“อาคม”ยันกู้5แสนล้านคุมหนี้ไม่เกิน60%

“อาคม”ยันกู้5แสนล้านคุมหนี้ไม่เกิน60%

“อาคม”แจงสภาฯเหตุออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ชี้ผลพวงโควิด-19ทำเศรษฐกิจหดตัวแรงรอบ 23 ปี ขณะที่ รัฐบาลไม่มีงบดูแลเศรษฐกิจที่เพียงพอ ยันระดับการก่อหนี้จะอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง เผย ณ สิ้นเม.ย.หนี้รัฐบาลต่อจีดีพียังอยู่ที่ 50.69%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรถึงกรณีรัฐบาลออกพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้มีการตราพ.ร.ก.ดังกล่าว ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 25 พ.ค.โดยเหตุผลและความจำเป็นในการออกพ.ร.ก.นั้น เนื่องจาก โควิด-19 เป็นโรคที่มีการระบาดรุนแรงมากในรอบ 100 ปี มีการแพร่ระบาดในวงกว้างและรุนแรงทั่วโลกรวมทั้งไทยนับตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน และยังไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกสาขาอาชีพและทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกและของไทยในระยะที่ผ่านมาหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 23 ปี นับจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

โดยในปี 2563 รัฐบาลได้ออกพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง ณ วันที่ 1 มิ.ย.2564 คณะรัฐมนตรีอนุมัติใช้จ่ายเงินกู้ไปแล้ว 298 โครงการ วงเงิน 9.8 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายภายใต้วัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้อนุมัติใช้จ่ายเงินกู้ไปแล้ว 46 โครงการ วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท 2.ด้านการเยียวยาและชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการ 15 โครงการ วงเงิน 6.9 แสนล้านบาท 3.ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 237 โครงการ วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท

สำหรับกรอบวงเงินกู้คงเหลือ 1.9 หมื่นล้านบาทนั้น หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการอยู่ระหว่างนำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้วงเงินประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป ดังนั้น จึงมีวงเงินกู้คงเหลือประมาณ 1.7 พันล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดโควิด-19ระลอกใหม่

ทั้งนี้ จากการดำเนินมาตรการการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการหดตัวเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 ซึ่งจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศเคยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบประมาณ 8% ก็เหลือเพียงติดลบ 6.1%

นอกจากนี้ ในปี 2563 รัฐบาลยังได้ช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการไปแล้ว 7.7 หมื่นราย วงเงินสินเชื่อ 1.3 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ยุติ คณะรัฐมนตรีจึงได้ตราพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ 2564 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และยังจัดตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ส่งผลให้สภาพคล่องในปี 2563 ดำเนินไปอย่างปกติ

อย่างไรก็ดี ช่วงเดือนม.ค.2654 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยพบการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์กระจายในวงกว้างอย่างรวดเร็วและรุนแรงทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่า รัฐบาลจะหาวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ความไม่แน่นอนการกระจายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 เป็นความเสี่ยงหลักที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนได้

“เมื่อการระบาดเกิดขึ้น สภาพัฒน์ คาดการณ์จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่จะขยายตัวได้เพียง 1.5-2.5% และคาดการณ์นักท่องเที่ยวจะลดลง 53%จากปีที่แล้ว และรายได้นักท่องเที่ยวจะลดลง 4.4 แสนล้านบาท หรือ 2.76% ของจีดีพี”

เขากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลแก้ไขวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ผ่านแหล่งเงินที่มีอยู่ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา และรัฐบาลก็ไม่สามารถโอนงบประมาณในปี 2564 มาใช้ได้ เนื่องจาก สำนักงบประมาณได้จัดสรรการใช้จ่ายไว้แล้ว และทุนสำรองจ่ายก็มีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังไม่สามารถจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปี 2564 ได้ เนื่องจาก การจัดเก็บรายได้รัฐบาลมีข้อจำกัด หากจะรองบปี 2565 ก็จะไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหา ดังนั้น การออกพ.ร.ก.ดังกล่าว จึงเป็นทางเลือกสุดท้าย

สำหรับสาระสำคัญของพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มีดังนี้ 1.กำหนดให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยจะต้องกู้เงินภายใน 30 ก.ย.2565 2.การกู้เงินจะต้องนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์หรือโครงการตามบัญชีท้ายพ.ร.ก.ประกอบด้วย 3 แผนงานหลัก คือ 1.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์ สาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการจัดหาวัคซีน การเตรียมพร้อมห้องปฎิบัติการ และ การจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรทางการแพทย์

2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในทุกสาขาอาชีพวงเงิน 3 แสนล้านบาท โดยมาตรการจะมุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการขนาดรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของรัฐบาล

3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ด้านการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมภายหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท เพื่อพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยรักษาระดับการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน ให้ผู้ประกอบการร้านค้าอยู่รอดได้ และช่วยให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กรณีจำเป็นคณะรัฐมนตรีสามารถปรับกรอบวงเงินภายใต้แผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้ายพ.ร.ก.ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการณ์ความจำเป็นที่เกิดขึ้น

3.เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพลดความซ้ำซ้อนและมีความต่อเนื่อง พ.ร.ก.กำหนดให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองโครงการก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติและกำกับดูแลการดำเนินโครงการ

4.เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้โปร่งใสและตรวจสอบได้ กำหนดให้กระทรวงการคลังจัดทำรายงานกู้เงินตามพ.ร.ก.เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 60 วัน นับจากวันสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งรายงานจะคลอบคลุมรายละเอียดการกู้เงิน วัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินและผลสัมฤทธิ์ประโยชน์ที่ได้รับ

เขาย้ำว่า การกู้เงินตามพ.ร.ก.ดังกล่าว รัฐบาลได้ตระหนักถึงวินัยการเงินการคลังของประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลอื่นทั่วโลก ได้ดำเนินนโยบายการคลังโดยการกู้เงินจำนวนมาก เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาเศรษฐกิจ ทำให้สิ้นปี 2564 ระดับหนี้รัฐบาลของโลกคาดเพิ่มอยู่ที่ 92 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2,760 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 จำนวน 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 300 ล้านล้านบาท

โดยในปี 2564 มีประเทศสำคัญของโลกที่มีหนี้รัฐบาลต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ญี่ปุ่นคาดว่าจะอยู่ที่ 256.5% อังกฤษ 107.1% อินเดีย 86.6% และจีน 69.6%

ทั้งนี้ กรอบเพดานหนี้ต่อจีดีพีที่ 60% อาจเรียกได้ว่า เป็นกรอบวินัยการคลังที่ถูกใช้มากที่สุดในภาวะปกติในนานาประเทศทั่วโลก เช่น สหภาพยุโรป และ ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเป็นการคำนวณเฉพาะหนี้ภาครัฐบาล ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้รัฐบาลของไทยตามนิยามสากล ณ สิ้นเดือนเม.ย.2564 อยู่ที่ 50.69% ต่อจีดีพี ซึ่งถือว่า เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับกรอบนิยามสากล

“ระดับหนี้สาธารณะที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศนั้น ไม่มีระดับที่ตายตัวและขึ้นอยู่กับบริบทและปัจจัยต่างๆที่แตกต่างกัน ซึ่งบริบทที่ทุกประเทศได้เผชิญ คือ ผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ปกติ ดังนั้น การกู้เงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ประเทศผ่านวิกฤตนี้ไปได้”

ทั้งนี้ การก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังจะดำเนินการด้วยความรอบคอบและอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังในบริบทปัจจุบัน ดังนั้น รัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเป็นต้องมีแหล่งเงินเข้ามาดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข เยียวยาประชาชน และ ฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว จึงตราพ.ร.ก.ดังกล่าว