นายกฯยึดเบ็ดเสร็จ จัดการวัคซีนโควิด

นายกฯยึดเบ็ดเสร็จ จัดการวัคซีนโควิด

ตั้งแต่ไทยเผชิญโควิด-19 อำนาจการบริหารจัดการยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เมื่อประเมินวาระแห่งชาติมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว ล่าสุดราชกิจจาฯออกประกาศแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นายกฯจะเข้าไปสั่งหน่วยงานได้โดยตรง นับเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่

1 ปีกับ 6 เดือน นับตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญปัญหาโควิด-19 อำนาจและความรับผิดชอบการบริหารจัดการอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. เป็นผู้กำกับดูแล วันนี้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล้มเหลวกระจายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะหลังสงกรานต์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้นำจึงพยายามหาทางปรับปรุงแก้ไข โดยหลีกเลี่ยงที่จะเปลี่ยนตัว รมว.สธ. จริงอยู่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธาน มีอำนาจล้น แต่ในทางปฏิบัติ หน่วยงานรับผิดชอบในภารกิจสกัดการแพร่ระบาดและการจัดหาวัคซีน ยังอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข จึงพยายามปรับเปลี่ยนอำนาจบริหารจัดการวัคซีน หวังนำไปสู่การแก้ปัญหาความไม่เชื่อมั่น

เริ่มจากเบาไปหาหนัก เห็นได้จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2564 เห็นชอบการกำหนดอำนาจรัฐมนตรีตามกฎหมาย ใน 31 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ต่อมาในเดือน พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 7/2564 ประกาศในราชกิจจาเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประเด็นสำคัญตั้ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คุมเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เเละให้ รมว.สธ.และ รมช.สธ. เป็นเพียงที่ปรึกษา

มองผิวเผินเสมือนกับยึดอำนาจมาไว้ที่นายกรัฐมนตรี แล้วจะแก้ปมปัญหาได้ แต่ในทางปฏิบัติกลไกในกรมกองต่างๆ กลับยังขึ้นตรงกับรัฐมนตรีกระทรวง เพราะในข้อกฎหมายเรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นหน่วยงาน คณะกรรม ยังรายงานตรงกับ รมว.สาธารณสุข ตามปกติ ประกอบกับช่วงต้นเดือน พ.ค. นายกรัฐมนตรีประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติมากกว่า 2 ครั้ง แต่ตัวเลขการฉีดวัคซีนก็ยังคืบหน้าน้อยมาก

เมื่อประเมินวาระแห่งชาติมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว จึงเป็นที่มาของประกาศในราชกิจจานุเบกษาล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 8 มิ.ย.2564 เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีการออกมาตรการ 6 ข้อ สาระสำคัญกำหนดจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพและจำนวนเพียงพออย่างน้อย 70% ของประชากร การสั่งให้ อย. ประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัว ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมมือกัน เป็นต้น

เท่ากับว่านายกรัฐมนตรีจะเข้าไปสั่งหน่วยงาน คณะกรรมการชุดต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุขได้โดยตรง นับเป็นการปฏิวัติการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ครั้งใหม่และครั้งใหญ่ หลังจากที่ประเมินแล้วว่า หากปล่อยให้ หน่วยงาน สธ. กรรมการชุดที่เกี่ยวข้อง ยังคงรายงานหรือรับคำสั่งตรงจาก รมว.สาธารณสุข ต่อไป หากประสบความสำเร็จจะเป็นผลงานนายอนุทิน แต่หากล้มเหลว หนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรับผิด ความพยายามในรวบหัวรวบหางมาดำเนินการเอง เพื่อพลิกเกมในครั้งนี้ จึงเป็นอีกฉาก โดยมิอาจหลีกเลี่ยง