หุ้น IPO ครึ่งหลังจ่อเทรดคึกคัก ตลท.เชื่อกระแสตอบรับดี

หุ้น IPO ครึ่งหลังจ่อเทรดคึกคัก ตลท.เชื่อกระแสตอบรับดี

ตลท.เผย หุ้น IPO จ่อเทรดครึ่งปีหลังคึก เหตุ ก.ล.ต.อนุมัติไฟลิ่งแล้ว 4 บริษัท อยู่ระหว่างพิจารณา 19 บริษัท ขณะที่ 5 เดือน เข้าระดมทุนแล้ว 14 บริษัท มาร์เก็ตแคป 3.4 แสนล้าน เกินกว่าเป้าหมายต่อปีที่วางไว้เฉลี่ย 2.5 แสนล้าน

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 มีหุ้นน้องใหม่ (IPO) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) จำนวน 14 บริษัท พบว่า 13 บริษัท ราคาหุ้นสูงกว่าราคาขายไอพีโอมีเพียงบริษัทเดียวที่ราคาหุ้นปิดวันแรกต่ำกว่าราคาจอง คือ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) ขณะที่ บมจ.ที คิว อาร์ (TQR) ราคาปรับตัวขึ้นมากสุด 200% โดยเฉลี่ยแล้วราคาหุ้นไอพีโอ 5 เดือนปรับตัวเพิ่มขึ้น 75%

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 คาดว่าจะมีหุ้น IPO เข้ามาระดมทุนอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาส 3 และต้นไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของการเสนอขาย IPO ขณะที่กระแสตอบรับจากนักลงทุนคาดว่าจะยังดีต่อเนื่องจากช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา 

โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมีความพร้อมระดมทุนแล้ว 4 บริษัท คือ บมจ.มีนาทรานสปอร์ต (MENA), บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (SNNP), บมจ.เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว (SECURE) และ บมจ.เซนต์เมด (SMD) ซึ่งจะเข้า เทรดวันที่ 17 มิ.ย.2564 รวมถึงยังมีบริษัทที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) แล้วรออนุมัติอีก 19 บริษัท และคาดมีบริษัทยื่นไฟลิ่งเพิ่มอีก

162333864131

ทั้งนี้หุ้นที่เข้ามาระดมทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ จำนวน 14 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO (มาร์เก็ตแคป) มูลค่า 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประเมินเอาไว้ที่เฉลี่ย 2.5 แสนล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ SET จำนวน 6 บริษัท และการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai 8 บริษัท โดยหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO สูงสุดคือ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่ 2.08 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสนใจว่ามาร์เก็ตแคปของหุ้น IPO ของไทย เติบโตเกินกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ต่อเนื่องจากปี 2563 ที่มีมาร์เก็ตแคป 5.5 แสนล้านบาท แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสาเหตุคาดว่าเป็นผลจากที่ภาวะตลาดหุ้นไทยไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการระบาด ประกอบกับบริษัทที่เตรียมพร้อมเข้าจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วน และมีความต้องการใช้เงินพอดี ส่งผลให้ตัดสินใจเข้ามาระดมทุน

“ส่วนปี 2564 แม้ในประเทศจะพบการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 และ 3 แต่ภาวะตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้ถูกกระทบอย่างรุนแรง (Hard Hit) ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนเริ่มปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดได้แล้วในระดับหนึ่ง แตกต่างจากวิกฤตในอดีต เช่น วิกฤตน้ำท่วม วิกฤติการเมือง หรือวิกฤติสงครามการค้า ซึ่งภาวะตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ส่งผลให้การระดมทุน IPO ชะลอลงไปด้วย แต่สำหรับปีนี้ เมื่อสภาวะตลาดยังเอื้ออำนวย ผู้ประกอบการก็อยากเข้ามาระดมทุน”

นอกจากนี้ คาดว่าการรับรู้ (Awareness) ของนักลงทุนต่อหุ้น IPO ที่เพิ่มขึ้นจากในอดีต ประกอบกับหน่วยงานกำกับดูแล ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต.ต่างมีความเชี่ยวชาญในการทำดีล IPO เพิ่มขึ้น ปัจจัยบวกเหล่านี้ส่งผลให้ตลาด IPO ของไทยขยายตัวได้ดี ขณะที่ในระยะถัดไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเป้าหมายสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหุ้น IPO ให้แก่นักลงทุนหน้าใหม่ ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกให้แก่บริษัทที่มีความต้องการเข้ามาระดมทุนตลาดหุ้น

ในการนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับรูปแบบการนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) แก่ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศมาอยู่บนช่องทางดิจิทัล (ดิจิทัลโรดโชว์) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สะท้อนจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมรับฟังมากถึง 300 รายต่อครั้ง เพิ่มขึ้นจากการจัดโรดโชว์ผ่านช่องทางออฟไลน์ที่มีผู้เข้าร่วมงานได้เพียง 20 รายต่อครั้ง จากข้อจำกัดด้านสถานที่