ย้อนรอย ‘ปันผล’ 10 แบงก์ ปี 2563

ย้อนรอย ‘ปันผล’ 10 แบงก์ ปี 2563

เปิดสถิติ ปันผลของธนาคาร 10 แบงก์ ปี 63 หลังธปท.ไฟเขียว ให้แบงก์กลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลปี 64 ได้ หลังสั่งงดจ่าย จากผลกระทบโควิดกว่า 1ปีที่ผ่านมา พบ TISCO จ่ายปันผลสูงสุดที 6.30 บาทต่อหุ้น ถัดมา BBL-KBANK จ่ายที่ 2.50 บาทต่อหุ้น

162356786136       สถานการณ์แบงก์ เริ่มกลับมา “คึกคัก” อีกรอบ หุ้นแบงก์เด้งเขียวทั้งกระดาน จากก่อนหน้า เข้าโหมดซึมไปนาน ตั้งแต่เกิดไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 กว่า 1ปีที่ผ่านมา

       หลังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ไฟเขียว ให้แบงก์กลับมาจ่าย ‘ปันผลระหว่างกาล’ของปี 2564 ได้ จากเดิมที่เคยปรกาศให้งด การจ่ายปันผลระหว่างการไปเมื่อเกิดโควิด-19 ใหม่ เพื่อให้แบงก์มีสภาพคล่องเพียงพอในการรองรับวิกฤติและรองรับการดูแลลูกค้าอย่างทั่วถึง
      การกลับมา “อนุญาต”ให้แบงก์กลับมาจ่ายปันผลได้รอบนี้ ธปท.ระบุว่า แม้จะอนุญาตปันผลระหว่างกาลได้ แต่ยังคงอัตราการจ่ายเงินปันผล โดยไม่เกินปี 2563 และไม่เกิน 50% ของครึ่งปีแรก 2564 เช่น หากสถาบันการเงินมีกำไร 100 ล้านบาท แบงก์จะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ไม่เกิน 50ล้านบาท และต้องไปดูว่า ที่ผ่านมา จ่ายเงินปันผลได้แค่ไหน หากจ่ายอยู่ที่ 30% ของกำไรสุทธิ การจ่ายปันผลระหว่างกาลก็ต้องไม่เกิน 30% เท่านั้น
        อีกทั้ง ปัจจุบัน สถาบันการเงิน มีสำรองเพียงพอ ในการรองรับสถานการณ์โควิดแล้ว จากการระมัดระวังและเพิ่มเงินกองทุนให้อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้ปัจจับนเงินกองทุนต่อสินทัพย์เสี่ยงหรือ BIS ของแบงก์ทั้งระบบขึ้นมาสู่ 20%

         ขณะที่สำรองต่อเอ็นพีแอล ก็พบว่า สูงถึง 150% ขณะที่ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ปัจจุบันสูงถึง 180% เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 100%
        ซึ่งเหล่านี้จะช่วยรองรับเสถียรภาพของแบงก์ในระยะข้างหน้า และเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงินด้วย แต่การจ่ายปันผลทั้งปี 2564 ธปท.จะมีการพิจารณา และติดตาม ก่อนจะพิจารณาในไตรมาส 4ปีนี้ได้
       ดังนั้น ด้วยความแข็งแกร่งเพียงพอของแบงก์ ก็ถือว่าสมเหตุสมผลที่ เห็นควรให้แบงก์กลับมาจ่ายปันผลระหว่างกาลได้อีกครั้ง จากที่งดไป1ปีเต็มๆ

         หากย้อนดูอัตราการจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ปี 2563 ที่ผ่านมา สำหรับ10ธนาคารพาณิชย์ พบว่า แบงก์ที่มีการจ่ายเงินปันผลสูงสุด ในปี 2563 แบงก์แรกต้องยกให้ ธนาคารทิสโก้(TISCO) ที่มีการจ่ายปันผลสูงลิวถึง 6.30 บาท ซึ่งคิดเป็นการจ่ายเท่ากับ 83.2%ของกำไรสุทธิปี2563
         ถัดมาคือธนาคารกสิกรไทย(KBANK) และธนาคารกรุงเทพ(BBL) ที่จ่ายเงินปันผลเท่ากัน ที่ 2.50 บาท โดย BBL จ่ายอยู่ที่ 30.53% ของกำไรสุทธิ และ KBANK จ่ายเท่ากับ23.73% ของกำไรสุทธิ

     ตามด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่จ่ายปันผลทั้งปีอยู่ที่ 2.30 บาท หรือ 28.1%ของกำไรสุทธิ ตามด้วยธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP)ที่ถือว่าแม้จะเป็นแบงก์ขนาดกลาง แต่ก็จ่ายไม่น้อยหน้า หากเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดย KKP จ่ายอยู่ที่ 2.25 บาท หรือคิดเป็น 37.19 %ของกำไรสุทธิ
      ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) จ่ายปันผลอยู่ที่ 0.35 บาท หรือคิดเป็น 31.55% และ ธนาคารกรุงไทย(KTB) ที่ 0.27 บาทต่อหุ้น หรือ 28.93%ของกำไรสุทธิ

       ตามด้วย TTB ที่จ่ายอัตราเงินปันผลที่ 0.045 ต่อหุ้น หรือ 33.8% ขณะที่ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ หรือ (LHFG) จ่ายปันผลอยู่ที่ 0.040บาท ต่อหุ้น หรือ 85.25% ของกำไรสุทธิ และสุดท้ายคือธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT) จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.005 บาทต่อหุ้น

         ซึ่งอัตราการจ่ายปันผลปี 2563 นี้ จะสามารถนำไปคาดการณ์อัตราการจ่ายปันผลระหว่างกาลของปี 2563 ได้ เพราะ การกำหนดการจ่ายปันผลระหว่างกาลปีนี้ เกณฑ์คือ ต้องไม่เกิน กำไรของปี 2563 ทั้งปี และไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิครึ่งปีแรก 2564