โควิดฉุดยอดขาย'ทองรูปพรรณ'อินเดียทรุด

โควิดฉุดยอดขาย'ทองรูปพรรณ'อินเดียทรุด

โควิดฉุดยอดขาย'ทองรูปพรรณ'อินเดียทรุด ขณะนักวิเคราะห์คาดอาจต้องรอถึงเดือนพ.ย.ความต้องการทองรูปพรรณจึงเพิ่มขึ้นเพราะเป็นฤดูกาลแต่งงานของชาวอินเดีย

บรรดาผู้ค้าปลีกทองรูปพรรณในอินเดียพากันผิดหวังไปตามๆกันหลังจากงานเทศกาลประจำปีเมื่อเดือนที่แล้วไม่ได้ช่วยกระตุ้นยอดขาย เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศพร้อมใจประกาศล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็มีความหวังใหม่ว่าหลังสิ้นสุดฤดูมรสุมประมาณเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้ วิกฤตโควิด-19 จะบรรเทาลง และราคาทองรูปพรรณที่ฟื้นตัวในช่วงเดือนมี.ค.จะยังคงมีราคาที่พอหาซื้อได้

เมื่อ2เดือนที่แล้ว บรรดาผู้ค้าปลีกทองคำรูปพรรณในอินเดียต่างมองแง่ดีว่าความต้องการทองรูปพรรณจะเพิ่มขึ้นก่อนหน้าวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งตรงกับเทศกาลอักษยาตรีติยา หรือเทศกาลฤดูใบไม้ผลิประจำปีของฮินดู และเชน ตรงกับวันทิฏฐิที่สาม (วันจันทรคติ) ของไบร์ทฮาล์ฟ (ชุกละปักชา) ของเดือนเวสาลี

ถือเป็นฤกษ์งามยามดีของชาวฮินดูและเชนในอินเดียและเนปาลซึ่งหมายถึง “วันที่สามแห่งความเจริญรุ่งเรืองไม่รู้จักจบสิ้น” วันเทศกาลจะแตกต่างกันไปและกำหนดตามจันทรคติ ปฏิทินฮินดู และตรงกับเดือนเม.ย.หรือพ.ค.ของทุกปีในปฏิทินเกรกอเรียน

แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ของอินเดียจนทำให้ทางการต้องตัดสินใจล็อกดาวน์ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะความต้องการซื้อทองรูปพรรณ

“ร้านของเราขายทองไม่ได้เลยตั้งแต่ทางการประกาศล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา พอมาถึงวันที่14 พ.ค.เราก็มีความหวังว่าทองรูปพรรณจะขายดีขึ้น ประกอบกับช่วงต้นเดือนเม.ย.ราคาทองลงมาอยู่ที่ 45,000 รูปี (619 ดอลลาร์)ต่อน้ำนักทอง 10 กรัม และยอดติดเชื้อโควิด-19ยังไม่สูงมากนัก ทำให้มีความหวังว่าในเทศกาลอักษยาตรีติยา ทองจะขายดี แต่สถานการณ์กลับไปเป็นอย่างที่คาด”วิชัย โซนิ เจ้าของร้านเครื่องประดับเล็กๆในกรุงนิว เดลี กล่าว

ขณะที่พ่อค้าปลีกทองรูปพรรณบางคน มองว่า อาจต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่ราคาทองจะฟื้นตัว โดยอาจจะต้องรอถึงเดือนพ.ย.ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ชาวอินเดียนิยมแต่งงานทำให้ในช่วงเดือนนี้ความต้องการทองรูปพรรณจะสูงตามไปด้วย

แต่การะบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้สร้างผลกระทบแก่ร้านทองเล็กๆสองแห่งนี้เท่านั้น โดยยอดขายทองรูปพรรณที่ปรับตัวขึ้นมากกว่า 100,000 ล้านรูปี(1.36 พันล้านดอลลาร์)ในช่วงเทศกาลอักษยาตรีติยาในปี 2562 กลับมียอดขายลดลงเหลือเพียง 5,000 ล้านรูปีเมื่อปีที่แล้วเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการล็อกดาวน์

"เทศกาลอักษยาตรีติยาเจอมาตรการล็อกดาวน์สองปีซ้อน จึงทำให้บรรดาร้านค้าปลีกทองและร้านเครื่องประดับเจอปัญหายอดขายร่วงครั้งใหญ่"ปานกาจ อะโรรา เลขาธิการสมาคมผู้ค้าทองและอัญมณีแห่งอินเดีย กล่าว

ข้อมูลจากเว็บไซต์ไทม์ ออฟ อินเดีย ระบุว่า ทองคำรูปพรรณที่ชาวอินเดียนิยมมากที่สุดคือ กำไรข้อมือ มีสัดส่วนของยอดขายประมาณ 30-40% หรือปริมาณ 8-25 กรัม รองลงมาคือ

สร้อย 30-40% มีปริมาณ 10-50 กรัม อันดับ3 คือ สร้อยคอ มีสัดส่วนของยอดขาย 15-20% ในปริมาณ 25-250 กรัม อันดับ4 คือ ตุ้มหู มีสัดส่วนของยอดขาย 5-15% มีปริมาณ 2-30 กรัม และอันดับ 5 คือ แหวน มีสัดส่วนของยอดขาย 5-15% มีปริมาณ 2-15 กรัม

ประเภทของเครื่องประดับที่ชาวอินเดียทุ่มเงินซื้อมากที่สุด คือของหมั้น มีสัดส่วน 50-55% เครื่องประดับติดตัวในแต่ละวัน มีสัดส่วน 35-40% และเครื่องประดับประเภทแฟชัน มีสัดส่วนเพียง 5-10%

162310952748

ขณะที่ราคาทองปรับตัวขึ้น 13% เป็น 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงต้นเดือนมิ.ย.จากที่ลดลงต่ำสุดในรอบ9เดือนในเดือนมี.ค. ขณะที่โคอิชิโร คาเมอิ นักวิเคราะห์ตลาดทองคำคาดการณ์ว่า การร่วงลงของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกระตุ้นให้บรรดานักลงทุนหันมาซื้อทองคำอีกครั้ง

ด้านสัญญาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์(4 มิ.ย.) ปรับตัวขึ้นเนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อทองในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.อยู่ในระดับต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้

สัญญาทองคำตลาดโคเม็กซ์ ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 18.7 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 1,892 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองคำลดลงราว 0.7% โดยลดลงรายสัปดาห์เป็นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์ สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 41.9 เซนต์ หรือ 1.52% ปิดที่ 27.896 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนสัญญาพลาตินัม ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.9 ดอลลาร์ หรือ 0.16% ปิดที่ 1,164.4 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นขานรับสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่ต่ำกว่าคาด โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 559,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 671,000 ตำแหน่ง แต่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 278,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย.

ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 5.8% ในเดือนพ.ค. ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่า อาจจะลดลงสู่ระดับ 5.9% หลังจากแตะระดับ 6.1% ในเดือนเม.ย.

สัญญาทองคำยังได้แรงหนุนจากการที่ดอลลาร์อ่อนค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง โดยการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

สัญญาทองคำได้แรงหนุนจากการที่ดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งทำให้สัญญาทองคำมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.41% สู่ระดับ 90.1401