“อุตฯ-แรงงาน”เร่งฉีดวัคซีนป้องกันระบาดในโรงงาน กนอ. ดีเดย์ 1 ก.ค. ฉีด 4 แสนคน

“อุตฯ-แรงงาน”เร่งฉีดวัคซีนป้องกันระบาดในโรงงาน กนอ. ดีเดย์ 1 ก.ค. ฉีด 4 แสนคน

กระทรวงอุตสาหกรรม – แรงงาน เร่งออกมาตรการป้องกันการระบาดของโควิดในโรงงาน ด้าน 'สุริยะ' ขู่ปิดโรงงานที่ไม่รับผิดชอบตัวเองหากพบความเสี่ยง 'สุชาติ' มั่นใจ ส.ค.ฉีดวัคซีนครบ 11 ล้านคน กนอ. ตั้งจุดฉีดพื้นที่เสี่ยง 8 จุด ฉีดแรงงานในนิคมฯกว่า 4 แสนคน 1 ก.ค.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถึงมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ว่า ได้หารือถึงมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงานว่าด้วยหลักการ ออนไลน์-ออนไซต์-อัพเกรด-วัคซีน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้โรงงานทั่วประเทศกว่า 64,000 แห่ง แรงงานรวม 3.3 ล้านราย ประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ไทย สต็อป โควิด พลัส ทุกสองสัปดาห์ และให้พนักงานประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม ไทยเซฟไทย ก่อนเข้าปฏิบัติงานทุกครั้ง ตั้งเป้าให้โรงงานทุกแห่งดำเนินการภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เบื้องต้น 3,300 แห่งที่มีแรงงานรวม 1.9 ล้านคน ส่งแบบประเมินตนเองแล้ว 1,722 ราย หลังจากนี้จะเร่งดึงทั้งหมดประเมินตนเอง ทั้งนี้หากพบว่าโรงงานใดที่มีความเสี่ยงแต่ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กระทรวงฯกำหนด จนเกิดการกระบาด อาจพิจารณาใช้กฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรมสั่งปิดโรงงานที่ทำผิดซ้ำซาก

สำหรับการฉีดวัคซีนให้ภาคอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการ โดยกนอ.และกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเร่งจัดตั้งศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนให้พื้นที่นิคมฯ เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงานมากกว่า 2,000 คน ประมาณ 27 แห่ง อาทิ นิคมฯสินสาคร นิคมฯสมุทรสาคร นิคมฯอมตะซิตี้(ชลุบรี) นิคมฯมาบตาพุด นิคมฯบางกะดี โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการเร่งฉีดวัคซีน และดูแลภาคอุตสาหกรรมให้สามารถผลิตสินค้าได้เต็มที่เพื่อรองรับออเดอร์ที่จะเข้ามาปริมาณมากในช่วงไตรมาส3(กรกฎาคม-กันยายน2564) และไตรมาส4(ตุลาคม-ธันวาคม2564) จากตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ที่คำสั่งซื้อขยายตัวมากกว่า 10%

162340942467

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนม.33 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 11 ล้านคน ภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 กระทรวงแรงงานจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งกระจายฉีดวัคซีนในพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีแรงงานอยู่หนาแน่น โดยจะเร่งในกลุ่มที่ 1 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน ที่ได้เริ่มฉีดวัคซีนไปแล้วตั้งแต่เดือนมิ.ย.นี้  มีจำนวนแรงงาน 2,465,405 ราย กลุ่มที่ 2 เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูง และเป็นจังหวัดเศรษฐกิจที่สำคัญมีโรงงานหนาแหน่น 11 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร , นครปฐม , เชียงใหม่ , ปทุมธานี , นนทบุรี , สมุทรปราการ , เพชรบุรี และพระนครศรีอยุธยา มีแรงงานทั้งสิ้น 2,275,227 ราย ซึ่งจะเริ่มฉีดในเดือนก.ค. คาดว่าจะฉีดได้ทั้งหมดภายใน 45 วัน หรือภายในเดือนส.ค.นี้ กลุ่มที่ 3 ในอีก 65 จังหวัดที่เหลือ จะปูพรมฉีดในเดือนส.ค.นี้ มีจำนวนแรงานทั้งหมด 1,481,877 ราย

“กระทรวงแรงงานตั้งเป้าที่จะฉีดวัซีนให้กับผู้ประกันตนทั้งหมด 11 ล้านราย ภายในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาตรงตามที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรมก็มั่นใจว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ส่วนกรณีการประกาศหยุดฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนม.33 เป็นการชั่วคราว และจะเปิดฉีดอีกครั้งวันที่ 28 มิถุนายนั้น สาเหตุมาจากกระทรวงแรงงานพบปัญหาหลังบ้านการประสานข้อมูลระหว่างฝ่ายบุคคลของแต่ละบริษัทที่ส่งข้อมูลความต้องการฉีดวัคซีนโดยไม่กรองผู้ที่ฉีดกับกรุงเทพมหานครแล้ว ทำให้การฉีดจริงเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน มีแรงงานจำนวนหนึ่งปฏิเสธเพราะรับวัคซีนแล้ว ทำให้กระทรวงแรงงานต้องกลับมาเคลียร์หลังบ้านใหม่ทั้งหมด เพื่อการจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถกลับมาเริ่มฉีดได้จริงตั้งแต่วันที่ 21-22 มิถุนายนนี้ แต่ที่แจ้งวันที่ 28 มิถุนายน เพราะต้องการเผื่อเวลาแจ้งข้อมูลให้แรงงานมีเวลาเตรียมตัว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. จะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในนิคมฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ ซึ่งในขณะนี้นิคมฯ ทั้งหมดมีแรงงานที่ต้องการวัคซีน จำนวน 677,619 ราย เป็นนิคมฯในพื้นที่สีแดงที่ระบาดสูง 438,429 ราย โดยได้จัดจุดฉีดวัคซีนไว้ใน 8 พื้นที่ ได้แก่ นิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรี 200,079 ราย นิคมฯบางพลี สมุทรปราการ 26,532 ราย นิคมฯมาบตาพุด 26,457 ราย นิคมฯสมุทรสาคร 24,457 ราย และนิคมฯสินสาคร 13,910 ราย สวนอุตสาหกรรมบางกระดี 26,400 ราย เวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา 61,911 ราย และนิคมฯลาดกระบัง 58,678 ราย ซึ่งในนิคมฯนี้ได้เริ่มทยอยฉีดวัคซีนไปแล้ว

โดยทั้ง 8 จุดนี้ คิดเป็นแรงงานในนิคมฯทั้งประเทศประมาณ 50% และมีมูลค่าการลงทุนกว่า 80% มีศักยภาพการฉีดได้ประมาณ 8 พันคนต่อวัน คาดว่าจะฉีดวัคซีนได้ครบภายในเดือนส.ค. หลังจากนั้นจะขยายฉีดในอีก 6 จุดในพื้นที่นิคมฯ ที่เหลือมีแรงงานอีกประมาณ 4 แสนคน ก็จะครอบคลุมแรงงานในพิคมฯกว่า 80% ซึ่งในจัดนวนแรงงานนิคมฯเหล่านี้ บางส่วนทางโรงงานก็ได้จัดหาวัคซีนฉีดให้กับแรงงานของตัวเองไปแล้วบางส่วน ซึ่ง กนอ. จะสำรวจเพื่อให้ได้ยอดที่แท้จริงของผู้ที่ต้องการวัคซีน และจะเร่งทยอยฉีดให้ทั่วถึงเร็วที่สุด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในส่วนของวัคซีนชิโนฟาร์ม ที่ ส.อ.ท. ประสานผ่านทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในล็อตแรกจะได้วัคซันฉีดให้กับแรงงาน 3 แสนคน จะเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป ซึ่งจะทยอยฉีดกับโรงพยาบาลที่ประสานความร่วมมือ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งเบาภาระการฉีดวัคซีนให้กับรัฐบาล