สรรพสามิตชี้โครงสร้างภาษีรถยนต์ไม่กระทบรถกระบะ

สรรพสามิตชี้โครงสร้างภาษีรถยนต์ไม่กระทบรถกระบะ

สรรพสามิตระบุ การปรับโครงสร้างภาษีสินค้ารถยนต์เพื่อรองรับฐานการผลิตรถยนต์อีวีจะต้องไม่กระทบต่อสินค้ารถกระบะที่เป็นโปรดักส์แชมเปียนของไทย เพราะไม่ต้องการให้ผู้ผลิตย้านฐานการผลิตไปประเทศอื่น

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมฯอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เป็นสินค้าประเภทรถยนต์ ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ผลิต โดยแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวนั้น จะต้องไม่กระทบต่อสินค้าที่เป็นโปรดักส์แชมเปียนของไทย ซึ่งก็คือ รถกระบะขนาด 1 ตันที่ยังคงใช้น้ำมันเป็นพลังงานขับเคลื่อน

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากเรามุ่งเป้าหมายไปที่รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า หรือ BEV เพียงอย่างเดียว อาจทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เพื่อผลิตรถยนต์ที่ใช้ระบบสันดาปภายในหรือรถยนต์ที่ยังคงใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เพื่อผลิตขายในประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานด้านๆไฟฟ้ายังไม่ทั่วถึง เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา

“โดยเฉพาะรถยนต์กระบะขนาด 1 ตัน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ยังไม่เหมาะสม ที่จะพัฒนาให้เป็นรถกระบะที่ใช้ไฟฟ้า เนื่องจาก เป็นรถยนต์ที่ต้องบรรทุกของหนัก และมักวิ่งในระยะทางที่ไกล หากใช้ระบบไฟฟ้า ถ้าพลังงานไฟฟ้าหมด จะหา Charging Station เติมได้ที่ไหน เพราะอาจเป็นพื้นที่ชนบทที่อยู่ห่างไกล ดังนั้น หากประเทศไทยจะมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ควรเน้นที่รถเก๋งเท่านั้น”

สำหรับโครงสร้างภาษี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น จะต้องลดแรงจูงใจด้านภาษี สำหรับรถยนต์ที่ใช้ระบบสันดาปภายใน และเพิ่มแรงจูงใจสำหรับรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า หรือ BEV ซึ่งอาจใช้ Non Tax เป็นแรงจูงใจเสริม เช่นที่หลายประเทศมีการทำอยู่ในขณะนี้ รวมถึง การพิจารณาโครงสร้างภาษีศุลกากร ที่เกี่ยวกับ การนำเข้าชิ้นส่วน ( CKD) และการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน ( CBU) เพื่อให้เป็นการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

สำหรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในปัจจุบัน ที่มุ่งส่งเสริมรถยนต์ที่ปล่อย Co2 ในระดับที่ต่ำ ซึ่งจะได้รับอัตราภาษีที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ปล่อย CO2 ที่สูงกว่า

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมานี้คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ( บอร์ด EV) ได้กำหนดแผนที่จะให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 100 % เร็วขึ้นกว่าแผนเดิม 5ปี โดยมีเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะผลิตรถยนต์ใช้ไฟฟ้าได้ 50% ของการผลิตรถยนต์ทั้งประเทศ ได้ภายในปี 2570

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวขึ้นอยู่กับภาคเอกชน ซึ่งภาคเอกชนมองถึงความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของไทย โดยเฉพาะการวางระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการก่อสร้างสถานีเติมไฟฟฟ้า หรือ Charging Station ซึ่งหาก Charging Station ยังมีไม่มากพอ หรือกระจายตัวไม่มากพอ ก็ลดแรงจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ปัจจัยที่ลดแรงจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีกประการก็คือ ในเรื่องของราคาที่สูงกว่ารถที่ใช้น้ำมันมาก