สุพัฒนพงษ์' เดินสายถกเอกชนสร้างแนวร่วมฟื้นวิกฤติโควิด

สุพัฒนพงษ์' เดินสายถกเอกชนสร้างแนวร่วมฟื้นวิกฤติโควิด

”สุพัฒนพงษ์” เดินสายพบภาคเอกชน รับข้อเสนอฟื้นธุรกิจ-เศรษฐกิจ “หอการค้า” ชงผ่อนเกณฑ์ให้แบงก์เพิ่มดุลยพินิจปล่อยซอฟต์โลน “สมาพันธ์เอสเอ็มอี” เล็งเสนอ 4 มาตรการ ตั้งกองทุนอุ้มเอสเอ็มอีเสี่ยงเอ็นพีแอล 4 แสนล้าน

รัฐบาลเตรียมแผนการใช้เงิน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินสายหารือเอกชนเพื่อฟังข้อเสนอการช่วยผู้ประกอบการและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเริ่มต้นประชุมรับฟังความเห็นหอการค้าไทย ไปเมื่อวันที่10 มิ.ย.ที่ผ่านมา และหลังจากนี้จะหารือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 5 สมาคม

 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การหารือกับรองนายกรัฐมนตรี ครอบคลุม 3 ประเด็น คือ1.การเร่งกระจายและฉีดวัคซีนให้ประชาชนเร็วที่สุด  2.การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ

3.การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะเข้าไม่ถึงซอฟต์โลนของภาครัฐ ซึ่งขอให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้สถาบันการเงินมีอิสระในการใช้ดุลยพินิจมากขึ้น โดยสถาบันการเงินมีกฎเกณฑ์ให้สินเชื่อจากหลายมิติไม่ใช่พิจารณาจากเครดิตบูโรอย่างเดียว รวมถึงการให้ผู้ประกอบการค้าปลีกคัดกรองและให้ข้อมูลผู้ขายแก่สถาบันทางการเงิน เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงได้ รวมทั้งให้ ธปท.ปลดล็อคให้ลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโรหรือเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ต้องผ่อนผัน เพื่อให้ฟื้นตัวได้เร็ว

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ ทำแผนช่วยเอสเอ็มอีเพื่อเสนอรองนายกรัฐมนตรี 4 ด้าน คือ 1.ตั้งกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอล เพื่อช่วยเอสเอ็มอีที่ปรับโครงสร้างหนี้ไม่ได้หรือไม่มีความสามารถจ่ายหนี้ โดยดึงหนี้กลุ่มนี้เข้ามาให้กองทุนเข้าซื้อทรัพย์สินเพื่อนำไปจ่ายซื้อหนี้ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้เอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลฟื้นตัวเร็ว เพราะถ้าให้ธนาคารขายทอดตลาดอาจได้ราคาต่ำ และทำให้ลูกหนี้เอ็นพีแอลฟื้นตัวยาก ซึ่งกองทุนนี้ควรมีวงเงิน 2 แสนล้านบาท รวมทั้งกองทุนนี้ยังมีหน่วยงานเข้าไปช่วยลูกหนี้เอนพีแอลให้ฟื้นตัวกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งการช่วยปรับปรุงการดำเนินงาน การช่วยเหลือเงินทุน

“ในระหว่างการชำระหนี้ธนาคารได้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยไปบางส่วน ทำให้ขายทอดตลาดราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อให้ได้เงิน จึงควรมีกองทุนเข้ามาซื้อหนี้เอ็นพีแอลด้วยราคาที่เป็นธรรม”

ทั้งนี้ ข้อมูล ธปท.ระบุว่าไตรมาส 1 ปี 2564 เอสเอ็มอีทั้งระบบมีหนี้สินกับสถาบันการเงิน 3.29 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ระดับกล่าวถึงพิเศษหรือหนี้ที่เริ่มผิดนักชำระระดับสีเหลือง 432,563 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13% เพิ่มจากไตรมาส 4 ปี 2562 ที่มี 174,044 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 150% มีหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล 241,734 ล้านบาท สัดส่วน 7% เพิ่มขึ้นจากไรมาส 4 ปี 2562 ที่มี 233,162 ล้านบาท ซึ่งหากหนี้กลุ่มสีเหลือที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ และจะทะลักสู่กลุ่มหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมาก

2.การตั้งกองทุนอัดฉีดเงินช่วยเอสเอ็มอี โดยการนำกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐมาดำเนินการใหม่ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ พ.ศ....แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายฉบับนี้ โดยควรมีเงินเบื้องต้น 5 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท เพื่อทดลองระบบและหากสำเร็จควรเพิ่มเงินเป็น 4 แสนล้านบาท เพื่อครอบคลุมเอสเอ็มอีกลุ่มสีเหลืองที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ โดยกองทุนดังกล่าวจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อด้วยวิธีพิเศษ ต่างจากระเบียบของ ธปท.และจะผ่อนปรนมากกว่าการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์

3.มาตรการพักต้นพักดอกเบี้ยแบบไม่คิดดอกเบี้ย 3-12 เดือน ตามศักยภาพแต่ละกิจการและหลังจากระยะเวลาดังกล่าวคิดอัตราดอกเบี้ยปกติหรือดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเอสเอ็มอีกลุ่มเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องซึ่งหากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือพักหนี้ และเสริมวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ก็จะช่วยให้ประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงานไปจนตบโควิดในรอบนี้ได้

4.มาตรการแปลงโอกาสเป็นทุน โดยให้ธนาคารรับใบคำสั่งซื้อของเอสเอ็มอีมาแปลงเป็นเงินกู้ได้เพื่อให้มีเงินทุนซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำและให้ บสย.ค้ำประกัน ซึ่งจะพิจารณาเครดิตสกอร์ ซึ่งขณะนี้ธนาคาก็เริ่มให้สินเชื้อใบคำสั่งซื้อที่เอสเอ็มอีขายให้ห้างสรรพสินค้าใหญ่แล้วแต่ควรขยายไปห้างขนาดเล็ก ธุรกิจอื่นและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

รายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้หารือกับ 5 สมาคมท่องเที่ยว ได้แก่ 1.สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว 2.สมาคมโรงแรมไทย 3.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ 4.สมาคมสปาไทย 5.สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย เพื่อเตรียมประเด็นที่จะเสนอรองนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวขอให้รัฐบาลพิจารณานำเงินกู้ 10,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท มาตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาท่องเที่ยว โดยให้กู้ภายใต้เงื่อนไขพิเศษให้ผู้ประกอบธุรกิจค้ำไขว้กัน ส่วนข้อเสนอช่วยค่าจ้างพนักงานเพื่อรักษาการจ้างงานและสภาพคล่อง โดยขอสนับสนุนให้รัฐช่วยจ่าย (โค-เพย์เมนต์) ที่อัตรา 50% ของค่าจ้างพนักงาน หรือไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท ขอให้ 5 สมาคมหารือกับหอการค้าไทย ซึ่งได้หารือกับคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน