ธปท.ชี้ ยอดเบิกใช้ 'เงินสด' เม.ย.ทุบสถิติ ปชช.แห่ตุนเงิน รับโควิดระลอก3

ธปท.ชี้ ยอดเบิกใช้ 'เงินสด' เม.ย.ทุบสถิติ ปชช.แห่ตุนเงิน รับโควิดระลอก3

ธปท.ชี้ยอดใช้จ่ายเงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเม.ย. ทำสถิติสูงสุด ขณะที่หากดูม.ค.-เม.ย.64 พบยอดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่ม 2.1% หรือ กว่า 4.4หมื่นล้าน หลังพบประชาชนแห่ตุน-สำรองเงินรองรับความไม่แน่นอนจากโควิด ระลอก3

     นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า หากดูยอดการใช้เงินสดหมุนเวียนในระบบของเดือนเม.ย. 2564 มูลค่า 2,132,165 ล้านบาท

.    ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา อีกทั้งหากเทียบกับตั้งแต่ต้นปี จนถึงสิ้นเดือนเม.ย. 2564 พบว่า มูลค่าธนบัตรออกใช้หมุนเวียนเพิ่มขึ้น 2.1% หรือ 44,323 ล้านบาท แต่หากดูมูลค่าธนบัตรออกใช้หมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนม.ค. -เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ก็ยังถือว่าน้อยกว่ามูลค่าที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดียวกันของปี 2563

      ทั้งนี้หากดูการใช้เงินสดของประชาชน หลักๆมี 2 รูปแบบด้วยกัน คือการใช้จ่ายและการถือครองสำรองเก็บไว้ สำหรับการใช้จ่ายเงินสดเพื่อซื้อสินค้านั้น พบว่ามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประชาชนเปลี่ยนไปใช้การชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment เพิ่มขึ้น และคาดว่าแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

    

    ส่วนการถือครองและสำรองเก็บเงินสดนั้น โดยทั่วไปจะเพิ่มขึ้นในยามที่ประชาชนมีความไม่มั่นใจกรณีมีเหตุการณ์ไม่ปกติ และส่วนใหญ่จะเป็นการสำรองเก็บธนบัตรชนิดราคาสูง สอดคล้องกับยอดการใช้เงินสดที่เพิ่มขึ้นในเม.ย. และตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.ปีนี้ ที่พบว่าส่วนใหญ่เป็นผลมาจากธนบัตรหมุนเวียนชนิดราคา 1000 บาท ที่มีการเบิกจ่ายเพิ่มมากขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19

       “ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถึงแม้ว่าประชาชนจะใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง แต่เนื่องจากมีความไม่แน่นอน ประกอบกับการเดินทางไปเบิกถอนเงินสดทำได้ไม่สะดวกเท่ากับช่วงปกติ จึงพบว่าประชาชนมีการเก็บสำรองธนบัตรชนิดราคา 1000 บาทเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด 19 ระลอกแรก ในปีที่ผ่านมา ส่วนเม.ย.ที่ผ่านมา ประชาชนบางส่วนยังคงมีการสำรองเงินสดเพิ่มขึ้นบ้าง แต่น้อยลงหากเทียบกับโควิดรอบแรก”นายสมบูรณ์กล่าว

      ทั้งนี้ในช่วงโควิด-19 ระลอก 3 แม้ว่าธนบัตรหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น แต่การใช้จ่ายเงินสดลดลง ตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ
     รวมถึงแนวโน้มการใช้ e-Payment ที่เพิ่มมากขึ้น จากมาตรการช่วยเหลือรัฐ ผ่านแอพฯ “เป๋าตัง” และคาดว่ายอดการใช้เงินผ่านดิจิทัล จะเข้ามาทดแทนการใช้เงินสดได้บางส่วนในอนาคต ทั้งนี้ประชาชนบางส่วนยังมีการเก็บสำรองเงินสดเพื่อรองรับความไม่แน่นอน
       ส่วนแนวโน้มปี 2564 คาดว่ายอดการเบิกจ่ายเงินสดจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากประชาชนเปลี่ยนไปใช้การชำระเงินผ่าน e-Payment มากขึ้น และไม่ได้มีการสำรองเงินสดเป็นปริมาณมากเหมือนกับในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระลอกแรก ในปี 2563