'สปสช.' รับเรื่องเยียวยา ผู้สื่อข่าวหลังมารดา 'ฉีดวัคซีนโควิด-19 เสียชีวิต'

'สปสช.' รับเรื่องเยียวยา ผู้สื่อข่าวหลังมารดา 'ฉีดวัคซีนโควิด-19 เสียชีวิต'

รองเลขาธิการ 'สปสช.'รับเรื่องเยียวยาเบื้องต้น ผู้สื่อข่าวเคเบิ้ลทีวีหลังมารดา 'ฉีดวัคซีนโควิด-19 เสียชีวิต' ย้ำขอแสดงความเสียใจ ไม่มีใครต้องการให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แต่ขอให้มั่นใจว่ารัฐหาวัคซีนที่ดีที่สุดในขณะนี้มาให้และถ้าเกิดผลกระทบอะไรจะช่วยดูแล

วันที่ 14 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับผลกระทบจากอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด 'วัคซีนโควิด-19' จากผู้สื่อข่าวของช่องเคเบิ้ลทีวีรายหนึ่งใน กทม. ที่มายื่นคำร้องที่ 'สปสช.'เขต 13 กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เนื่องจากมารดาของผู้สื่อข่าวรายดังกล่าว ได้เสียชีวิตลงหลังจากไปรับ 'วัคซีนโควิด-19' เข็มแรกเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มารดาของผู้สื่อข่าวรายนี้มีอายุ 78 ปี มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง แต่ไม่มีประวัติแพ้ยาใดๆ เข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเช้าวันที่ 11 มิ.ย.2564 เมื่อกลับบ้านแล้ว เช้าวันต่อมาพบว่ามีอาการนั่งนิ่ง เรียกไม่ตอบ หมดสติ จึงนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ก็เสียชีวิตในที่สุด ซึ่งทางครอบครัวมั่นใจว่าเป็นผลจากการฉีดวัคซีน เพราะผู้เสียชีวิตมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

  • หลัง 'ฉีดวัคซีนโควิด-19 เสียชีวิต'

ผู้สื่อข่าวรายนี้ กล่าวว่า ทางครอบครับยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการฉีดวัคซีน มีความเข้าใจและยอมรับผลกระทบ เช่น อาการไข้ ปวดหัว เป็นต้น แต่การสูญเสียแบบนี้คงไม่มีใครยอมรับได้ อย่างไรก็ตามเมื่อสูญเสียแล้วทางครอบครัวก็ต้องยอมรับและอยากให้ทางรัฐยอมรับครอบครัวด้วยว่าการที่เกิดเหตุสูญเสียขึ้นนี้ ทางครอบครัวมีความตั้งใจร่วมมือฉีดวัคซีนและการสูญเสียเป็นผลจากวัคซีน ซึ่งเมื่อได้รับคำยืนยันจาก 'สปสช.' ว่าจะดำเนินการเรื่องการช่วยเหลือก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นมากบ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีใครต้องการให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ส่วนในเรื่องการเยียวยานั้น ต้องแยกกระบวนการพิสูจน์ว่ามาจากวัคซีนหรือไม่ ส่วนนี้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการซึ่งกว่าจะทราบผลก็ใช้เวลาพอสมควร ขณะที่ส่วนของ 'สปสช.' จะเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งเงินชดเชยเยียวยาเบื้องต้นจะไม่ได้พิสูจน์ถูกผิด ไม่ได้รอผลการตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร

แต่เมื่อใดก็ตามที่รับวัคซีนแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์หรือได้รับความเสียหายหรือสูญเสียก็จะรีบช่วยเหลือทันที โดยแบ่งการพิจารณาเป็น 3 สี คือ เขียว เหลือง แดง สีเขียวเจ็บป่วยต่อเนื่อง เช่น ไปฉีดวัคซีนแล้วคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ต้องไปนอนโรงพยาบาลดูอาการ 1-2 วัน เพดานเยียวยาไม่เกิน 1 แสนบาท สีเหลืองมีอาการรุนแรงถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ เพดานเยียวยาไม่เกิน 2.4 แสนบาท และสีแดงถึงขั้นเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร เพดานเยียวยาไม่เกิน 4 แสนบาท

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า หากมีผู้ฉีด 'วัคซีนโควิด-19' แล้วได้รับความเสียหาย สามารถยื่นเรื่องได้ 3 จุดคือ โรงพยาบาลที่ไปฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่ของ 'สปสช.' อย่างเช่นในกรณีนี้ที่มายื่นที่ 'สปสช.' เขต 13 กทม.ก็จะส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการพิจารณาความเสียหลายหลังฉีดวัคซีนของ 'สปสช.' เขต 13 กทม. พิจารณาภายใน 5 วัน

"ช่วงนี้เป็นช่วงที่เรากำลังรณรงค์ให้ฉีด 'วัคซีนโควิด-19' กันเยอะๆเพื่อป้องกันการระบาด อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้เป็นของใหม่ สถิติที่ฉีดไปตอนนี้ 6.1 ล้านโดส มียื่นเรื่องเข้ามาประมาณ 500 ราย ส่วนมากเป็นอาการเล็กน้อย สีแดงมีประมาณ 10 ราย เมื่อเกิดเหตุเราก็จะดำเนินการการอย่างตรงไปตรงมาและรวดเร็ว ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลหาวัคซีนที่ดีที่สุดในขณะนี้มาให้ และถ้าเกิดผลกระทบอะไรรัฐบาลก็จะดูแล" ทพ.อรรถพร กล่าว