5 สมาคมท่องเที่ยวรวมพลัง ‘One Voice’ จี้รัฐเร่งมาตรการพยุงธุรกิจ-กระตุ้นเดินทาง!

5 สมาคมท่องเที่ยวรวมพลัง ‘One Voice’  จี้รัฐเร่งมาตรการพยุงธุรกิจ-กระตุ้นเดินทาง!

หลังจากระดมสมองกันอย่างหนัก! ทาง 5 สมาคมท่องเที่ยวซึ่งประกอบด้วย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ สมาคมสปาไทย และสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย ได้ประชุมร่วมกับ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

เพื่อเสนอมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดยนอกเหนือจากข้อเสนอเพื่อพยุงภาคธุรกิจท่องเที่ยว เรื่องขอให้จัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยว” วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน พร้อมขอ “มาตรการช่วยค่าจ้างพนักงาน” เพื่อรักษาการจ้างงานและสภาพคล่อง ซึ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวขอสนับสนุนให้รัฐช่วยจ่าย (โค-เพย์เมนต์) ค่าจ้างที่อัตรา 50% ของค่าจ้างพนักงาน หรือไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ทั้ง 5 สมาคมยังได้ร่วมสะท้อนข้อเสนอ “มาตรการเร่งด่วน” ต่อรัฐบาลเป็นเสียงเดียว (One Voice) ได้แก่ 1.เรื่องการกระจายวัคซีน เร่งฉีดให้จังหวัดท่องเที่ยว โดยจัดสรรวัคซีนให้คนในพื้นที่รวมประชากรแฝงและชาวต่างชาติ 70% ในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวและเปิดรับนักท่องเที่ยวให้ได้เร็วที่สุด โดยเร่งฉีดให้กับบุคลากร ประเมินที่จำนวน 5.5 แสนคน คิดเป็นจำนวนวัคซีน 1.1 ล้านโดส พร้อมกระจายวัคซีนเพื่อสร้างความพร้อมให้กับเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ที่จะเปิดในไตรมาส 4 ตามรอย “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ซึ่งจะเริ่ม 1 ก.ค.นี้

2.เรื่องการจัดงานประชุมในพื้นที่สีแดงเข้ม ขอให้รัฐบาลอนุญาตให้จัดงานประชุมในโรงแรม โดยกำหนดจำนวนผู้ร่วมประชุมตามขนาดของห้อง เว้นระยะห่าง 2 เมตรต่อคน และอนุญาตให้บริษัทท่องเที่ยวและบริษัทรถจัดกรุ๊ปประชุมสัมมนา โดยโรงแรม บริษัทท่องเที่ยว และบริษัทรถต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของ SHA หรือ SHA Plus+ ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยวฯ

และ 3.เรื่องการลดเงื่อนไขเพื่อกระตุ้นตลาด ไม่กักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง, ขยายประเภทของวัคซีน เป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากประเทศต้นทาง, ลดวงเงินประกันการเดินทางจาก 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ ลงเหลือ 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ หรือลดวงเงินสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว และเดินหน้าส่งเสริมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” กับ “ทัวร์เที่ยวไทย”

“ปัจจุบันมีหลายประเทศแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นดีมานด์ (Demand Driven) และเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เช่น มัลดีฟส์ เม็กซิโก และตุรกี”

ขณะที่ข้อเสนออื่นๆ ต่อภาครัฐเพื่อพยุงภาคธุรกิจท่องเที่ยว ยังมีเรื่องการขอมาตรการ “ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า” พิจารณามาตรการการบรรเทาผลกระทบของผู้ใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย) โดยขอส่วนลดค่าไฟฟ้า 15% ตามใบแจ้งค่าไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 7 เดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ธ.ค.2564

พร้อมขอยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) และขอจ่ายตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง และยกเลิกการคิดค่าไฟในอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ TOU Tariff on Peak เวลา 09.00-22.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ ตามใบแจ้งค่าไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 7 เดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ธ.ค.2564 นอกจากนี้ยังขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระเงินค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง เป็นระยะเวลา 7 เดือน เริ่มตั้งแต่รอบบิลสำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือน มิ.ย.-ธ.ค.2564 โดยแบ่งชำระเป็นงวดและไม่เรียกเก็บดอกเบี้ย

ด้านมาตรการทาง “ภาษี” ในช่วงฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2565-2566 ขอให้พิจารณาขยายเวลาการอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิ (Tax Loss Carry Forward) จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 5 ปี เป็น 10 ปี ซึ่งบางประเทศในทวีปยุโรปถึงขั้นมีการพิจารณาอนุญาตให้สามารถนำผลขาดทุนไปใช้หักล้างในอนาคตได้แบบไม่จำกัดจำนวนปี เช่น เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก

นอกจากนี้ยังขอให้ขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ต่อไปอีก 2 ปี ตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ.2563 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2563 เพิ่มอีก 2 ปี ขณะเดียวกันยังขอให้ลดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งจะถือเป็นการให้ส่วนลดกับผู้บริโภคโดยตรงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมถึงการของดการจ่ายค่าธรรมเนียมภาษีบำรุงท้องที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นระยะเวลา 2 ปี

ส่วนมาตรการ “กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ” นอกเหนือจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทยที่รอภาครัฐกำหนดเวลาเริ่มดำเนินโครงการ ทาง 5 สมาคมได้ขอให้มีมาตรการส่งเสริมตลาดคนไทยที่ได้รับวัคซีนเข้าภูเก็ต เพื่อสนับสนุนโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เช่น หากมากับบริษัททัวร์เข้าเที่ยวในภูเก็ตได้ โดยใช้ผล Rapid Test เป็นลบ ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนเข้าภูเก็ต นอกจากนี้ยังขอให้ส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐจัดประชุมข้ามภาคผ่านบริษัทนำเที่ยว ส่วนบุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว ได้แก่ ค่าบริการนำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม ในปี 2564-2565 หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาทในแต่ละปี ทั้งนี้โรงแรมที่พักจะต้องจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

และเมื่อเจาะเฉพาะมาตรการพยุง “ผู้ประกอบการรถขนส่ง” ได้ขอให้รัฐช่วยจัดโครงการเยี่ยมชมจังหวัดใกล้เคียงแบบ “คนละครึ่ง” รัฐจ่ายครึ่งหนึ่ง ผู้เดินทางจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง จำนวน 40,000 เที่ยวต่อวัน ค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวต่อวัน 16,000 บาท หรือคิดเป็นรัฐช่วยสนับสนุน 8,000 บาท และนักท่องเที่ยวจ่าย 8,000 บาท รวมเป็นงบประมาณ 320 ล้านบาท ผ่านสมาคมต่างๆ เพื่อความเป็นธรรม และโปร่งใสในการเดินทาง ตรวจสอบได้ด้วยระบบจีพีเอส

ทั้งยังขออนุญาตให้มีบับเบิล (Bubble) เที่ยวระหว่างเมืองหรือระหว่างจังหวัดที่ไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการของบประมาณในการ "ซ่อมแซมรถบัส" ให้กลับมาให้บริการด้วยความปลอดภัย วงเงินต่อคันละประมาณ 3 แสนบาทอีกด้วย

162334737919