หนังเล่าโลก The Queen ‘ถึงเวลาปรับตัว’

หนังเล่าโลก The Queen  ‘ถึงเวลาปรับตัว’

ชมภาพยนตร์เฉลิมฉลองวาระวันเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างเป็นทางการของควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ในสัปดาห์ที่ราชวงศ์ตกเป็นข่าวอีกครั้ง

สัปดาห์นี้ราชวงศ์อังกฤษเป็นข่าวฮือฮาอีกแล้ว เมื่อเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน มาร์เคิล หรือ ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ประกาศว่า ได้ทายาทคนที่ 2 เป็นธิดา และตั้งชื่อให้ว่า ลิลิเบธ “ลิลิ”  ไดอานา เมานต์แบตเทน-วินด์เซอร์ ซึ่งชื่อ ลิลิเบธ เป็นชื่อเล่นในวัยเด็กของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2  พระปัยยิกา (ย่าทวด) ของทารกน้อย และในวันเสาร์ที่ 12 มิ.ย.นี้ ถือเป็นวันพระราชสมภพอย่างเป็นทางการของพระองค์ หนังเล่าโลกสัปดาห์นี้จึงควรชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง 

ต้องขอสารภาพว่าผู้เขียนเพิ่งดูภาพยนตร์ดังประจำปี 2549 เรื่อง The Queen เมื่อไม่กี่วันก่อนเพื่อวาระพิเศษสัปดาห์นี้โดยเฉพาะ ภาพยนตร์ผลงานการกำกับของ Stephen Frears เรื่องนี้บอกเล่าการตัดสินใจครั้งสำคัญท่ีี่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 จากเหตุการณ์วันที่ 31 ส.ค.2540 เมื่อเจ้าหญิงไดอานาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์สิ้นพระชนม์ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส สร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจให้กับคนทั้งโลก แต่ราชวงศ์อังกฤษกลับเงียบเฉย ด้วยถือว่านั่นคือ “เรื่องส่วนตัว” เจ้าหญิงไดอานาขณะนั้นทรงหย่าขาดกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษไปเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นคนนอกราชสกุล งานพระศพของเจ้าหญิงไดอานาเป็นเรื่องที่ตระกูลสเปนเซอร์ ครอบครัวเดิมของเจ้าหญิงเป็นผู้จัดการ แน่นอนว่าพระบรมราชวินิจฉัยของควีนสวนทางกับคนทั้งโลก โดยเฉพาะพสกนิกรชาวอังกฤษ 

ย้อนไปก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนในเดือน พ.ค. อังกฤษเพิ่งได้รัฐบาลชุดใหม่มีคนหนุ่มอย่างโทนี แบลร์ จากพรรคแรงงานเป็นนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งแบลร์ทราบดีว่า การนิ่งเฉยของราชวงศ์ต่อความสูญเสียครั้งนี้ย่อมไม่เป็นผลดี ขณะที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะประมุขผู้ผ่านนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายคนทรงยืนกราน “เธอไม่ใช่ราชวงศ์แล้ว นี่เป็นเรื่องส่วนตัว” ที่ตรัสเช่นนี้ไม่ใช่เพราะพระองค์เป็นคนใจไม้ไส้ระกำ แต่เพราะทรงถูกอบรมเลี้ยงดูมาเช่นนั้น ให้นิ่งเฉยเก็บอารมณ์ ไม่แสดงความรู้สึกต่อหน้าสาธารณชน 

นายกฯ แบลร์พยายามกราบบังคมทูลข้อเสนอแนะหลายครั้ง เพราะสถาบันสูงสุดแสดงออกไม่ตรงกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ เสียงสะท้อนปรากฏออกมาผ่านสื่อมวลชน ถึงขนาดมีการสำรวจความคิดเห็นพบว่า ผู้ให้ข้อมูล 1 ใน 4 เห็นชอบให้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ รัฐบาลจำต้องทำข้อเสนอแนะเร่งด่วนให้ควีนทรงปฏิบัติตาม หนึ่งในนั้นคือจัดงานพระศพ “เจ้าหญิงของประชาชน” พระมารดาของว่าที่กษัตริย์อังกฤษอย่างสมพระเกียรติ แน่นอนว่าการตัดสินพระทัยตามข้อเสนอแนะของรัฐบาลหัวสมัยใหม่เป็นเรื่องยากสำหรับควีนเอลิซาเบธที่ 2 แต่สุดท้ายแล้วทรงยอมโอนอ่อนผ่อนตาม เพื่อป้องกันไม่ให้หายนะเกิดขึ้นกับราชวงศ์ 

หนังถ่ายทอดอารมณ์การตัดสินพระทัยของพระองค์ได้อย่างน่าสนใจ ดูแล้วรู้สึกว่าสมเด็จพระราชินีผู้ยิ่งใหญ่ก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง การจะยอมรับว่าสิ่งที่ตนเคยเชื่อมาตลอดถูกสั่นคลอนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่พระองค์ก็ทรงนำพาราชวงศ์อังกฤษผ่านวิกฤติครั้งนั้นมาได้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งที่เคยบอกว่า แผ่นดินอังกฤษรุ่งเรืองเมื่อได้ผู้หญิงปกครอง ในประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปี อังกฤษมีผู้ปกครองหญิงมาแล้ว 8 พระองค์ ที่โด่งดังมากๆ ผู้คนทั่วโลกรู้จักผ่านภาพยนตร์หลายเรื่องมี 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 ผู้ปกครองหญิงลำดับที่ 4 ทรงครองราชย์เมื่อวันที่ 15 ม.ค.พ.ศ.2102 ตามที่หนังเล่าโลกกล่าวถึงไปเมื่อสัปดาห์ก่อน รัชสมัยอันยาวนาน 45 ปีได้สร้างความปึกแผ่นของอาณาจักรและวางรากฐานความเป็นชาติอังกฤษ 

ราชินีชื่อดังพระองค์ต่อมาอยู่ในลำดับที่ 7 คือสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร แห่งบริเทนใหญ่และไอร์แลนด์ ครองราชย์เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. พ.ศ.2371 และทรงเป็นจักรพรรดินีแห่งอินเดีย ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. พ.ศ.2419 - 22 ม.ค. พ.ศ.2444 (วันสวรรคต) ครั้งหนึ่งควีนวิกตอเรียเคยได้ชื่อว่าทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในราชวงศ์อังกฤษ รัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงที่จักรวรรดิอังกฤษแผ่อิทธิพลทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก เรียกว่า “ยุควิกตอเรีย” พระองค์อภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา เมื่อพระชนมายุ 17 พรรษาด้วยกันทั้งคู่ มีพระราชโอรส-พระราชธิดาด้วยกัน 8 พระองค์ ที่ทรงแยกย้ายไปแต่งงานกับเจ้ายุโรปราชวงศ์อื่น ควีนวิกตอเรียจึงทรงมีฉายานามว่า “สมเด็จย่าแห่งยุโรป” 

ผู้ปกครองหญิงลำดับที่ 8 คือควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ในวันที่ 6 ก.พ. พ.ศ.2495 ถึงปัจจุบัน ยาวนานที่สุดในราชวงศ์อังกฤษ พระองค์เป็นพระราชธิดาองค์โตของพระเจ้าจอร์จที่ 6

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 อภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิปใน พ.ศ.2490 มีพระราชโอรส-พระราชธิดา 4 พระองค์ ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2จักรวรรดิอังกฤษเปลี่ยนเป็นเครือจักรภพอังกฤษ ราชวงศ์ต้องผ่านการเปล่ี่ยนแปลงอย่างมากทั้งจากบริบทโลกและเรื่องราวภายในราชวงศ์เอง แม้ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีจะครองคู่กันตลอดพระชนม์ชีพเจ้าชายฟิลิปที่เพิ่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่พระราชโอรส-พระราชธิดาทรงมีแต่เรื่องหย่าร้าง โดยเฉพาะคู่ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมารกับเจ้าหญิงไดอานา ผู้ล่วงลับ หรือเจ้าชายแฮร์รี พระราชนัดดากับชายาเมแกน ที่ออกมาให้สัมภาษณ์โจมตีราชวงศ์บ่อยครั้ง เปรียบเสมือนบททดสอบว่าเสาหลักแห่งราชวงศ์อังกฤษจะทรงนำพาราชนาวานี้ไปได้ราบรื่นแค่ไหน

สำหรับอนาคตของราชินีผู้ปกครองอังกฤษนั้น แม้รัชทายาทอีก 3 รุ่น ทั้งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายจอร์จ เป็นผู้ชายทั้งหมด แต่สหราชอาณาจักรเปลี่ยนกฎหมายให้พระธิดาองค์แรกสืบสายราชบัลลังก์ก่อนพระอนุชา เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระธิดาในเจ้าชายวิลเลียมและชายาแคเธอรีน  ผู้มีพระพักตร์เหมือนพระปัยยิกาเอลิซาเบธราวกับแกะ   อยู่ในลำดับสืบราชบัลลังก์ต่อจากเจ้าชายจอร์จ พระเชษฐาและก่อนหน้าเจ้าชายหลุยส์   การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในสมัยควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่จะทรงครองราชย์ครบ 70 ปีในปีหน้า ช่วงเวลาบนราชบัลลังก์จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอย่างแท้จริง