'มนัญญา' ชูงานวิจัยกวก. ออกขยายผลลดต้นทุน-เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

'มนัญญา' ชูงานวิจัยกวก. ออกขยายผลลดต้นทุน-เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

"มนัญญา" ชูงานวิจัยกวก. ออกขยายผลลดต้นทุน-เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประชาชน

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.64 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายกับกรมวิชาการเกษตรว่า ให้นำเอางานวิจัยที่กรมมีอยู่มาขับเคลื่อนและขยายผลให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ที่สนใจเพื่อให้สามารถนำมาต่อยอดในการลดต้นทุนการผลิตหรือแปรรูปเพิ่มมูลค่า  เนื่องจากในปีนี้และปี 2565 ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ แต่การพัฒนาจะต้องไม่หยุดนิ่งและงานวิจัยจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคประชาชน 

โดยให้เน้นไปที่การวิจัยและพัฒนาพืชเพื่อทดแทนการนำเข้าโดยร่วมมือกับสหกรณ์ต่างๆ เพื่อจับมือกันทำงานให้ถึงมือเกษตรกร เช่นการปรับปรุงหัวมันฝรั่ง เนื่องจากมีความต้องการใช้มาก แต่ในประเทศยังผลิตได้น้อยทำให้ต้องนำเข้าจากประเทศจำนวนมาก การวิจัยเพื่อแปรรูปพืชผลทางการเกษตร เช่นการแปรรูปและวิจัยการใช้สารสำคัญในหอมแดงหรือพืชสมุนไพร และการวิจัยสารชีวภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้จะมีการเปิดให้สามารถขออนุญาตนำมาใช้ได้ง่ายขึ้น

นายอนันต์ อักษรศรี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร (กวก.) กล่าวว่า กรมได้มีโครงการการที่จะนำงานวิจัยที่กรมได้มีการรับรองแล้วขยายผลไปยังเกษตรกร โดยจะมีการอบรมขยายผลเทคโนโลยีในการผลิตสารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยอินทรีย์ให้กับเกษตรกรประมาณ 8,400 ราย ในพื้นที่ 57 จังหวัด เริ่มก.ค. 2564 ต่อเนื่องไปในระยะเวลา 1 ปีเศษ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยอินทรีย์ใช้ได้เองสำหรับพืชในแต่ละกลุ่ม ช่วยลดต้นทุนการผลิตและนำมาสู่ความยั่งยืนของเกษตรกรเพราะเห็นประโยชน์จากการใช้จริง จากเดิมที่กรมจะผลิตและแจกจ่าย

นอกจากนั้นจะมีการขยายผลพันธุ์พืชที่กรมรับรองแล้วไปยังเกษตรกรเพื่อใช้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดต้องการเช่น พันธุ์สะตอตรัง มะพร้าว และในเร็วๆนี้จะมีการดำเนินโครงการพัฒนาพันธุ์หัวมันฝรั่งให้เกษตรกรผ่านกลุ่มสหกรณ์ เพื่อลดการนำเข้าพันธุ์หัวมันจากต่างประเทศ รวมถึงการขยายผลเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่กรมได้มีการวิจัยและพัฒนาขึ้นมา เช่น เครื่องสางใบอ้อยเพื่อลดต้นทุนในการเก็บเกี่ยวอ้อย เป็นต้น

นายชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมมีการวิจัยพืชผลทางการเกษตรที่หลากหลาย โดยเป้าหมายสำคัญของการกรมคืองานวิจัยที่ต้องถึงมือผู้ใช้ ส่งต่อเพื่อให้ผู้ใช้คือเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ภาคเอกชน เป็นผู้ขับเคลื่อนจึงต้องมีการขยายผลไปสู่ภาคประชาชน งานที่วิจัยแล้วเสร็จและจดลิขสิทธิ์แล้วกรมจะรายงานไว้ที่หน้าเวบไซด์ของกรม ประชาชนสามารถเข้ามาดูและติดต่อเพื่อให้ถ่ายทอดได้

"ที่ผ่านมางานวิจัยที่สำคัญ เช่นการผลิตพริกป่นแบบปลอดภัย ซึ่งหมายถึงปลอดภัยตั้งแต่ขบวนการที่จะทำให้ปลอดจากแมลงและสารกำจัดศัตรูพืชและสามามารถปลอดสารอัลฟ่าท๊อกซินได้อย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งกรณีนี้จะมาทดแทนพริกป่นที่ไม่ปลอดภัยได้เพราะส่วนมากมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่บางครั้งมีการปนเปื้อน ล่าสุดกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพริกป่นสนใจและประสานเข้ามาเพื่อให้กรมไปถ่ายทอดถ่ายเทคโนโลยีให้ นอกจากนั้นยังวิจัยกลุ่มสารชีวภัณฑ์เพื่อช่วยในการทำการเกษตรของเกษตรกร โดยเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมากรมได้มีการวิจัยสารยับยั้งการเกิดเชื้อราในเงาะหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจโดยเกษตรกรในพื้นที่จันทบุรีสนใจและขอให้กวก.เข้าไปช่วยขยายผลอีกงานวิจัยที่สำคัญคือการศึกษาการหมักบ่มกาแฟเลียนแบบกระเพาะชะมด เพื่อเพิ่มมูลค่ากาแฟ และตอบโจทย์ตลาดกาแฟที่ผู้บริโภคมีรสนิยมที่หลากหลาย" นายชูชาติกล่าว