นายกฯเร่ง "งาน1ปี” นับถอยหลังเลือกตั้ง

นายกฯเร่ง "งาน1ปี” นับถอยหลังเลือกตั้ง

นายกฯเร่ง "งาน1ปี” นับถอยหลังเลือกตั้ง นายกฯสั่งโชว์ผลงานรัฐบาลก่อนโค้งสุดท้าย กมธ.วุฒิสภา ชงแก้รธน.โละทิ้ง “ไพรมารี่โหวต” จ่อเสนอรัฐบาล-กกต.

พล.อ.ประยุทธ์ สั่งเร่งสร้างผลงานรัฐบาลโค้งสุดท้าย กำชับปีนี้ 64 ต้องให้เห็นผลการแก้ปัญหาสำเร็จเป็นรูปธรรม ส่วนปีหน้า 65 ต้องทำแผนตามยุทธศาสตร์ชาติ เน้นใช้งบฯให้คุ้มค่า ห้ามมีทุจริต ด้าน 2 พรรคร่วม “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์”เผยคาดเดายุบสภาไม่ได้ แต่ต้องเตรียมพร้อม “จุรินทร์” เผย ปชป.ทยอยเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.สัปดาห์หน้า ขณะที่ ส.ว.เสนอประเด็นแก้รัฐธรรมนูญเสนอโละทิ้ง “ไพรมารี่โหวต”

 

ท่ามกลางกระแสข่าวการยุบสภาก่อนครบวาระ 4 ปีรัฐบาล และความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เตรียมพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง  ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 8 มิ.ย.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงหลังการประชุมโดยเน้นย้ำให้รัฐบาลเร่งทำผลงานในปีนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม รวมทั้งเตรียมทำแผนในปีหน้า

 

โดยนายกฯ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มีการอนุมัติไปแล้ว 984,000 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 73% คงเหลือเงินกู้ประมาณ 15,000 ล้านบาท จำเป็นต้องเก็บไว้เพื่อสำรองในเรื่องของการลดค่าน้ำ ค่าไฟให้ประชาชนต่อไป ตนเป็นห่วงเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ ชาวสวน ทำอย่างไรถึงจะหลุดพ้นจากความยากจนได้โดยเร็วที่สุด ได้สั่งการและมอบนโยบายไปแล้วว่า เราจำเป็นต้องเร่งรัดการดำเนินการในหลายกิจกรรมในช่วง 1 ปีที่ยังเหลืออยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน แล้วก็เตรียมพร้อมที่จะทำอะไรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อจะส่งต่อไปวันข้างหน้ารัฐบาลต่อๆ ไป

 

ทั้งนี้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติของเราตามแผนงาน 1 ปี แผนงานระยะปานกลาง คือ 3 ปี และยุทธศาสตร์ 5 ปี นั่นคือความต่อเนื่องและสอดคล้อง ตนไม่ได้ขัดข้องแผนงานโครงการที่เสนอมา แต่เราจำเป็นต้องมีการตรวจสอบ คัดกรองโดยคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการหลายระดับด้วยกัน ทั้งภาครัฐเอกชน มีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนงานโครงการทั้งสิ้น ไม่ต้องการให้ไปเกิดประโยชน์อะไรกับใครทั้งสิ้น ประโยชน์ต้องตกอยู่กับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดให้เกิดความทั่วถึงและเป็นธรรม

ภท.ยันเตรียมพร้อมเลือกตั้ง 

ส่วนท่าทีจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคภูมิใจไทย(ภท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้รัฐมนตรีเร่งทำงานภายใน 1 ปี โดยมีการโยงไปถึงกระแสข่าวยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ว่า คนที่มีอำนาจยุบสภาคือนายกฯ ซึ่งยังไม่มีการส่งสัญญาณใด ยังคงทำงานให้ดีที่สุด คนที่อยู่ในพรรคการเมือง และทำการเมือง ไม่เคยมีใครไม่เคยเจอเหตุการณ์ยุบสภา

 

ส่วนการเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งใหม่นั้น นายอนุทิน ยืนยันว่า ภท.มีความพร้อมทุกวันพร้อมปฏิเสธว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าส.ส.ฝ่ายค้านจะย้ายมาอยู่กับพรรค เพราะพรรคอยู่แบบเจียมเนื้อเจียมตัว

 

ในส่วนของการอภิปรายพ.ร.ก.กู้เงินนั้น การอภิปรายถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. การทำหน้าที่ต้องแยกว่างานสภาเป็นหน้าที่ของส.ส. ไม่ใช่ว่าหัวหน้าพรรคจะสั่งการได้ทุกอย่าง และการอภิปรายแสดงความเห็นก็ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเราก็ทำหน้าที่ในส่วนของงานสภา คนที่เอาไปเชื่อมโยงคือคนที่ไม่เกี่ยวข้อง

 

“พรรคภูมิใจไทยไม่ได้อภิปรายอย่างราชสีห์แล้วโหวตอย่างหนู เพราะหนูนี่แหละที่ช่วยราชสีห์ ในนิทานอีสปไม่เคยบอกว่าราชสีห์ช่วยหนูมีแต่หนูที่ช่วยราชสีห์ และการโหวตร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 65 ที่ผ่านมาก็เรียบร้อยดี เพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งการอภิปรายเป็นการนำความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของส.ส.ไปรับฟัง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องก็ถือว่าแฟร์ดี”นายอนุทิน กล่าว

 

ปชป.จ่อเปิดตัวผู้สมัครเลือกตั้ง

 

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสการยุบสภาว่า การยุบสภาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตนไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะไปตอบได้ว่าจะมีหรือไม่ หรือถ้าจะมีจะมีเมื่อไหร่

 

แต่สำหรับการเตรียมความพร้อมของปชป. พรรคมีความพร้อมและได้มีการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ในแง่ของการเตรียมการรับสมัคร ผู้สมัคร ส.ส.คืบหน้าไปกว่า 90% จากนี้จะมีการทยอยเปิดตัวผู้สมัคร ที่พรรคพิจารณาเห็นว่าจะเป็นผู้สมัคร ส.ส. -ส.ก.ในสัปดาห์นี้ ส่วนสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดตัว ส.ส.และ ส.ก.รุ่นใหม่ของพรรคที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครอีกหนึ่งชุด

ส.ว.ชงตัดทิ้ง"ไพรมารี่โหวต"

 

วันเดียวกันในการประชุมวุฒิสภา มีวาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูยญวุฒิสภา ที่มีนายกล้านรงค์​ จันทิก ส.ว. เป็นประธานกมธ.ฯ เรื่อง การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.โดยกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี่โหวต) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

 

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. อภิปรายว่า เจตนารมณ์ของพรรคการเมืองที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ต้องการล้มระบบเลือกตั้งขั้นต้น แต่ชี้แจงไม่ได้ เพราะเป็นหัวใจประชาธิปไตย จึงต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และแก้ไขมาตรา 45 เพื่อถอดระบบเลือกตั้งขั้นต้นทิ้งไป หากสามารถแก้ไขได้ ระบบเลือกตั้งขั้นต้นที่คิดว่าเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาพรรคการเมืองจะถูกถอดทิ้งไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมวุฒิสภา ไม่ขัดข้องต่อการนำรายงานและข้อเสนอแนะรวมถึงข้อสังเกตของกมธ. และส.ว. นำเสนอไปยังรัฐบาลและ กกต. ต่อไป