อย. พร้อมหนุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม ‘กัญชง-กัญชา’

อย. พร้อมหนุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม ‘กัญชง-กัญชา’

อย.พร้อมสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ “กัญชา-กัญชง” ขอให้ศึกษารายละเอียด ประกาศ หลักเกณฑ์ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.64 นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชา ออกมาสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับการแปรรูปกัญชา กัญชง เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ยังติดขัดในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการขออนุญาตนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ได้ออกกฎหมายรองรับการปลดล็อก กัญชา กัญชง ให้สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้แล้ว กรณีการนำไปใช้ในเครื่องสำอาง กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกำหนดเงื่อนไขการใช้น้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชงส่วนของกัญชาส่วนของกัญชง  รวมทั้งสารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (จากกัญชาและกัญชง) แล้วและเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค คณะกรรมการเครื่องสำอางยังได้ออกประกาศให้แสดงคำเตือนที่ฉลากของเครื่องสำอางดังกล่าวด้วย

รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร อย. ได้จัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 โดยปลดล็อค กัญชา กัญชง ที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ให้สามารถนำมาใช้ในอาหาร ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 425) พ.ศ. 2564 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชงให้สามารถนำเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชงมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารซีเรียล เบเกอรี่ เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ส่วนน้ำมันจากเมล็ดกัญชง ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ทาขนมปัง เป็นต้น ทั้งนี้ ให้ใช้ในปริมาณตามเงื่อนไขที่กำหนด และอยู่ในระหว่างจัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ และ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 

ในส่วนของผลิตภัณฑ์สมุนไพร  มีคำแนะนำสำหรับการขออนุญาตลผลิตภัณฑ์สมุนไพร 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. ตำรับยาจากสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของใบและกิ่งก้านกัญชา ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ ยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไข้ผอมเหลือง ยาแก้ลมแก้เส้น ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง และยาแก้โรคจิต
  2. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรชนิดใช้ภายนอก ที่ใช้ใบ ลำต้น กิ่ง ก้าน ราก สารสกัดกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบที่ไม่ใช่สารออกฤทธิ์
  3. ชาสมุนไพรจากใบกัญชา กัญชง 

อย่างไรก็ตาม การขออนุญาตแต่ละผลิตภัณฑ์ ให้ศึกษารายละเอียด และดาวน์โหลดเอกสาร ประกาศ คำชี้แจง คำแนะนำ รวมถึงหลักเกณฑ์ในการจดแจ้งเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชาและกัญชง การขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้จาก www.fda.moph.go.th ขอคำปรึกษาได้ที่ อย. ซึ่ง อย. พร้อมสนับสนุน อำนวยความสะดวก เพื่อส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง ไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อนำรายได้สู่ชุมชนและประเทศชาติ รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด