‘เลียงกะทิฟักทอง’ Vs ‘ผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ’ ‘อาหารบำรุงธาตุ’

‘เลียงกะทิฟักทอง’ Vs ‘ผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ’  ‘อาหารบำรุงธาตุ’

อาหารไทยล้วนเป็น “อาหารบำรุงธาตุ” วันนี้ขอนำเสนอ “เลียงกะทิฟักทอง” และ “ผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ” มีสารอาหารครบ 5 หมู่ แถมยังวิตามินมากมาย โดยเฉพาะ “ฟักทอง” ผักสีเหลืองมีสารต้านอนุมูลอิสระ “กระชาย” เป็นยาอายุวัฒนะ “ต้านโควิด-19” “ใบแมงลัก” มีเบต้าแคโรทีน

162312842832

คุณกอ-เฉลิมวรรณ รงค์ทอง กับอาหารไทยอร่อยมีคุณค่าทางโภชนาการ 

ด้วยความที่เป็นคนชอบทำอาหารมาก อดีตข้าราชการบำนาญ(วิชาชีพพยาบาล) คุณกอ-เฉลิมวรรณ รงค์ทอง  ทุกวันนี้ยังมีความสุขที่ได้เรียนรู้สูตรอาหารใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา วันนี้จะมาเผยสูตรอาหารตำรับคุณย่า ซึ่งท่านเติบโตที่ ต.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ทำกับข้าวเก่ง เป็นแม่บ้านแม่เรือน แถมคุณย่ายังเป็นลูกท่านขุนชาติ (วัดหนองขุนชาติ) มีสูตรอาหารมากมายเช่น ต้มปลาร้าหน่อไม้ หน้าหน่อไม้จะนำ “หน่อไผ่ตง” ซึ่งเป็นหน่อไม้หวาน มาแกงใส่ข่า ตะไคร้ กระชาย หัวหอม กระเทียม เนื้อปลาย่าง โขลกละเอียด ใส่มะพร้าวคั่วโดย ผัดหมูสามชั้นกับเครื่องแกงให้หอมแล้วใส่หน่อไม้กับหางกะทิ พอจะทานค่อยเติมหัวกะทิ ลงไป แค่คิดตามก็ชวนน้ำลายสอแล้วนะคะ

162312842711

"เลียงกะทิฟักทอง" มีส่วนประกอบสำคัญคือ "ฟักทอง" มีสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินเอบำรุงสายตา ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง 

ทว่าวันนี้ “คุณกอ”  จะมาเปิดเผยสูตรอาหารฉบับคลาสสิคที่หมูหวานไม่เคยรับประทานมาก่อน นั่นก็คือ “ผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ” กับ “เลียงกะทิฟักทอง”  เป็นสูตรดั้งเดิมของคุณย่าเช่นกัน ถือว่าเป็น “อาหารบำรุงธาตุ” มีประโยชน์ทางโภชนาการมากมาย ซึ่ง “ฟักทอง” อยู่ในหมวดของ “ผักสีเหลือง” มีวิตามินเอ บำรุงสายตา อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง แถมยังบำรุงผิวพรรณให้เต่งตึงชุ่มชื้น ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคเบาหวานอีกด้วย  ส่วน “กระชาย” เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน บำรุงร่างกายต้าน “โควิด-19” ได้ดีอีกด้วย  จะว่าไป “กระชาย” เป็นพืชผักสมุนไพรที่อยู่คู่อาหารไทยมานาน เป็นส่วนผสมสำคัญของหลากหลายเมนูเช่นผัดฉ่า, ขนมจีนน้ำยา, แกงป่า ในสำรับของข้าวแช่ชาววังยังมีกระชาย ฯลฯ ทว่าเราไม่เคยสนใจในเรื่องของคุณประโยชน์ เพราะเกิดมาบรรพบุรุษเราก็พากินอยู่แล้ว เรียกได้ว่าแค่กินอาหารก็เป็นยาแล้วไม่ต้องถามหาวิตามินเสริมใดๆ

162312842845

"ใบแมงลัก" ช่วยขับลม แก้วิงเวียน ป้องกันโรคลำไส้ มีแคลเซียม และเบต้าแคโรทีน 

“อาหารบำรุงธาตุ” ที่จะนำเสนอในวันนี้ ยังมีส่วนประกอบของ “สมุนไพรไทย” อย่าง “ใบแมงลัก” ช่วยขับลม ขับเหงื่อ แก้วิงเวียน ป้องกันโรคเกี่ยวกับลำไส้ แถมยังมีเบต้าแคโรทีน เช่นเดียวกับแครอท และยังมีแคลเซียมอีกด้วย ส่วน “ต้นหอม” ที่ใช้กันมากในเมนู “อาหารไทย” นั้นก็เต็มไปด้วยคุณประโยชน์ มีวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตาและบำรุงสมอง มีสาร “ฟลาโวนอยด์” และสาร “เคอร์ซิติน” ช่วยยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็ง ป้องการการอักเสบ และโรคภูมิแพ้ มีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยบรรเทาอากาศหวัดคัดจมูกอีกด้วย

162312842810

"ผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ" อุดมไปด้วยโปรตีน เกลือแร่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม 

เรียกได้ว่า ทั้งเมนู “เลียงกะทิฟักทอง” และ “ผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ” มีสารอาหารครบครันไม่รวมโปรตีนจากสัตว์ อย่างเช่นหมูสับ และกุ้งแห้ง ในส่วนประกอบของอาหารยังมี ตะไคร้,หอมแดง,พริกขี้หนู และ “เต้าเจี้ยว” มีคุณประโยชน์จาก “ถั่วเหลือง” มีทั้งโปรตีน เกลือแร่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส  และโพแทสเซียม คุณกอ-เฉลิมวรรณ รงค์ทอง  เล่าที่มาของเมนูนี้ว่า

162312842923

"ต้นหอม" ในเมนู “ผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ” มีวิตามิน A บำรุงสายตาและสมอง มีน้ำมันหอมระเหยแก้หวัดคัดจมูก 

“ผัดเต้าเจี้ยวเป็นอาหารของคนจังหวัดตาก สมัยนั้นคุณปู่ (เอื้อน รงค์ทอง) กับคุณย่า (บุญเจือ รงค์ทอง)ไปรับราชการอยู่ที่จังหวัดตาก คุณย่าเป็นคนชอบทำอาหาร และทำอาหารอร่อย พอมาเป็นลูกสะใภ้ (แต่งงานกับ พ.ต.ท. เดช รงษ์ทอง)ตอนนั้นคุณย่าท่านเสียไปแล้ว แต่คุณแม่บ้านเก่าแก่ยังทำเมนูนี้ได้ ก็เลยลองทำ เต้าเจี้ยวของจังหวัดตากจะมีรสเปรี้ยว เค็ม เวลาทำเราจะเอามาล้างน้ำก่อน เมนูนี้ไม่เชิงเป็นน้ำพริกแต่จะทานกับผักสดเช่นแตงกวา ผักกาดขาว ผักชี ถ้าเป็นเต้าเจี้ยวหลนจะใส่กะทิ แต่อันนี้ไม่ใส่กะทิ คนโบราณเค้าช่างคิด ที่บ้านคุณปู่จะทำบ่อย เราเป็นคนเดียวที่ชอบทำ พี่ๆน้องๆเวลามาเจอกันจะต้องทำเมนูนี้ให้ทาน” 

162312842916

“ผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ” อร่อยดีมีประโยชน์ 

“เต้าเจี้ยว” แสนอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนนาการนี้ สามารถนำไปทำเป็นเมนูเมี่ยงได้อีกด้วย เช่น นำเนื้อเต้าเจี้ยวผสมมะนาว พริกขี้หนูซอย ปรุงรสให้ออกเปรี้ยวเค็มหวาน คนจังหวัดตากไม่ใช้ผักเป็นใบเมี่ยงแต่จะใช้ข้าวเกรียบงา  โดยทำแบบปากหม้อโรยงา แล้วตากแดดให้แห้ง เวลาทานเอาข้าวเกรียบไปจุ่มน้ำพอนิ่ม(เหมือนแหนมเนืองเวียดนาม) แล้วห่อมีมะพร้าวขูด พริกขี้หนู หอมซอย  ขิง ราดด้วยน้ำเต้าเจี้ยว ชื่อเมนู“เมี่ยงจอมพล” ชื่อของเมนูมาจากจอมพลถนอมท่านเป็นคนจังหวัดตาก แต่ไม่รู้ว่าท่านโปรดเมนูนี้ด้วยหรือเปล่า 

ได้ทราบเรื่องราวความเป็นมาของสูตรอาหาร  “เลียงกะทิฟักทอง” และ “ผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ” ที่อุดมไปด้วย “สมุนไพรไทย” ประโยชนของอาหารไทย “อาหารบำรุงธาตุ” ว่าแล้ว คุณกอ-เฉลิมวรรณ รงค์ทอง  ก็เข้าครัวปรุงสองเมนูแสนอร่อยอย่างมีคุณค่าให้หมูหวานได้ชิม พร้อมแนะเคล็ดลับความอร่อยอย่างไม่หวงสูตรอีกต่างหาก

162312842771

ส่วนประกอบของ "เลียงกะทิฟักทอง"

เลียงกะทิฟักทอง

ส่วนประกอบ :  ฟักทอง พริกแห้ง กะทิ กระชาย ตะไคร้ กะปิ หอมแดง กระเทียมไทย กุ้งแห้ง ใบแมงลัก น้ำตาลมะพร้าว

162312842782

ผัดเครื่องแกงกับหัวกะทิ 

วิธีทำ :

โขลกตะไคร้ กระชาย พริกแห้ง (เอาเม็ดออก) เกลือ พริกไทย กะปิ หอมแดง กระเทียม กุ้งแห้ง จากนั้น ผัดเครื่องแกงกับหัวกะทิ จากนั้นเทหางกะทิลงไป ใส่ฟักทอง รอฟักทองนิ่ม ใส่น้ำตาลมะพร้าวลงไป ปรุงให้ได้รสเค็ม-หวาน เติมน้ำปลาเล็กน้อย พอฟักทองสุก ใส่ใบแมงลัก ตักใส่จานพร้อมเสิร์ฟ

162312842786

พอเครื่องแกงหอมได้ที่แล้ว เทหางกะทิลงไป 

162312842878

พอเดือดใส่ฟักทองลงไป รอจนนิ่ม ค่อยปรุงรส สุดท้ายใส่ใบแมงลักลงไปก่อนปิดไฟ คนให้เข้ากัน แล้วตักเสิร์ฟร้อนๆ 

162312842827

ส่วนประกอบของ "ผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ"

ผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ

ส่วนประกอบ :

หมูสับ กระเทียมไทยซอย หอมแดงซอย พริกขี้หนูซอย ต้นหอมซอย เต้าเจี้ยวขาว น้ำปลา น้ำ มะนาว น้ำตาลมะพร้าว พริกลูกโดด  น้ำมันพืช

162312842930

เริ่มจากนำกระเทียมซอยลงไปเจียว

วิธีทำ :

นำกระเทียมซอยลงไปเจียว (น้ำมันน้อย) พอเริ่มเหลืองนำหอมแดงซอยลงไปเจียวด้วยกัน พอเหลือง ใส่หมูสับลงไปผัดคลุกเคล้า จากนั้น ใส่เต้าเจี้ยว พริกขี้หนูซอยสีเขียว-แดง เติมรสหวานด้วยน้ำตาลมะพร้าว หากแห้งเกินไปเติมน้ำเปล่าลงไปนิดหน่อย พอหมูสุกแล้ว หรี่ไฟอ่อน บีบมะนาว และพริกลูกโดด ผัดคลุกเคล้าเข้ากันดีแล้ว ตักใส่ชามพร้อมเสิร์ฟกับผักสดตามชอบ