เปิดแผนทรานส์ฟอร์ม ‘SDM-NVK’ ปลุกนวัตกรรม-ปั้นโอกาสในวิกฤติ

เปิดแผนทรานส์ฟอร์ม ‘SDM-NVK’ ปลุกนวัตกรรม-ปั้นโอกาสในวิกฤติ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ยังไม่มีจุดสิ้นสุด ผลักดันผู้ให้บริการในทุกวงการต้องเร่งสปีด ปรับมายด์เซ็ต เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตวิถีใหม่ผู้บริโภค รวมถึงโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทาย...

สมภพ ภิญโญลาภะ Chairman of Operations บริษัท SDM Smart Digital Management ผู้ให้บริการเทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ กล่าวว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมีความสำคัญต่อทั้งการปรับตัวและปรับโฉมธุรกิจในภาวะวิกฤติ

บริษัทเองมุ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างโมเดลธุรกิจใหม่กลุ่ม สมาร์ทซิตี้” ด้วยเห็นว่าตลาดนี้มีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาล รองรับการพัฒนาเมืองยุคใหม่ การใช้ชีวิตวิถีใหม่ รวมไปถึงไทยแลนด์ 4.0

โดยแนวทางธุรกิจให้ความสำคัญกับบริการบน แพลตฟอร์มโมบาย และ เทคโนโลยีอัจฉริยะ ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ผลิตภัณฑ์ไฮไลต์เช่น สมาร์ทมีเตอร์ที่จะช่วยตรวจสอบการใช้น้ำได้แบบเรียลไทม์ สมาร์ทบิลดิ้ง สมาร์ทโฮเทล และต่อไปจะพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ชีวิตแบบอัตโนมัติในหลากหลายมิติ

เขากล่าวว่า กระบวนการขณะนี้อยู่ระหว่างการวางตลาดสินค้า และสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค เพื่อทำให้ลูกค้ามีความเข้าใจ และตัดสินใจลงทุน ด้านการเข้าถึงลูกค้าเน้นใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง แชทบอท พยายามทำให้ทุกกระบวนการอยู่บนดิจิทัลให้ได้มากที่สุด กลุ่มลูกค้าหลักคือบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วางระบบ และผู้รับเหมาต่างๆ

+++ชู นวัตกรรม’ สร้างจุดต่าง

สำหรับการสร้างความสำเร็จยุคที่สภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนต้องอาศัย ความเข้าใจตลาด และประสบการณ์ที่มีในแวดวงมายาวนานในฐานะวิศวกร ขณะเดียวกันที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือหลักจิตวิทยาการเข้าถึงคน ด้วยลูกค้าแต่ละรายมีโจทย์และเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป

“ผมได้เห็นว่าตลาดเปิดกว้างอย่างมากต่อการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ทว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุน ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างมากที่ต้องเข้าไปทำความเข้าใจและชี้ให้เห็นว่าในระยะยาวการลงทุนจะมีความคุ้มค่าในระยะยาวแน่นอน”

เช่นเดียวกัน ในการบริหารบุคลากรให้สามารถขับเคลื่อนงานได้ตามเป้าหมายในภาวะที่มีข้อจำกัดต้องเป็น ผู้ฟังที่ดี” รับฟังปัญหาเพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

ในฐานะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีการสร้างจุดต่างธุรกิจ ที่ขาดไม่ได้คือ “สินค้าที่มีนวัตกรรม” ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานกันอยู่เดิมๆ มีมูลค่าเพิ่ม และสามารถนำไปต่อยอด ทั้งด้านฟีเจอร์ ฟังก์ชั่น รูปแบบ ความสวยงาม ประหยัดพลังงาน และที่สำคัญคือการเพิ่มความปลอดภัยให้กับทั้งผู้ใช้งานและผู้ให้บริการ มั่นใจว่าเป็นรายแรกๆ ในไทยที่ให้บริการในส่วนนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีส่วนสำคัญในทุกมิติของการใช้ชีวิตและธุรกิจคือ “Smart People” ซึ่งเรื่องนี้คนที่ต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนคือเบอร์หนึ่งขององค์กรหรือซีอีโอ

“การนำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมาพัฒนาธุรกิจให้เกิดความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้หากซีอีโอไม่มีความรู้ความเข้าใจและให้การสนับสนุน จากประสบการณ์ตรงพบว่า แม้พนักงานจะมีความสามารถแต่หากผู้บริหารระดับสูงไม่เห็นด้วยงานก็จะไม่เกิดและเป็นเรื่องยากที่จะเริ่มต้น”

++เอ็นวีเค อินเตอร์ ปั้นโอกาสกลางวิกฤติ

ฤทธิไกร ขัณฑวีระมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.วี.เค อินเตอร์ จำกัด (N.V.K) ผู้ให้บริการอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายชั้นนำ และผู้ให้บริการระบบอัจฉริยะเอไอ มีกลุ่มลูกค้าระดับเอ็นเตอร์ไพร์ซขนาดใหญ่ กลุ่มโทรคมนาคม และกลุ่มภาคบริการ กล่าวว่า วิกฤติโควิดส่งผลกระทบกับบริษัทมาก แต่มีมุมที่สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ 

โดยเฉพาะการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นภายในองค์กร รวมถึงปรับโครงสร้างให้มีความ Lean และคล่องตัว (Agility) สิ่งสำคัญ คือ การรีสกิล อัพสกิลพนักงานให้ตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไป

“เราไม่ได้ลดพนักงาน หรือลดเงินเดือนพนักงานช่วงวิกฤติที่ผ่านมา แม้ธุรกิจจะได้รับผลกระทบมากเมื่อปีที่แล้ว แต่เราใช้ช่วงเวลานั้นพัฒนาองค์กร ซึ่งเราลงทุนเพิ่มด้วยซ้ำโดยเฉพาะเพิ่ม Software Developer ขึ้นอีกหลาย 10 คน เรามองเป็นโอกาส ที่ได้ใช้เวลาทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มในองค์กร ทุกอย่างเป็น paperless ทำงานจากที่ไหนก็ได้ เป็นออโต้เมชั่น 100% เป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานองค์กรให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด”

อีกส่วน คือ การลงทุนแพลตฟอร์มที่จะตอบโจทย์ได้ทันที หลังจากที่โควิดคลี่คลาย เช่น การพัฒนาสมาร์ทไวไฟ แอคเซสพ้อยต์ แพลตฟอร์มเอไอ ระบบสมาร์ทเวิร์คเพลส รวมถึงระบบจดจำใบหน้า (Face Recognition) ระบบ Touchless ซึ่งหลีกเลี่ยงการสัมผัสมากขึ้น

ขณะที่ อีกสิ่งที่สำคัญ คือ การมี Survival Plan ทำอย่างไรให้บริษัท “รอด” รวมถึงทำตัวเองให้สมาร์ทขึ้น ลดกระบวนการที่ไม่จำเป็นลง

++ปรับองค์กรให้คล่องตัว-รีสกิลพนง.

ส่วนในระยะยาว เป็นเรื่องการปรับรูปแบบบริษัทให้มี Agility สูงขึ้นไปอีก ปรับตัวได้เร็ว สร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ฉับพลัน ช่องทางการจำหน่ายต้องมีวิธีเข้าถึงตลาดด้วยต้นทุนต่ำ ใช้เวลาน้อยกว่าเดิม นำดิจิทัลเข้ามาปรับใช้เสริมช่องทางเดิมให้เป็นช่องทางใหม่ บริหารจัดการความร่วมมือระหว่างเอสไอ หรือพาร์ทเนอร์ให้เหมาะสมสอดคล้องกับการทำตลาดแบบใหม่มากขึ้น

ที่ผ่านมาเอ็น.วี.เค.ได้นำเครื่องมิดิจิทัลต่างๆ เข้ามาเสริมการทำงานในองค์กรให้เกิดความคล่องตัว ขณะที่การทำงานแบบที่ต้องรอการตัดสินใจแบบ Top Down จะพยายามลดลง เน้นให้พนักงานมีความสมาร์ทมากขึ้นในการตัดสินใจด้วยตัวเอง รวมถึงการส่งต่อข้อมูลระหว่างบุคคล ระหว่างแผนกสามารถทำได้ทันที

"การอัพสกิล รีสกิลพนักงาน เป็นสิ่งหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมาก ช่วงเวิร์คฟรอมโฮมได้ใช้เวลาเทรนพนักงานในเรื่องต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ ให้ปรับตัวเข้าสู่การทำงานแบบใหม่ นำเอาระบบ OKR (Objective and Key Results) เข้ามาใช้เพื่อให้ทุกคนมีความรับผิดชอบ มี passion มากขึ้น กำหนดเป้าหมายส่วนตัว และตัดสินใจด้วยตัวเองได้เร็ว พนักงานมีสกิล ระบบทำงานที่สมาร์ทมากขึ้น" 

++มั่นใจรายได้ฟื้นจากชูโซลูชั่นใหม่ๆ

สำหรับธุรกิจของเอ็นวีเค แม้จะได้รับผลกระทบแต่ยังมีความมั่นใจที่จะลงทุนต่อ แม้ก่อนโควิดบริษัทจะมียอดขายมากกว่า 600 ล้านบาทต่อปี และลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงโควิดรายได้บริษัทเหลือไม่ถึง 200 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ปีนี้แม้โดยรวมสถานการณ์ยังไม่ค่อยดี แต่บริษัทยังมองมุมบวก และตั้งเป้าว่าจะสามารถทำ 

 All time high ได้ ถ้าสถานการณ์ไม่แย่ไปกว่านี้ จากโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ดีมานด์ตลาด ขณะที่ วิกฤตินี้ยังเป็นบทเรียนสำคัญของเอ็น.วี.เค โดยเฉพาะการกระจายความเสี่ยง การปรับธุรกิจให้หลากหลายมากขึ้น

++หาคนที่มีPassion-ปั้นให้มี Talent 

ฤทธิไกร ยังเผยถึงการหลักการบริหารคน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจสู่เป้าหมายด้วยว่า

“เราเป็นบริษัทขนาดเล็ก ไม่มีความสามารถจ้างคนที่มีทักษะสูงๆ หรือมี Talent มาตั้งแต่ต้น เราเริ่มหาคนจาก Passion หรือความชอบเหมือนกัน จากนั้นค่อยสร้างTalent ให้เขา ซึ่ง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เห็นแล้วว่าเราสามารถสร้าง Talent ขึ้นมาได้ หากได้เติมความรู้ให้เขาไปเรื่อยๆ พนักงานหลายคนที่นี่เป็นเอ็นจิเนียมีฝีมือระดับท็อปของประเทศ ซึ่งไม่ได้เกิดจากวันแรกที่เขาเดินเข้ามาแล้วเป็นเลย”

อีกสิ่งสำคัญที่เอ็น.วี.เค.ใช้ คือ โมเดล sense of ownership ให้พนักงานที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญขององค์กรได้ถือหุ้นในบริษัทด้วย เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและเขาคือหนึ่งในเจ้าของบริษัท