ส.ภัตตาคารไทยยื่นหนังสือถึง 'บิ๊กตู่' ขอขยับเวลานั่งทานในร้านเป็น 5 ทุ่ม

ส.ภัตตาคารไทยยื่นหนังสือถึง 'บิ๊กตู่' ขอขยับเวลานั่งทานในร้านเป็น 5 ทุ่ม

“สมาคมภัตตาคารไทย” ยื่นหนังสือถึงนายกฯ “ประยุทธ์” ขอขยับเวลานั่งทานอาหารในร้านเป็น 5 ทุ่ม ปิดร้านเที่ยงคืน จากปัจจุบันให้นั่งถึง 3 ทุ่ม ปิดร้าน 5 ทุ่ม พร้อมขอขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารที่มีมาตรฐานสูงกำกับในพื้นที่ 4 จังหวัดสีแดงเข้ม

ชี้ถ้ารัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน คาดร้านอาหารอีกจำนวน 5 หมื่นรายต้องปิดกิจการในอีก 2-6 เดือนข้างหน้า

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า สมาคมฯได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อขอเรียกร้องผ่อนคลายมาตรการควบคุมร้านอาหาร ดังนี้

1.ขยายระยะเวลานั่งรับประทานอาหารในร้านของพื้นที่ 4 จังหวัดเข้มงวดและควบคุมสูงสุด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ถึงเวลา 23.00 น. และให้ปิดร้านในเวลา 00.00 น. จากปัจจุบันให้นั่งถึงเวลา 21.00 น. และสั่งกลับบ้านถึง 23.00 น.

2.เพิ่มจำนวนที่นั่งในร้านของพื้นที่ 4 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยใช้การแบ่งระดับตามมาตรการป้องกันของทางร้าน 50% ของพื้นที่ร้านสำหรับร้านที่ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่ ศบค.กำหนด (Thai Stop Covid) และ 80% สำหรับร้านอาหารที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ World Travel & Tourism Council (WTTC) ให้การยอมรับ และเมื่อมีมาตรฐานสูง ดังนั้นจึงขออนุญาตให้ร้านอาหารที่มีมาตรฐานขั้นสูงสุด สามารถจำหน่ายและบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ ทั้งนี้พฤติกรรมของลูกค้าที่มาใช้บริการร้านอาหารจะเป็นการนั่งดื่มในวงจำกัดของแต่ละโต๊ะที่มาด้วยกัน และจะใช้เวลาในการรับประทานอาหารอยู่ในร้านเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมง

นอกจากนี้สมาคมฯยังได้ยื่นข้อเสนอเยียวยาเร่งด่วน ได้แก่

1.จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือทางการเงินเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับภัตตาคารและร้านอาหาร ประกอบด้วยคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งซาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตัวแทนจากผู้ประกอบการร้านอาหาร เนื่องจากที่ผ่านมามาตรการทางการเงินมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสำหรับผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหารอย่างมาก เพราะมาตรการทางการเงินที่ออกมาเป็นการมองภาพรวมโดยใช้ฐานปัญหาของธุรกิจอื่น และธนาคารพาณิชย์มักจะไม่นำเสนอข้อมูลสินเชื่อตามมาตรการของรัฐให้กับผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหารทราบ และใช้เงื่อนไขของธุรกิจอื่นๆ มาเป็นเกณฑ์พิจารณา

2.ออกมาตรการให้เจ้าของห้างสรรพสินค้า และผู้ให้เช่าที่ตั้งร้านลดค่าเช่าอย่างน้อย 50% เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน โดยให้เจ้าของที่ดินอาคาร บุคคลทั่วไป ที่ให้ร้านอาหารเช่า สามารถนำส่วนลดไปลดหย่อนภาษีในรอบบัญชีถัดไป เพื่อจูงใจให้เกิดการลดค่าเช่าตามมา โดยรัฐไม่ต้องจ่ายชดเชย

3.งดการจัดเก็บภาษีรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา สำหรับธุรกิจร้านอาหาร

4.ยืดระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป 6 เดือน

5.ขอให้รัฐบาลงดจัดเก็บภาษีโรงเรือนจากเจ้าของธุรกิจร้านอาหารเป็นเวลา 1 ปี

6.ลดค่าน้ำ ค่าไฟ 30% ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

และ 7.มีมาตรการจ่ายค่าแรงคนละครึ่ง โดยให้พนักงานสามารถเบิกส่วนอีกครึ่งจากประกันสังคมหรืออื่นๆ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

“จนถึงปัจจุบันผ่านมาเป็นระยะเวลามากกว่า 40 วันแล้วที่ร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมถึงพื้นที่ควบคุมสูงสุดให้ความร่วมมือปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการของ ศบค.ด้วยดี แต่ร้านอาหาร 50,000 ราย ต้องปิดกิจการเพราะขาดทุน รวมทั้งร้านอาหารส่วนใหญ่ที่ยังเปิดให้บริการอยู่ล้วนแต่อยู่ในสภาพขาดทุน ต้องแบกต้นทุนต่างๆ อาทิ ต้นทุนการผลิต ต้นทุนแรงงาน ต้นทุนค่าเช่า ต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟ ต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อนำมาหมุนเวียนกิจการ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนจะมีร้านอาหารจำนวน 50,000 รายต้องปิดกิจการในอีก 2-6 เดือนข้างหน้านี้ จะก่อให้เกิดปัญหาเลิกจ้างงาน ห่วงโซ่ซัพพลายเชนหยุดลง และนอกจากการถูกจำกัดจำนวนที่นั่งในร้าน ถูกจำกัดระยะเวลาให้บริการนั่งรับประทานในร้าน การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ” นายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าว