"สมาพันธ์เอสเอ็มอี" เสนอ 4 มาตรการช่วยรายย่อย หนุนตั้งกองทุน4แสนล้านแก้เอ็นพีแอล

"สมาพันธ์เอสเอ็มอี" เสนอ 4 มาตรการช่วยรายย่อย หนุนตั้งกองทุน4แสนล้านแก้เอ็นพีแอล

"สมาพันธ์เอสเอ็มอี" เล็งเสนอ 4 มาตรการ ตั้งกองทุนอุ้มเอสเอ็มอีเสี่ยงเอ็นพีแอล 4 แสนล้าน ซื้อสินทรัพย์ราคาเป็นธรรม หนุนให้ฟื้นตัวพ้นวิกฤติ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า จากการระบาดของโควิดรอบ 3 ในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมามาก ดังนั้นสมาพันธ์ฯ จึงได้จัดทำแผนช่วยเหลือเอสเอ็มอี เพื่อนำเสนอให้กับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมกันจัดทำแผนช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะประกอบด้วย 4 เรื่อง หลัก ๆ ได้แก่ 1. กองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอล เพื่อเข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ ไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้ได้แล้ว โดยดึงหนี้ในกลุ่มนี้เข้ามาในกองทุน ให้กองทุนเข้าไปซื้อทรัพย์สินในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้เอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะหากปล่อยให้ธนาคารขายสินทรัพย์ทอดตลาด อาจจะได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ลูกหนี้เอ็นพีแอลฟื้นตัวกลับมาได้ยาก ซึ่งกองทุนนี้ควรจะมีเม็ดเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งกองทุนนี้ยังมีหน่วยงานเข้าไปช่วยลูกหนี้เอนพีแอลให้ฟื้นตัวกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งการช่วยปรับปรุงการดำเนินงาน การช่วยเหลือเงินทุน เป็นต้น

“ในระหว่างการชำระหนี้ธนาคารได้คืนเงินต้น และดอกเบี้ยไปบางส่วนแล้ว ทำให้อาจจะขายทอดตลาดในราคาต่ำกว่าความเป็นจริงก็ได้ เพื่อให้ได้เงินเข้ามาเร็ว เพราะได้กำไรไปแล้ว ดังนั้นควรจะมีกองทุนเข้ามาซื้อหนี้เอ็นพีแอลด้วยราคาที่เป็นธรรม ช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีเหล่านี้ฟื้นตัวกลับมาได้เร็วขึ้น”

ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบัน ภาระหนี้ของเอสเอ็มอีเพิ่มสูงขึ้นมาก เห็นได้จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่าในไตรมาส 1 ปี 2564 เอสเอ็มอีทั้งระบบมีหนี้สินกับสถาบันการเงิน 3,292,457 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ระดับกล่าวถึงพิเศษ หรือหนี้ที่เริ่มผิดนักชำระระดับสีเหลือง 432,563 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13% เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด-19 ที่มีจำนวน 174,044 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 150% มีหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล 241,734 ล้านบาท สัดส่วน 7% เพิ่มขึ้นจากไรมาส 4 ปี 2562 ที่มีจำนวน 233,162 ล้านบาท ซึ่งหากหนี้ในกลุ่มสีเหลือที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ไม่สามารถประคองธุนกิจต่อไปได้ก็จะทะลักเข้ามาสู่กลุ่มหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอีกมาก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระยะยาว

“ตัวเลขที่หล่าวมาขั้นต้น เป็นการสำรวจก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิดรอบ 3 ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 2 และ 3 ตัวเลขหนี้สีเหลือที่ผิดนัดชำระหนี้จะสูงกว่านี้มาก และตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลก็จะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ จะต้องออกมาโดยเร็ว เพื่อป้องกันตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลพุ่งสูงขึ้นมาก”

2. การจัดตั้งกองทุนอัดฉีดเงินช่วยเอสเอ็มอี โดยการนำกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ขึ้นมาดำเนินการใหม่ ซึ่งขณะนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ร่วมมือกับกระทรรวอุตสาหกรรมร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ พ.ศ.... ไว้แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายฉบับนี้อย่างเร่งด่วน โดยกองทุนนี้ควรมีเม็ดเงินเบื้องต้น 5 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท เพื่อนำมาทดลองระบบ หากประสบผลสำเร็จก็ควรจะเพิ่มเงินให้กองทุนนี้ในระดับ 4 แสนล้านบาท เพื่อครอบคลุมการช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มสีเหลือที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ที่มีวงเงินประมาณ 4.32 แสนล้านบาท

กองทุนพัฒนาวิสาหกิจฯนี้ จะพิจารณาปล่อยสินเชื่อด้วยวิธีพิเศษ ต่างจากระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีความผ่อนปรนมากกว่าการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ โดยใช้สาขาของธนาคารรัฐทั่วประเทศกระจายสินเชื่อ และเข้าไปให้ความรู้เอสเอ็มอีในการปรับปรุงกิจการ ระบบบัญชี เพื่อให้นำเงินกู้ไปใช้ตามเป้าหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งกองทุนนี้จะช่วยเอสเอ็มอีไม่ต้องไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ

“กองทุนนี้จะมีระบบพี่เลี้ยงเข้ามาดูแลเอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อ เพื่อเข้าไปฟื้นฟูกิจการ ให้คำปรึกษาในการนำเงินไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ ปรับปรุงการดำเนินงาน การบริหารจัดการ และระบบบัญชีให้ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เข้มแข็งขยายกิจการต่อไปได้”

3. การออกมาตรการพักต้น พักดอกเบี้ย ที่พักหนี้อย่างแท้จริงไม่มีการคิดดอกเบี้ยใดๆ เป็นเวลา 3-12 เดือน ตามศักยภาพของแต่ละกิจการ เพื่อให้เอสเอ็มอีตัวเบา หลังจากระยะเวลาดังกล่าว ก็สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ตามปกติ หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เอสเอ็มอีกลุ่มสีเหลือง หรือกลุ่มที่เริ่มมีปัญหา เนื่องจากเอสเอ็มอีส่วนใหญ่โดยเฉพาะภาคบริการประสบปัญหาขากสภาพคล่องอย่างรุนแรง ซึ่งหากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือพักหนี้ และเสริมวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ก็จะช่วยให้ประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงานไปจนจบโควิดในรอบนี้ได้

4. มาตรการแปลงโอกาสเป็นทุน โดยการสนับสนุนให้ธนาคารรับใบคำสั่งซื้อของเอสเอ็มอีมาแปลงเป็นเงินกู้ได้ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนในการนำไปซื้อสินค้าวัตถุดิบมาผลิตส่งมอบให้ลูกค้า โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ และให้ บสย. ค้ำประกัน ซึ่งจะพิจารณาเครดิตสกอร์ และประสานงานกับธนาคารอื่นเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ซึ่งขณะนี้ธนาคาก็เริ่มให้สินเชื้อใบคำสั่งซื้อที่เอสเอ็มอีขายให้กับห้างสรรพสินค้ารายใหญ่แล้ว แต่ควรขยายไปยังห้างขนาดเล็ก ธุรกิจอื่น ๆ รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

“สมาพันธ์เอสเอ็มอี มั่นใจว่าทั้ง 4 มาตรการนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีกำลังที่จะฝ่าฟันวิกฤตโควิดในครั้งนี้ไปได้ ลดอัตราการเกิดหนี้เอ็นพีแอล และยังเป็นส่วนสำคัญในการดึงเอสเอ็มอีที่เป็นขนาดเล็กมากและขนาดเล็กเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีไทยเข็มแข็งได้ในระยะยาว”