สรุป 3 เคสผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด สปสช.จ่ายเงินช่วยเหลือครอบครัว

สรุป 3 เคสผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด สปสช.จ่ายเงินช่วยเหลือครอบครัว

สรุป 3 เคสผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด สปสช.จ่ายเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 400,000 บาท

ขณะนี้ประเทศไทยทยอยฉีดวัคซีนโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งด้านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ย้ำว่า หากฉีดวัคซีนโควิดแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ตั้งแต่เจ็บป่วยเล็กน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิต ให้ยื่นขอรับเงินเยียวยาได้เลย ย้ำเป็นหลักการเยียวยาเบื้องต้น ไม่พิสูจน์ถูกผิดว่าสาเหตุเกิดจากวัคซีนหรือไม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบ 

โดยในการพิจารณาเมื่อคณะอนุกรรมการได้รับเรื่องและมีมติอนุมัติช่วยเหลือแล้วนั้น จะพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือภายใน 5 วัน ซึ่งจะครอบคลุมเฉพาะวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลจัดหาให้เท่านั้น โดยมีเกณฑ์จ่ายในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 4 แสนบาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 2.4 แสนบาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ตามภาวะความรุนแรง

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สปสช.ได้จ่ายเงินเยียวยาในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนโควิดแล้วทั้งหมด 3 เคส ดังนี้

1.เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 สปสช.เขต 4 อนุมัติช่วยเหลือแพ้วัคซีนโควิดแล้ว 4.69 แสนบาท เคสเสียชีวิตหลังรับวัคซีนได้ 4 แสนบาท

สปสช.เขต 4 สระบุรี จัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหาย จากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบ ZOOM โดยมี นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี เป็นประธานและดำเนินการประชุม มีอนุกรรมการเข้าร่วมครบองค์ประชุม ประกอบด้วย พญ.ปองรัตน์ นิรมิตหาปัญญา นพ.สราวุธ ครองสัตย์ นางลักษณา ศังขชาต และนายเอนก มณีนาค มีนายจักรินทร์ ฆ้องวงษ์ สปสช.เขต 4 สระบุรี เป็นเลขานุการ

โดยในพื้นที่เขต 4 สระบุรี ซึ่งรับผิดชอบ 8 จังหวัดได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทองและนครนายก ได้มีการพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว จำนวน 8 ราย รวมเป็นเงิน 469,500 บาท เป็นชาย 2 ราย และหญิง 6 ราย โดยส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย จำนวน 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 เจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาล 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.5 และเสียชีวิต 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.5 อายุระหว่าง 23-50 ปี อายุน้อยสุด 23 ปี และอายุมากที่สุด 50 ปี  

กรณีผู้ที่เสียชีวิต คือ นายสมชาย ม่วงวัง อายุ 50 ปี รับวัคซีนโควิด-19 ที่จังหวัดปทุมธานี คณะอนุกรรมการพิจารณามีความเห็นว่าได้รับความเสียหาย เป็นอาการที่เกิดหลังจากการรับวัคซีน มีอาการแน่นหน้าอกตลอด และเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีน 5 วัน และผู้ได้รับผลกระทบเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องเป็นผู้ดูแลบิดา มารดา และเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว จึงลงมติเสนอจ่ายเงินช่วยเหลือ 400,000 บาท

2.เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 สปสช.เขต 1 มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้าน จ.แพร่ เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด 400,000 บาท

นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ระดับเขตพื้นที่ เขต 1 เชียงใหม่ ได้มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กรณีของนายอุดร เย็นจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 .ห้วยม้า .แพร่ ซึ่งเสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเต็มอัตราในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรที่กำหนดให้จ่ายได้ไม่เกิน 400,000 บาท โดย สปสช.จะเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยเร็วภายใน 5 วัน

นพ.เติมชัย เปิดเผยต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมเป็นจำนวน 23 ราย เป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 475,500 บาท นอกจากเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีการเสียชีวิตของนายอุดร เย็นจิตร จำนวน 400,000 บาทแล้ว ที่เหลือเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบเล็กน้อย 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ เขต 1 เชียงใหม่ได้ประชุมไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 19 และ 28 พฤษภาคม และวันที่ 4 มิถุนายน รวมพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไป 100 ราย จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปจำนวน 717,500 บาท    

ด้าน ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง กรรมการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องฯ ระดับเขตพื้นที่ เขต 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิตภายหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของนายอุดร เย็นจิตรนั้น ตามข้อมูลผู้เสียชีวิตได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ต่อมาตอนกลางคืนวันที่ 18 พฤษภาคม มีอาการหายใจผิดปกติ ถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ตามประวัติพบว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นน่าจะเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน  

2.เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 สปสช.เขต 1 มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือ 400,000 บาท เคสผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีนที่จังหวัดสงขลา

ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ระดับเขตพื้นที่ เขต 12 สงขลา ได้ร่วมกันพิจารณาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนจะเห็นพ้องร่วมกันที่จะอนุมัติการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใน จ.สงขลา เป็นจำนวน 4 แสนบาท

สำหรับผู้เสียชีวิตรายนี้ ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกในวันที่ 14 พ.ค. 2564 และไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ในช่วง 30 นาทีแรก สองวันถัดมาคือในวันที่ 16 พ.ค. 2564 เริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย ถัดจากนั้นอีก 3 วัน คือวันที่ 19 พ.ค. 2564 เกิดอาการวูบ จึงได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา จนกระทั่งในวันที่ 22 พ.ค. 2564 เริ่มเกิดอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และหมดสติในวันที่ 27 พ.ค. 2564 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตามการพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหาย จากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สปสช.เขต 12 สงขลา แล้วจำนวน 10 ราย ผลการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 8 ราย รวมเป็นเงิน 537,000 บาท เป็นอาการเจ็บป่วยปานกลาง จำนวน 1 ราย เป็นอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาล 6 ราย และเสียชีวิต 1 ราย (400,000 บาท)