่ฉีดวัคซีนครบ สามารถไม่ใส่หน้ากากได้ ยกเว้นในพื้นที่ที่มีคนอยู่จำนวนมาก เช่น สนามกีฬา สำหรับคนที่ยังไม่ฉีดหรือฉีดไม่ครบจะต้องใส่หน้ากาก ขณะเดียวกัน ต้องระวัง หากไม่สามารถรักษาระยะห่าง และหน้ากากยังจำเป็นต้องใช้ “สหราชอาณาจักร” วานนี้ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร จากเดิมที่เคยจะผ่อนคลายจะต้องเลื่อน เพราะตอนนี้สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) กำลังก่อปัญหา

  • จับตา 4 สายพันธุ์ 'โควิด-19'

จะเห็นว่าสายพันธุ์โควิด-19 กลายพันธุ์ ที่จับตาขณะนี้มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ B.1.1.7 สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แพร่ระบาดเร็ว และระบาดไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ขณะนี้มีหลักฐานว่ากำลังกลายพันธุ์อีก , B.1.351 สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) แพร่ระบาดเร็ว และระบาดไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสหราชอาณาจักร มีคุณลักษณะอาจหลุดจากระบบภูมิคุ้มกัน

B.1.617.2 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) แพร่ระบาดเร็ว เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) นอกจากในอินเดียแล้ว กำลังแพร่ระบาดมากในสหราชอาณาจักร และ P.1 สายพันธุ์แกมมา (บราซิล) แพร่ระบาดเร็ว และระบาดไปกว่า 10 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสหราชอาณาจักร มีคุณลักษณะอาจหลุดจากระบบภูมิคุ้มกัน

  • 'แอสตร้าเซนเนก้า' ใช้มากที่สุดในโลก

ขณะที่ วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้มากที่สุด คือ 'แอสตร้าเซนเนก้า' 102 ประเทศ ไฟเซอร์ 85 ประเทศ สปุตนิก วี 68 ประเทศ โมเดอร์นา 49 ประเทศ ซิโนฟาร์ม 47 ประเทศ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 44 ประเทศ และ 'ซิโนแวค' 26 ประเทศ

162377242091

 

  • รายงานศึกษา 'แอสตร้าเซนเนก้า'

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึง รายงานความปลอดภัยของวัคซีน โดยระบุว่า 'แอสตร้าเซนเนก้า' รายงานจากสหราชอาณาจักร นับจนถึงวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 24.5 ล้านคน ซึ่งไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ส่วนใหญ่เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงและมักหายไปภายใน 24 ชม. เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ มีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อาการเหล่านี้สามารถดีขึ้นได้โดยทานยาพาราเซตามอล อาการเหล่านี้พบได้ในการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ เช่นกัน และไม่ได้เกิดจากการได้รับไวรัสโควิด-19 เข้าไป ประสิทธิภาพต่อเชื้อสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ประมาณ 60%

นับจนถึงวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำขึ้น 372 คน ในผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ารวม 24.5 ล้านคน (0.0015% หรือ 15 คนต่อผู้ได้รับวัคซีน 1 ล้านคน) หากคิดตามจำนวนโดสหรือจำนวนครั้งของการฉีดพบเกิด 372 ครั้งหลังจากฉีดวัคซีนรวม 40.2 ครั้งโดส (0.0009% หรือ 9 ครั้งต่อการฉีด 1 ล้านครั้ง) ในจำนวนนี้ เสียชีวิตรวม 66 คน (ประมาณ 2.7 คนต่อผู้ได้รับวัคซีน 1 ล้านคน)

หน่วยงานของสหราชอาณาจักรที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของยา/วัคซีนที่ใช้ในสหราชอาณาจักร Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency (MHRA) เสนอให้มีการวิจัยเพื่อหาสาเหตุการเกิดลิ่มเลือดและภาวะเกร็ดเลือดต่ำหลังการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามข้อมูลสรุปว่าวัคซีนมีความปลอดภัยสูงมาก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19

  • 'ซิโนแวค' วัคซีนตัวล่าสุดที่ WHO รับรอง

ขณะที่ 'ซิโนแวค' ได้รับการอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินจาก WHO เมื่อ วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเกณฑ์การประเมินครอบคลุมทั้งข้อมูลของการใช้และการลงเยี่ยมดูกระบวนการผลิต The Strategic Advisory Group of Experts on Immunization (SAGE) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรึกษาของ WHO เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าร่วมในการประเมินและรับรอง

ผลข้างเคียงที่พบ คือ ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน (13-21%) อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว ปวดกล้ามเนื้อทั่วไป อาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 2 วัน สำหรับไข้ พบน้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่น ข้อสรุปของ WHO คือ สามารถฉีดได้ในคนสูงอายุ (ไม่จำกัดอายุสูงสุดที่จะได้รับวัคซีนนี้) ประสิทธิภาพต่อเชื้อสายพันธุ์ P.1 สายพันธุ์แกมมา (บราซิล) ในการป้องกันการเกิดอาการประมาณ 50%

  • 'วัคซีนโควิด-19' ฉีดมาก ลดอัตราตาย

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ สรุปว่า การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรจำนวนมากและเร็ว มีส่วนสำคัญในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อ'โควิด-19' และลดอัตราการเสียชีวิต ชัดเจนเมื่อประชากรในประเทศได้รับวัคซีนเกิน 50% วัคซีนต่อเชื้อโควิด-19 มีความปลอดภัยสูง ขณะนี้ฉีดแล้วกว่า 2,303 ล้านโดส การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 บางสายพันธุ์อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง

“แต่เนื่องจากสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศมีหลากหลาย ดังนั้น การฉีดวัคซีนยังมีประโยชน์มาก มาตรการส่วนบุคคล ใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่คนหนาแน่น ยังมีประโยชน์มากกับการป้องกันเชื้อในทุกสายพันธุ์” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าว