ครม.รับทราบผลโพลล์ คนไทย 75.2% ต้องการฉีดวัคซีนโควิด เปิดโผ 6 จังหวัดต้องการวัคซีนสูงสุด

ครม.รับทราบผลโพลล์ คนไทย 75.2% ต้องการฉีดวัคซีนโควิด เปิดโผ 6 จังหวัดต้องการวัคซีนสูงสุด

ครม.รับทราบผลสำรวจชี้ชัดประชาชน75.2% ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 45. 6% มีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนนั้น จังหวัดต้องการวัคซีนสูง ภูเก็ตนำโด่งความต้องการเกิน 80% ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการวัคซีนที่รัฐจัดหา คน12.5% ต้องการวัคซีนไฟเซอร์

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19) เกี่ยวกับกรณีของวัคซีน โดยทางสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยการสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18ปีขึ้นไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนตัวอย่าง 46,600 คน  ระหว่างวันที่ 17-22 พฤษภาคม 2564

พบว่าประชาชนร้อยละ 75.2 ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในจำนวนนี้มีผู้ต้องการฉีดและพร้อมที่จะฉีดวัคซีนร้อยละ 47.7 และผู้ต้องการฉีดแต่ยังไม่พร้อมร้อยละ 27.5  ส่วนที่ฉีดวัคซีนแล้วมีร้อยละ 5.5

ขณะที่ร้อยละ 19.3 ไม่ต้องการฉีดวัคซีน โดยให้เหตุผลว่า กลัวผลข้างเคียงร้อยละ 16.4 , ไม่เชื่อมั่นว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันได้ร้อยละ 4.9 , มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย เช่น พิการ มีโรคประจำตัว ตั้งครรภ์ ร้อยละ 4.6, สามารถป้องกันตัวเองได้ร้อยละ 3.6  และไม่มีข้อมูลหรือข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจร้อยละ 3.2

สำหรับผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนระบุว่า วัคซีนที่ต้องการมากที่สุดคือ วัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ร้อยละ 54.6,  วัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ร้อยละ 12.5, วัคซีนโมเดอร์นาร้อยละ 3, วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันร้อยละ 2.5 และวัคซีนโนวาแวกซ์ร้อยละ 0.9

สำหรับ 6 จังหวัดที่มีผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วและผู้ที่พร้อมจะฉีดสูงกว่าร้อยละ 70   ได้แก่ ภูเก็ตร้อยละ 80.2 ,ตรังร้อยละ 80,ระนองร้อยละ 78.8, บุรีรัมย์ร้อยละ 73.3, ชลบุรีร้อยละ 71.8 และนนทบุรีร้อยละ 71.2  

เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุพบว่า ผู้ที่มีอายุ 18-29ปี  ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป ขณะที่นักเรียน นักศึกษา ผู้ว่างงาน ระบุว่าไม่ต้องการฉีดวัคซีนหรือไม่พร้อมฉีดสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น

สำหรับความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนนั้น ประชาชนร้อยละ 45.3 มีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพวัคซีนที่รัฐบาลให้บริการกับประชาชน ขณะที่ร้อยละ 54.7 ไม่เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่า กลัวผลข้างเคียงร้อยละ 41.3, วัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าวัคซีนที่จะเลือกใช้เองร้อยละ 7 , ได้รับข้อมูลข่าวสารของวัคซีนที่มีความขัดแย้งกันร้อยละ 5.7

 

 

เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัดพบว่า จังหวัดที่ไม่เชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนสูงกว่าร้อยละ 70 ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยละ 80.5 , ปัตตานีร้อยละ78.5, นราธิวาสร้อยละ 74, เชียงใหม่ร้อยละ  72.2, ขอนแก่นร้อยละ 71.3 และสตูลร้อยละ 70.4 และพบว่าประชาชนร้อยละ56.6 ระบุว่า การที่รัฐให้เงินชดเชยเป็นหลักประกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนมีผลต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีน และประชาชนร้อยละ 80.9 เห็นว่าควรเพิ่มสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีน

โดยเห็นว่าสถานที่ที่เหมาะสม 5อันดับแรกได้แก่ สถานีอนามัย/โรงพยาบาลประจำตำบล ร้อยละ  52.4 , จัดรถMobile ลงชุมชนร้อยละ 18.2, โรงเรียน อาคารอเนกประสงค์ สนามกีฬา วัด ร้อยละ 9.8, ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนร้อยละ 9.6 และสถานที่ราชการ ร้อยละ 6.9

นอกจากนี้ประชาชนยังเห็นว่า รัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนและลดความสับสนของข่าวสารดังนี้ ให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์ หรือผู้มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้นำเสนอประโชน์ของวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจอย่างต่อเนื่อง 48.3 % ให้หน่วยงานรับผิดชอบตรวจสอบข้อมูลและสกัดกั้นข่าวเท็จที่เผยแพร่จากสื่อสาธารณะ หรือโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว20.4%  และให้หน่วยงานเดียวเป็นผู้รับผิดชอบให้ข้อมูลข่าวสาร  18.8 % 

และยังพบด้วยว่า  ประชาชน90.5 %ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เรื่องที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ รายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย 49.3%  และเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุดได้แก่ ช่วยเหลือค่าครองชีพ 67.8%