ส.ว.ขวาง “ไพรมารี่โหวต” เกมเร่ง “เลือกตั้ง” สะดุด

ส.ว.ขวาง “ไพรมารี่โหวต”  เกมเร่ง “เลือกตั้ง” สะดุด

ปฏิทิน แก้รัฐธรรมนูญ ที่ คาดหมายว่า จะพิจารณา ปลายเดือนมิถุนายน และทำเสร็จไม่เกิน กันยายน นี้ อาจสะดุด หลังญัตติแก้ไข ที่ให้โละ "ไพรมารี่โหวต" มีส.ว. ไม่เห็นด้วย ซึ่งเค้าลางความขัดแย้งนี้ อาจส่งผลถึงไทม์ไลน์ แก้รัฐธรรมนูญ

       ปลายเดือนมิถุนายน 2564 นี้ รัฐสภาเตรียมเปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งขณะนี้มีเพียงญัตติเดียวที่เสนอโดย “พรรคพลังประชารัฐ” ส่วนของ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ 3 พรรคร่วมรัฐบาล “ประชาธิปัตย์ - ภูมิใจไทย - ชาติไทยพัฒนา” อยู่ระหว่างหารือประเด็นในเนื้อหา

       สิ่งที่ถูกนักการเมืองโฟกัสตอนนี้คือ การรื้อระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม - บัตรเลือกตั้งใบเดียว - การคำนวณคะแนนเลือกตั้งแบบเติมเต็ม รวมถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องคือ การกำหนดให้พรรคการเมืองทำเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. หรือไพรมารี่โหวต ผ่านสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​กำหนดให้ใช้ฐานสมาชิก 100 คนเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ

       ปรากฎว่าทุกกลุ่มขั้วการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรล้วนเห็นดีเห็นงามต่อการ “รีเซ็ตกติกา” ที่ถูกออกแบบไว้เพื่อขวาง “นักการเมืองบางกลุ่ม-บางพรรค” ที่มีอำนาจมาก ก่อนการยึดอำนาจปี 2549 และรัฐประหารปี 2557

       ล่าสุด มีผลการศึกษาของวุฒิสภา ภายใต้กรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีนายกล้านรงค์​ จันทิก ส.ว. เป็นประธานกมธ.ฯ เรื่อง "การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.โดยกระบวนการไพรมารี่โหวตตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560" ออกมาว่า ไพรมารี่โหวตคือหัวใจของการสร้างประชาธิปไตยในพรรคการเมือง เพราะตัดตอน“นายทุน" ที่ครอบงำพรรคการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งมีส่วนร่วมเลือกนักการเมืองที่มีความรู้ ความสามารถ ตรงความต้องการไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

       ในคำอภิปรายของ ส.ว. สนับสนุนให้เดินหน้าต่อในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ทั้ง เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองที่เป็นคนริเริ่มให้มีไพรมารี่โหวต พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. พร้อมทั้งแสดงเจตนาไม่เห็นด้วยที่ ส.ส.จะถอด “ไพรมารี่โหวต” ออกจากระบบการเลือกตั้งของประเทศไทย

162329340492

       หากย้อนไปดูการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 จะเห็นได้ว่า การใช้ไพรมารี่โหวตถูกแช่แข็งไว้ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 เนื่องจากรอบนั้น หลายพรรคการเมืองเผชิญปัญหาการหาสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งไม่พอกับกฎหมายกำหนด ขณะที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งดูดนักการเมืองที่เคยสังกัดพรรคเพื่อไทย ก็เจอปัญหาในการทำระบบไพรมารี่โหวตอย่างหนัก

       อย่างไรก็ดี หากการเลือกตั้งรอบใหม่เกิดขึ้น “ระบบไพรมารี่โหวต” ต้องถูกนำมาใช้ เพราะคำสั่ง คสช.สิ้นสภาพไปแล้ว ซึ่งเนื้อหาของคำสั่งบังคับเฉพาะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเท่านั้น

       ดังนั้น เค้าลางความยุ่งยากของการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นปลายปี 2564 จึงเริ่มปรากฎ บรรดา ส.ส.จึงต้องปลดล็อกปัญหานี้ผ่านการเสนอให้แก้ไขมาตรา 45 ที่เป็นหัวใจตั้งต้นให้มี “ไพรมารี่โหวต” ตามวรรคสอง ที่กำหนดว่าต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ทั้งการกำหนดนโยบาย และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

       สิ่งที่เห็นได้จากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐคือ แก้ไขมาตรา 45 โดยตัดประเด็นดังกล่าวออกไป ด้วยเหตุผลตามคำอธิบายของ “ไพบูลย์​ นิติตะวัน” ว่า สร้างภาระเกินความจำเป็นให้พรรคการเมือง พร้อมกับท้า “ส.ว.” ที่ขวางการล้มไพรมารีโหวตให้มาลงเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการท้าชนแนวความคิดกันอย่างชัดเจน

162329318173

       ดังนั้น สิ่งที่เป็นความขัดแย้ง แม้จะทางความคิด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลสะเทือนถึงการลงมติ “แก้รัฐธรรมนูญ” ในวาระแรก เพราะต้องใช้เสียงของส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิก คือ 84 เสียง และเสียงเห็นชอบวาระ 3 ในเกณฑ์ที่เท่ากัน

       ปลายมิถุนายนที่รัฐสภาจะเริ่มกระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากสิ่งที่ ส.ว.คัดค้านเป็นผล ย่อมหมายถึง “การเร่งเกมเลือกตั้ง” ของรัฐบาลที่วางเป้าหมายไว้ปลายปี 2564 หลังจากที่แก้รัฐธรรรมนูญเสร็จ กฎหมายงบประมาณมีผลบังคับใช้ การแต่งตั้งโยกย้ายเสร็จสิ้น อาจต้องถูกเลื่อนออกไป

       ทว่า สิ่งที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งกว่า และมีผลกระทบใหญ่หลวงคือระดับกระแสนิยมที่เสื่อมถอยของ “รัฐบาล” จะกู้กลับมาทันก่อนหมดวาระหรือไม่.