‘ปิยบุตร’อ่านเกม‘รีเซ็ต’ ทฤษฎีสมคบลดขนาด‘พรรคสีส้ม’

‘ปิยบุตร’อ่านเกม‘รีเซ็ต’  ทฤษฎีสมคบลดขนาด‘พรรคสีส้ม’

"อาจจะมีฉันทามติร่วมกันของนักการเมืองแบบรุ่นเก่าที่คงจะไม่ยอมให้มีพรรคแบบอนาคตใหม่หรือก้าวไกลที่จะเติบโตขึ้นมากลายเป็น 100 กว่าเสียง........ถ้าจะมีก็ขังไว้สัก 30 40 50 ไม่เกินนี้ "

ความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองที่ดูเหมือนจะสอดรับ“สัญญาณ” ยุบสภาเพื่อนำไปสู่การรีเซ็ตการเมือง เวลานี้มีการจับตาไปที่เงื่อนไขและกติกาโดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ ณ เวลานี้ ที่อาจส่งผลไปถึงสมการการในอนาคต

ความเห็น “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า มองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านรายการ“สุดกับหมาแก่” ดำเนินรายการโดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22

เริ่มที่ประเด็นการส่งสัญญาณ เตรียมพร้อมเลือกตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมว่า เรื่องนี้ต้องมองจากการแก้รัฐธรรมนูญเป็นหลัก มากกว่าสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์หรือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯระบุ มองว่าหัวใจสำคัญของการแก้รัฐธรรมนูญคือ เรื่องของการเลือกตั้งเรื่องอื่นเอามาเป็นเพียงเครื่องประดับเพื่อทำให้เห็นว่าแก้เรื่องอื่นไม่ใช่แก้เรื่องเพื่อตัวเอง

การแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เป็นเพราะพปชร.มองออกแล้วว่าจากกติกาที่คุณออกแบบมาเพื่อที่จะไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้ส.ส. เยอะ มาวันนี้มันเข้าตัวคุณเองแล้ว พปชร.คิดว่าตัวเองจะได้เป็นพรรคใหญ่เป็นพรรคไทยรักไทยเหมือนปี 2544 หรือ 2548 จึงอยากแก้กติกาให้กลับมาเป็นเหมือน2540คือส.ส.เขต 400 คนและบัญชีรายชื่อ 100คน

"รัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐคงเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งตัวเองจะได้แลนสไลด์เกิน 200 เสียงก็จะแก้ปัญหาการที่มีพรรคร่วมรัฐบาล 20กว่าพรรค ได้ไม่ต้องเจอปัญหาพรรคอันดับ 2 ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลคอยทิ่มแทงตัวเองอยู่ตลอดเวลานี่คือวิธีคิด" 

จึงคิดว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญที่พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรกำลังทำ เพราะถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญเขาก็จะไม่ยอมเลือกตั้ง ทำเช่นนี้ได้ประโยชน์ถึง 2 ทางทางแรกคืออาจจะได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียวโดยที่ไม่ต้องเจอปัญหาพรรคอันดับ 2 อันดับ 3 หรืออีกทางหนึ่งคือเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้เสียงส.ว.อีกต่อไปฃ

หากเป็นไปตามนี้นี่คือการรับรองอำนาจอีกรอบหนึ่งของคุณประยุทธ์ซึ่งมีการรับรองอำนาจติดกันมาถึง 3 ครั้ง

- เชื่อหรือไม่ว่าเขาจะเกิดแรงสไลด์อย่างที่มีการคาดการณ์กัน?

ผมเชื่อว่าการที่เขาจะยุบหรือไม่นั้น เขาคำนึงถึงตนเองเป็นหลัก ถ้ายุบแล้วเขาจะได้กลับมาอีก แต่ในอดีตเราก็เคยได้เห็นแล้วว่าความมั่นใจในการยุบสภาแล้วจะได้กลับมากลับไม่เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างล่าสุดคือพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งปี2554 ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องประเมินเช่นเดียวกันคือกระแสของรัฐบาลว่าเป็นเช่นไร

อีกสิ่งหนึ่งที่ไว้วางใจไม่ได้คือกลไกรัฐ คณะก้าวหน้าเองก็มีบทเรียนมาแล้วตั้งแต่การเลือกตั้งส.ส.จนกระทั่งมาถึงการเลือกตั้งอบจ.ที่ทำให้รู้ว่ามีระบบหรือสัญญาณสั่งมาแล้วคะแนนมาทันที หลายคนพูดกับเราตรงๆว่าเชียร์อยู่แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ได้เช่นนี้เป็นต้นยังไม่นับรวมกับนโยบายประชานิยมถ้าเขาทำได้สำเร็จโอกาสแลนสไลด์ยังมี

“การเลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นการวัดกันแล้วว่าตกลงแล้วเราจะให้ประเทศนี้อยู่กับคนกลุ่มนี้หรือว่าเราอยากจะเปลี่ยนความอัดอั้นตันใจที่ทุกคนได้ประสบพบเจอ ถ้าไม่อยากมาชุมนุมก็สามารถแสดงออกโดยพร้อมเพียงกันได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า” 

-ครั้งหน้าถ้าเขาได้เล่นสไลด์และได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งจะยอมรับได้หรือไม่?

ก็ต้องสู้กันต่อไประบอบประชาธิปไตยไม่ใช่จบกันแค่ที่การเลือกตั้ง ไม่ได้หมายความว่าประเทศนี้มีประชาธิปไตย ฉะนั้นก็ต้องสู้กันต่อโดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ

ส่วนตัวมองว่าคงไม่ใช่การปรับเปลี่ยนใหญ่เช่น การปรับจากรัฐธรรมนูญ 60 มาเป็นรัฐธรรมนูญ 40 ผมคิดว่าเขาไม่ยอมอย่างแน่นอนแต่เขาเลือกที่จะแก้ในประเด็นที่เขาได้ประโยชน์ ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลแต่หัวใจสำคัญคือรัฐธรรมนูญ

อีกฝั่งเขามองว่าถ้าการเลือกตั้งครั้งถัดไปเขามาแบบแลนสไลด์นั่นหมายความว่าประชาชนเป็นผู้ตัดสิน?

เลขธิการคณะก้าวหน้า มองว่า ถือเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องไม่ใช่ว่าพอเลือกตั้งแล้วทุกอย่างต้องจบ โดยเฉพาะจากฝ่ายค้านหากเป็นฝ่ายค้านจริงเราก็ต้องไปสู้ต่อเพื่อให้ได้กติกาซึ่งเป็นที่ยอมรับ ประชาธิปไตยมันเป็น unfinished project คือสู้ไปเรื่อยๆ

“การรีเซ็ตครั้งนี้ใช่แค่เรื่องฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลเป็นไปได้ว่ามันอาจจะมีฉันทามติร่วมกันของนักการเมืองแบบรุ่นเก่าที่คงจะไม่ยอมให้มีพรรคแบบอนาคตใหม่หรือก้าวไกลที่จะเติบโตขึ้นมากลายเป็น 100 กว่าเสียงอันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับฝ่ายค้านหรือรัฐบาลแต่อาจเป็นฉันทามติของนักการเมืองแบบเดิมที่มองว่าถ้ามีแกะดำพวกนี้มาอยู่เยอมากเกินไปมันปั่นป่วนกันหมดแต่ถ้าจะมีก็ขังไว้สัก 30 40 50 ไม่เกินนี้”

-มองพรรคของคนรุ่นใหม่เช่นก้าวไกลเขาควรมองจังหวะก้าวเดินของตัวเองอย่างไรในบริบทเกมของ3ป.?

ในอนาคตเชื่อว่าจะมีการขีดเส้นใหม่จะไม่ใช่แค่2549 หรือปัจจุบันมีคนที่เชียร์รัฐบาลไม่เชียร์รัฐบาล แต่ครั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องเก่าหรือเรื่องใหม่ที่มากกว่าคำว่ารัฐประหารขึ้นอยู่กับวิธีการรณรงค์หาเสียง

จึงเชื่อว่าข้างหน้าจะเริ่มเปลี่ยนแน่นอนแนวทางของคนรุ่นใหม่ อาจจะยังไม่เยอะพอแต่จะใช้เวลาค่อยๆเติมไปเรื่อยๆจึงเห็นว่าเวลานี้พรรคอย่างพรรคก้าวไกลเดินมาถูกทาง

-เวลาสังคมพูดถึงพรรคก้าวไกลเขาจะมองภาพของเด็กหัวร้อนกลุ่มหนึ่งซึ่งออกมาเคลื่อนไหว ในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับปากท้องมองตรงนี้อย่างไร?

เท่าที่ดูวันนี้พรรคก้าวไกลก็ล้วนแต่มีขุนพล เช่น คุณศิริกัญญา ตันสกุล ก็ดูเรื่องเศรษฐกิจ คุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ก็ดูเรื่องขุดคุ้ยกองทัพหรือ คุณวรภพ วิริยะโรจน์ที่มักจะพูดถึงเรื่องเอสเอ็มอี เท่าที่ดูเขาก็พูดถึงเรื่องปัญหาปากท้องพอสมควร เพียงแต่ว่าภาพที่ออกไปพอพูดถึงพรรคก้าวไกลก็จะนึกถึงเรื่องใหญ่ๆในเชิงโครงสร้าง

เรื่องนี้อาจเป็นบทเรียนที่พรรคก้าวไกลจะต้องกลับมาคิดว่าเหตุใดสิ่งที่คุณพูดเรื่องเหล่านี้ถึงไม่ออกไปสู่ประชาชนถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่พรรคก้าวไกลจะต้องกลับไปแก้ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจว่า เรื่องปากท้องกับเรื่องโครงสร้างเป็นเรื่องที่โยงกัน

“ตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่จนเป็นก้าวหน้าและมีเพื่อนบางคนไปอยู่พรรคก้าวไกล ผมคิดว่าธงอุดมการณ์ความคิดหรือแก่นอันนี้ยึดให้มั่น ส่วนวิธีการการสื่อสารแนวทางอันนี้ต้องปรับตามสถานการณ์เราต้องยอมรับว่าการเมืองของประเทศไทยมีวัฒนธรรมแบบเดิมที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนานอยู่ดีๆคุณโผล่เข้ามาแล้วคุณบอกว่าคุณใหม่ไม่ทำแบบที่เขาทำปัญหามันก็จะเกิด”

เลขาฯคณะก้าวหน้านยังมองว่า ตั้งแต่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ก็มีพี่น้องพรรคก้าวไกลมาพูดคุยซึ่งสิ่งหนึ่งที่ตนดีใจคือคนมักจะคิดว่ายุบพรรคอนาคตใหม่ไปแล้วไม่มีธนาธรไม่มีปิยบุตรพรรคก้าวไกลจะไปต่อไม่ได้ แต่ในทางกลับกันเราได้เห็นผลงานของสสในสภาฯมีดาวดวงใหม่เกิดขึ้นเชื่อว่าเขาน่าจะไปต่อได้

“ครั้งหน้าไม่รู้ว่าจะไปมากขึ้นกว่าเดิมหรือเท่าเดิมหรือน้อยลงแต่แน่ๆพรรคก้าวไกลในความเห็นผมจะต้องเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่เป็นความคิดแบบใหม่ๆแต่อาจจะต้องใช้เวลาไปเรื่อยๆ”

-สังคมไทยมีอัตลักษณ์อย่างหนึ่งคือโหยหาอัศวินมองตรงนี้อย่างไร?

อันที่จริงหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวคุณพิธา(ลิ้มเจริญรัตน์)เองทำการเมืองมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทยยุคแรกๆ โดยเฉพาะกับอดีตรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ถือว่ามีประสบการณ์ทางการเมือง

ซึ่งสิ่งที่ผมมองเขามองว่าเขาเป็นคนเปิดกว้างและพร้อมเรียนรู้หลายคนยอมรับว่าเขามีความเป็นผู้นำเพียงแต่เราอย่าเอามาตรฐานธนาธรไปวัดว่าผู้นำของพรรคก้าวไกลคนต่อๆไปจะต้องเหมือนธนาธร

ส่วนที่สังคมยังมองว่ายังไม่มีความเหมาะสมตรงนี้ตัวคุณพิธาและทีมงานจะต้องนำไปปรับแก้

-มีความหวังกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่?

ก็เคารพกันในทางการเมืองผมมองพรรคเพื่อไทยว่าต้องให้เครดิตเขาในแง่ที่ว่าตั้งแต่ไทยรักไทยเขาเปลี่ยนการเมืองจากเดิมที่เป็นการเมืองในลักษณะเลือกอะไรก็ได้ กลายเป็นเลือกเพื่อนโยบาย เลือกเพื่อเป็นรัฐบาลมีเสถียรภาพแล้วส่งมอบนโยบายที่หาเสียงได้

ผมพูดกับเพื่อนๆอยู่เสมอว่ารัฐบาลสุดท้ายที่สามารถเปลี่ยนประเทศได้ในการเลือกตั้งน่าจะเป็นรัฐบาลคุณทักษิณ(ชินวัตร)และจะไม่มีอีกแล้วเพราะระบบนี้เขาจะไม่อนุญาตให้ให้คุณใช้ การเลือกตั้งมาเปลี่ยนประเทศได้อันนี้คือคุณูปการของเขาแต่สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องปรับซึ่งผมเห็นเขากำลังทำอยู่นั่นคือเขาต้องเติมเลือดใหม่เข้าไป

มองว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองจะดีขึ้นถ้าพรรคเพื่อไทยเอาคนใหม่เข้าไปประชาธิปัตย์เอาคนใหม่เข้าไปก้าวไกลก็มีคู่แข่งก็จะต้องสปีดตัวเองในขณะเดียวกันภาพรวมทั้งหมดก็จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาเปลี่ยน

“นักการเมืองพรรคการเมืองมีปัญหาจริงๆ แต่ถ้าเราบอกว่านักการเมืองทุกคนไม่มีความหวังเลยห่วยแตกกันหมดเลยมันจะไปเข้าทางของระบอบอำนาจนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยสุ ดท้ายคุณก็จะไปหาอรหันต์ที่ไหนก็ไม่รู้มาปกครองประเทศและสนับสนุนการยึดอำนาจแบบเดิม”