ไขข้อสงสัย! ทำไมปีนี้ เดือนมิถุนายน 'อากาศร้อน' กว่าเมษายน?

ไขข้อสงสัย! ทำไมปีนี้ เดือนมิถุนายน 'อากาศร้อน' กว่าเมษายน?

ชวนหาคำตอบเกี่ยวกับสภาพอากาศในปีนี้ ทำไมเกิดปรากฏการณ์ "อากาศร้อน" มากผิดปกติในเดือน พ.ค.-มิ.ย.64 ทั้งๆ ที่ตามปกติแล้ว ช่วงอากาศร้อนที่สุดของไทยมักเกิดขึ้นในเดือนเมษายน

หลายคนคงรู้สึกเหมือนกันว่า ปีนี้ "สภาพอากาศ" แปลกๆ ไป นั่นคือช่วง "อากาศร้อน" ยาวนานกินเวลาจากเดือนเมษายน มาจรถึงต้นเดือนมิถุนายน 2564 โดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อนที่สุดมาพีคในเดือนพฤษภาคม ไม่ใช่เดือนเมษายนอย่างที่คุ้นเคย 

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

1. ประเทศไทยเกิดปรากฏการณ์ "อากาศร้อน" มากผิดปกติ

นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน์ทรัพยากรน้ำ(สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ระบุถึงประเด็นนี้ว่า ปีนี้ประเทศไทยเกิดปรากฏการณ์ "อากาศร้อน" มากผิดปกติ ในเดือนพฤษภาคม-ต้นมิถุนายน 2564

แม้ว่า "กรมอุตุนิยมวิทยา" ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 แต่ฝนในเดือนพฤษภาคมนั้น กลับมีปริมาณน้อยกว่าฝนในเดือนเมษายน ยิ่งพอเข้าสู่ต้นเดือนมิถุนายน ฝนก็ยิ่งน้อยลงมาก ทำให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านลงมาบนพื้นผิวดิน จึงเกิดความร้อนสะสม ไม่ว่าจะเป็นบนพื้นถนน และตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ จึงเป็นสาเหตุให้อากาศร้อนผิดปกตินั่นเอง

2. กรุงเทพฯ "อากาศร้อน" พุ่งไม่หยุด

โดยเฉพาะในเมืองที่มีตึกสูงจำนวนมาก เช่น กรุงเทพมหานคร เมื่อได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่ บวกกับกระแสลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่เป็นลมฤดูฝนพัดมาน้อยลง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เดือนพฤษภาคม- มิถุนายน 2564 ร้อนกว่าเดือนเมษายนที่ผ่านมา

3.   ความกดอากาศต่ำส่งผลให้ "อากาศร้อน" ผิดปกติ

นอกจากนี้ยังพบว่า ในบางช่วงที่มีอากาศร้อนมาก นั่นเป็นเพราะมีความกดอากาศต่ำ ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ท้องฟ้ามีเมฆน้อยมาก หรือบางพื้นที่ไม่มีเมฆมาบังแสงอาทิตย์เลย จึงทำให้อากาศที่ร้อนอยู่แล้ว ยิ่งทวีความร้อนมากขึ้นไปอีก

ปีนี้ทุกประเทศทั่วโลกได้รับอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศไม่ต่างกัน โดยช่วงต้นปี โลกได้รับอิทธพลจากปรากฏการณ์ "ลานีญา" ที่มีฝนเยอะ และต่อมาปรากฏการณ์ลานีญา ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นกลาง คือ ฝนค่อยๆ น้อยลง จึงทำให้มีอากาศร้อนขึ้นในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก

ที่มา : springnews