'แผนฉีดวัคซีน'เอเชียล่าช้าฉุดมาร์เก็ตแคป'ยูนิโคล่'

'แผนฉีดวัคซีน'เอเชียล่าช้าฉุดมาร์เก็ตแคป'ยูนิโคล่'

'แผนฉีดวัคซีน'เอเชียล่าช้าฉุดมูลค่าตลาด'ยูนิโคล่' โดยในมาเลเซีย ยูนิโคล่ปิดร้าน 49 แห่งเพราะผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนในญี่ปุ่นแบรนด์ยูนิโคล่ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่ออยู่ให้รอด

หลังจากมีมูลค่าทางตลาดแซงหน้าซาร่าในปีนี้ได้ไม่นานนัก ยูนิโคล่ ก็มีมูลค่าทางตลาดร่วงลงและตามหลังแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของยุโรปอย่าง ซาร่าขณะที่การรณรงค์ฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19ในหลายประเทศตะวันตกที่มีความคืบหน้ากว่าภูมิภาคเอเชียช่วยให้การปรับตัวเพื่อดำเนินชีวิตในรูปแบบนิวนอร์มอลหลังการล็อกดาวน์ของชาวตะวันตกเป็นไปอย่างง่ายดายและสะดวกมากขึ้น

มูลค่าทางตลาดของฟาสต์ รีเทลลิง บริษัทแม่ในญี่ปุ่นของยูนิโคล่ นับจนถึงวันพุธ(9 มิ.ย.)อยู่ที่กว่า 8.7 ล้านล้านเยนเพียงเล็กน้อย(79,400 ล้านดอลลาร์)น้อยกว่าอินดิเท็กซ์ บริษัทแม่ของซาร่า ค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นสัญชาติสเปนประมาณ 100,000 ล้านยูโร(121,000 ล้านดอลลาร์)

ฟาสต์ รีเทลลิงมีมูลค่าทางตลาดร่วงลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว ที่บริษัทสามารถมีมูลค่าทางตลาดแซงหน้าอินดิเท็กซ์ โดยช่วงนั้นบริษัทได้อานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจเอเชียแข็งแกร่ง ทำให้การรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในช่วงต้นๆทำได้ดีกว่าชาติตะวันตก จนกระทั่งมีการกระจายวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ไปยังตลาดหลักๆทั่วโลก ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

เว็บไซต์นิกเคอิ และไฟแนนเชียล ไทม์ ระบุว่า นับจนถึงวันพุธ อัตราการฉีดวัคซีนต่อประชาชน100 คนอยู่ที่ 103 โดสในสหราชอาณาจักร ส่วนประเทศตะวันตกอื่นๆอย่างสหรัฐ มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 91 โดสต่อประชาชน 100 คน เยอรมนี อยู่ที่ 66 โดสต่อประชาชน 100 คน

ส่วนในภูมิภาคเอเชีย มีอัตราส่วนการฉีดวัคซีนต่อประชาชน 100 คนต่ำมาก เช่นกรณีเกาหลีใต้ มีอัตราส่วน 20 โดสต่อประชาชน 100 คน ตามมาด้วยญี่ปุ่น 14 โดสต่อประชาชน 100 คน มาเลเซีย 11 โดส ต่อประชาชน 100 คน

ยังคงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าถึงวัคซีนของประชากรในประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนา โดยจำนวนการฉีดวัคซีนเมื่อจำแนกตามสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ พบว่าประเทศที่มีรายได้สูง ฉีดวัคซีนมากกว่าประเทศรายได้ต่ำอย่างชัดเจน

ในแง่ของชนิดวัคซีนที่แต่ละประเทศใช้ พบว่ามีการใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า/อ็อกซ์ฟอร์ดในกว่า 171 ประเทศ รองลงมาได้แก่ วัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทคใช้ใน 104 ประเทศ และวัคซีนของซิโนฟาร์มใช้ใน 54 ประเทศ

ทุกวันนี้ ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นของฟาสต์ รีเทลลิงมีตลาดหลักอยู่ที่จีน ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้ในเวลาไม่นานนักและทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เช่นในมาเลเซีย ยูนิโคล่ ปิดร้านชั่วคราวไปแล้ว 49 แห่งเพราะผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

ส่วนในเวียดนาม ร้านค้าปลีกแบรนด์ยูนิโคล่ ปิดตัวไป5จาก 8แห่ง เช่นเดียวกับในญี่ปุ่น ที่ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าแบรนด์ยูนิโคล่อยู่ในภาวะที่ต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักเพื่ออยู่ให้รอด เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ร้านค้าของยูนิโคล่มียอดขายจากสาขาเดิมร่วงลง 0.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถือเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือนของยอดขายจากสาขาเดิมเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.ปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยอดขายของสาขาเดิมปรับตัวร่วงลง 18.6%

“ยอดขายของฟาสต์ รีเทลลิงในประเทศพอไปได้ขณะที่โรคโควิด-19 ยังคงระบาดหนักแต่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป หลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ความต้องการในตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นที่มีหน้าร้านกำลังเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ซึ่งแนวโน้มนี้เป็นประโยชน์ต่ออินดิเท็กซ์มากกว่ายูนิโคล่” ไดโร มูราตะ นักวิเคราะห์จากเจพี มอร์แกน ซิเคียวริตีส์ ในญี่ปุ่น ให้ความเห็น

เมื่อวันพุธ อินดิเท็กซ์รายงานกำไรสุทธิไตรมาสแรกสิ้นสุดในเดือนเม.ย.อยู่ที่ 421 ล้านยูโร เทียบกับที่ขาดทุน 409 ล้านยูโรในปีก่อนหน้านี้อานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มด้านเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ โดยในไตรมาสแรกของปีที่แล้ว อินดิเท็กซ์ถูกบังคับให้ระงับการดำเนินงานสาขาทั่วโลกประมาณ 88% ในปีต่อมา สัดส่วนการปิดร้านลดลงเหลือแค่ 16%

ยิ่งไปกว่านั้น ยอดขายเสื้อผ้าแฟชันทางดิจิทัลในช่วงเดือนก.พ.-เม.ย.เพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมาช็อปปิ้งทางออนไลน์กันมากขึ้น

“การปรับตัวของเราที่หันมาใช้รูปแบบการทำงานแบบบูรณาการในทุกด้าน ตลอดจนการดำเนินกลยุทธเพื่อสร้างความแตกต่าง พึ่งพาดิจิทัลและใช้โมเดลการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนเริ่มให้ผลลัพธ์ที่ดีกับเราแล้ว”พาโบล อิสลา ประธานบริหารอินดิเท็กซ์ กล่าว

แต่ถึงแม้ขณะนี้ธุรกิจของฟาสต์ รีเทลลิงในเอเชียไม่ค่อยสดใสแต่บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นแห่งนี้ยังคงเชื่อมั่นว่าเอเชียยังคงเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับการเติบโตทางธุรกิจในระยะกลางถึงระยะยาว โดยช่วงปลายเดือนที่แล้ว ฟาสต์ รีเทลลิง ได้เปิดสาขาของยูนิโคล่ในจีนแห่งที่ 818 ถือว่ามีสาขามากกว่าในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยในญี่ปุ่นยูนิโคล่มีสาขา 810 แห่ง และบริษัทยังมีแผนเปิดสาขาเพิ่ม 100 แห่งในภูมิภาคขนาดใหญ่ของจีน รวมถึง ไต้หวัน และฮ่องกงในช่วงปีงบการเงินปัจจุบันจนถึงเดือนส.ค.ปีนี้

ขณะที่อินดิเท็กซ์ ก็เดินเกมรุกในตลาดเอเชียด้วยเช่นกัน โดยช่วงเดือนส.ค.ปีที่แล้ว บริษัทได้เปิดร้านค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นในกรุงปักกิ่ง