ถ้าเกษตรกรไม่มีเงิน จะเดินตามแนวทาง'ศาสตร์พระราชา'อย่างไร

ถ้าเกษตรกรไม่มีเงิน จะเดินตามแนวทาง'ศาสตร์พระราชา'อย่างไร

คำถามที่ว่า "ถ้าไม่มีเงิน จ้างขุดพื้นที่เพื่อทำการเกษตร แล้วจะฝ่าฟันวิกฤตสู่ทางรอดที่ยั่งยืนตามแนวทาง"ศาสตร์พระราชา"ได้อย่างไร" เรื่องนี้คนที่เดิน"ตามรอยพ่อ"ของแผ่นดินมีคำตอบ

อาจารย์ยักษ์- ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ บอกว่า ระบบโคก หนอง นา ตามพระราชดำรัส เป็นระบบที่ดี เมื่อศึกษาดีแล้ว พอจะไปทำ ก็ต้องมีการขุดปรับพื้นที่ จึงต้องมีเงินจ้างขุดถึงจะทำได้ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีเงิน จึงทำโคกหนองนาไม่ได้ กลายเป็นว่าระบบนี้ ต้องมีเงินจึงจะทำได้ เขาควรทำยังไงดี

ผมเริ่มต้น ผมไม่ตังค์เลยสักแดงเดียว มีเงินบำนาญเอาไว้ให้ครอบครัว  ผมใช้จอบครับ เริ่มจากปั้นคันนาก่อน หนองก็ค่อยๆ ขุดไปครับ พอปั้นคันนาก็จะได้คลอง ฝนตกมาก็จะบังคับน้ำได้เอง ได้คลอง ได้หนอง

ใช้จอบใช้แรงนี่แหละครับทำ  แต่ต้องอดทน ต้องใช้เวลาหน่อย ที่เขาทำแบบใช้เครื่องจักรขุด นั่นเขามีตังค์ อย่าไปเลียนแบบเขาครับ แต่ใครมีตังค์ก็ทำได้ ไม่ผิดกติกา เราไม่ได้ห้ามใช้เครื่องจักร”

162322516572

ระบบโคก หนอง นา ตามแนวทางศาสตร์พระราชา 

ศาสตร์พระราชา : ลงแขก ช่วยเหลือกัน

สิ่งที่เครือข่ายเหล่านี้พยายามทำในช่วงหลายปีคือ การลงแขกช่วยเหลือกันในแต่ละพื้นที่ อาจารย์ยักษ์บอกว่า ในเครือข่ายเราส่วนใหญ่ใช้คน เรามีกระบวนการรวมพลังกัน

“ไปเอามื้อกัน ไปลงแขกกัน หรือไปซอแรงแบบทางภูเก็ตเรียก ส่วนทางใต้เรียกออกปากกัน  พอออกปากกันคนมามีจอบมาคนละอัน  10 คน 20 คน ก็เร็วไม่แพ้เครื่องจักรนะครับ  เพราะฉะนั้นไม่มีตังค์ก็ทำได้ครับ อย่าวิตกกังวลว่าไม่มีเงิน ลงมือทำทันทีเลยครับ การลงมือทำเสียงดังกว่าพูด ยืนยันว่าควรทำทันทีครับ"

ศาสตร์พระราชา : ต้องพึ่งพิงตนเอง

ส่วน โจน จันใด ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ บอกว่า ทุกวันนี้  วิกฤตที่ใหญ่ที่สุดของพวกเรา คือ วิกฤตทางความคิด  วิกฤตที่เรามักคิดมัดรู้สึกว่า ถ้าเราไม่มีเงิน แล้วเราจะทำอะไรไม่ได้  ฉะนั้นการกลับมาฝึกที่จะพึ่งตนเอง คือ การแก้ทุกวิกฤตที่มีอยู่ในปัจจุบัน

“อย่าบอกว่าไม่มีเวลานะครับ สละเวลาจากมือถือหรือสิ่งต่างๆ แค่วันละ 5 – 10 นาที  เพื่อที่จะลงมาสัมผัส ลงมือทำ แล้วเราจะเห็นว่าวิกฤตไม่ได้เป็นปัญหา ผมคิดว่านี่เป็นทางออกที่ดีที่เราเริ่มได้วันนี้เลยครับ

162322624082

แปลงเกษตรตามแนวทางโคก หนอง นา

วิกฤตโรคระบาดไวรัสโควิดครั้งนี้ โจน จันใด บอกว่า เราประเมินไม่ได้ว่าเหตุการณ์จะยาวนานขนาดไหน การรอให้เศรษฐกิจดีขึ้น แล้วหวังว่าเราจะดีขึ้นเอง ก็ดูจะเป็นความฝันลม ๆ แล้ง ๆ

“ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำ คือ การกลับมาคิดถึงการพึ่งตนเองในเรื่องของอาหารเป็นอันดับแรก เราจะหาอาหารมาจากไหน ถ้าอยู่ในเมืองก็อาจต้องคิดถึงการปลูกอาหารเองง่าย ๆ เช่น การเพาะถั่วงอก หรือการปลูกผักแนวตั้ง

อีกวิธีหนึ่งคือการเชื่อมต่อกับกลุ่มเกษตรกรที่เขาทำอยู่แล้ว ให้เขาส่งวัตถุดิบมาให้ ซึ่งควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาวะปกติด้วย ที่เราควรจะรู้แหล่งที่มาของอาหารที่เราบริโภค ฉะนั้นการเชื่อมต่อกันอีกครั้งจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในสภาวะปัจจุบัน

ยิ่งถ้าคนสนใจทำแบบนี้มากขึ้นจะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแนวใหม่ ระบบการค้าแนวใหม่ ที่ทำให้คนได้คุยกันตรงมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ผมเห็นว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ นี่คือแนวโน้มที่จะทำให้เราอยู่ได้ในช่วงโควิด-19”

162322643852

อาจารย์ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร

ตามรอยพ่อ

โครงการ ตามรอยพ่อฯ” ปีนี้เป็นปีที่ 9 ยังคงสร้างแรงบันดาลใจและองค์ความรู้ให้คนไทยสู้ทุกวิกฤตอย่างยั่งยืน ล่าสุดจัดกิจกรรมสร้างองค์ความรู้ผ่านออนไลน์ “คู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ”แรงบันดาลใจจาก 7 บรมครู เผยแพร่บนเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของโครงการฯ

ศาสตร์พระราชา คือ องค์ความรู้ในการจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน เป็นทางรอดที่ยั่งยืนในทุกวิกฤต ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพอกิน พอใช้ พออยู่ แบ่งปันและสร้างรายได้ เป็นการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ติดตามกิจกรรมโครงการได้ที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org