อสังหาฯอีสานชงเปิด"เอ็นอีอีซี" สร้างเรียลเซกเตอร์ดึงกำลังซื้อต่างชาติ

อสังหาฯอีสานชงเปิด"เอ็นอีอีซี" สร้างเรียลเซกเตอร์ดึงกำลังซื้อต่างชาติ

นายกสมาคมอสังหาฯโคราชหนุนเปิด"เอ็นอีอีซี"สร้างเรียลเซกเตอร์ กำลังซื้อถาวรเพื่อดูดซับซัพพลาย ตามรอยโมเดลอีอีซี ดึงนักลงทุนไทย ต่างชาติเข้ามาลงทุนสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับภาคอีสาน

 จากผลการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงครึ่งหลังปี 2563 ของศูนย์อสังหาฯ พบว่า  ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในพื้นที่ภาคตะวันออกฉียงเหนือ 5 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม  มีจำนวนที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด 297 โครงการ จำนวน 13,500 ยูนิต มูลค่ารวม 47,535 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 250 โครงการ จำนวน10,620 ยูนิต มูลค่า 40,361 ล้านบาท และคอนโด47 โครงการ จำนวน 2,880 ยูนิต มูลค่า 7,174 ล้านบาท ขายออกไปได้ใหม่จำนวน 1,135 ยูนิต รวมมูลค่า 3,585 ล้านบาท   ในจำนวนดังกล่าวมียูนิตเหลือขายจำนวน 12,365 หน่วย รวมมูลค่าหน่วยเหลือขาย 43,350 ล้านบาท เป็นบ้านจัดสรร 9,677 ยูนิต และคอนโดจำนวน 2,688 ยูนิต              

  นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา  กล่าวว่า แม้ตลาดอสังหาฯในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีสต็อกเหลือขายอยู่แต่ แนวโน้มอสังหาฯภาคอีสานยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลังเป็นเรียลดีมานด์ที่ต้องการที่อยู่อาศัย ส่วนหนึ่งย้ายมาตามแหล่งงาน โดยแนวทางที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือการทำให้เกิดเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเหมือนกับ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  แต่เปลี่ยนมาเป็น "เอ็นอีอีซี"  (North-Eastern Economic Corridor) ซึ่งจะประกอบไปด้วย จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา(โคราช) จ. อุดรธานี

โดยจะได้รับสิทธิพิเศษในการลงทุนนักลงทุนไทยและชาวต่างชาติให้มาลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ การให้สิทธิพิเศษในการตั้งโรงงานเร็วขึ้น3-6 เดือนจากปกติต้องใช้เวลา 2-3ปี รวมทั้งสิทธิพิเศษทางด้านภาษีต่างๆ เช่นเดียวกับอีอีซี  ความคืบหน้าล่าสุดคือได้ยื่นเรื่องไปที่สภาพัฒนฯในการพิจารณาแล้ว หากสามารถดำเนินการได้จะสามารถดึงแรงงาน กำลังซื้อเข้ามาในภาคตะวันออกเฉียงดหนือได้มากขึ้น

  ขณะเดียวกันต้องการให้ภาครัฐขยายระยะเวลาในการเช่าเพิ่มขึ้นเป็น50ปีจากเดิม30ปี เพื่อดึงดูดการตัดสินใจซื้ออสังหาฯจากคนต่างชาติได้มากขึ้น เพราะการท่องเที่ยวเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวระยะสั้นเท่านั้น แต่หากชาวต่างชาติเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ยาวจะทำให้มีรายได้เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ถือเป็นนโยบาลที่รัฐควรจะรีบผลักดัน รวมทั้งสนับสนุนให้คนแต่งงานมีลูกกันมากขึ้น เพราะแนวโน้มคนเกิดลดลงมากจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยในอนาคต


  "ส่วนการอนุญาตให้คนต่างชาติซื้อบ้านได้ หากเป็นที่ระดับราคา10 ล้านบาทภาคอีสานไม่ได้ประโยชน์ ควรจะให้ตั้งแต่3  ล้านขึ้นไปเพราะต่างชาติที่มาเกษียณในประเทศไทยไม่ใช่คนรวยเสมอไป ถ้ากำหนด10 ล้านบาทคงจะได้ประโยชน์ไม่กี่จังหวัด ถ้าหากภาพรวมอสังหาฯทั้งประเทศ ขับเคลื่อนน่าจะกำหนด10ล้านบาทจะสูญเสียโอกาส"


นายวุฒิชัย ฉัตรชัยพลรัตน์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ขอนแก่น  กล่าวว่า ในปี2563 ยอดขายอสังหาฯขอนแก่นดีกว่าปี2562  ขณะที่ต้นปี2564 ลดลง แต่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาบ้านที่ขายดีจะอยู่ในระดับราคา2-3 ล้านบาท มีทั้งบ้านแฝดและบ้านเดี่ยว และที่สำคัญช่วงเวลานี้ผู้ประกอบการพยายามเปลี่ยนสต็อกให้เป็นเงินสดเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเพราะธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะเดียวกันช่วงนี้จะมีกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเปิดหมู่บ้ายขนาดเล็ก ซึ่งไม่ได้เป็นโครงการจัดสรร เกาะตามทางเข้าตำบล หมู่บ้าน บนถนเส้นรอง สามารถขายได้ในราคาถูก มีการขายผ่านออนไลน์  จำนวน 50-60  โครงการ โครงการละ 8 -10 ยูนิต   หากว่าคุณภาพการทำโครงการดีไม่มีปัญหา แต่เท่าที่ดูมีบางโครงมีปัญหาคุณภาพพื้นถนนจะเกิดปัญหาในอนาคต


นายจตุรงค์ ธนะปุระ อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี  กล่าวว่า ทิศทางตลาดไปเป็นไปตามผลการสำรวจว่ามีการเปิดตัวโครงการใหม่น้อยลง เนื่องจากของเก่ายังขายกันไม่หมด ประกอบกับผู้ประกอบการอสังหาฯในอุดรไม่ได้มีเงินทุนเหมือนในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ฉะนั้นเมื่อเปิดมาขายไม่ดีจึงสร้างน้อย ทำให้หน่วยบ้านจัดสรรบ้านที่ยังไม่ก่อสร้างเยอะ จะสต็อกแค่ตัวที่ดินอย่างเดียว  ขณะที่บ้านเดียวกับทาว์นเฮ้าส์จะขายดีในจ.อุดร ระดับราคาไม่เกิน3 ล้านบาท ส่วนทิศทางในการปรับตัวหลักๆ เน้นการระบายสต็อกที่มีอยู่ เพราะปัจจุบันกำไรอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่จะเป็นการมีสภาพคล่องสำรองไว้ได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งสัญญาณการชะลอตัวอสังหาฯ เริ่มมาตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (แอลทีวี) จนกระทั้งเกิดโควิด ทำให้ลูกค้าที่กู้ผ่านแต่เปลี่ยนใจไม่ซื้อบ้าน เพราะไม่มั่นใจว่าจะผ่อนไหว เป็นปัจจัยลบที่เกิดขึ้นหลังโควิด


ขณะเดียวกันมีปัจจัยบวก คือเมื่อเกิดโควิดคนย้ายกลับบ้านต่างจังหวัดมากขึ้น ช่วยเพิ่มจำนวนประชากรส่วนนี้ทำให้มีดีมานด์ใหม่เข้ามาเติม ส่วนปัจจัยเสี่ยงในอสังหาฯหลักคือเรื่องดอกเบี้ย  กำลังซื้อ ต้นทุนค่าก่อสร้างและนโยบายภาครัฐ  ดังนั้นช่วงเวลานี้ถ้ายังไม่มั่นใจควรเก็บทุนสำรองไว้ก่อนจนกว่ามีความมั่นใจค่อยกับมาลงทุนอีกครั้งเพราะลงทุนในจุดที่มั่นใจดีที่สุดถ้าใครกู้เพิ่มได้ให้กู้ไว้ก่อน