‘Monsoon Malabar’ กาแฟรสชาติฤดูมรสุม

‘Monsoon Malabar’ กาแฟรสชาติฤดูมรสุม

ลัดฟ้าสู่แดนภารตะ ค้นหาที่มาของ "มอนซูน มะละบาร์" วัฒนธรรมหรือวิถีกาแฟของอินเดียที่เกิดขึ้นมานานและสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ถึงขั้นพัฒนาต่อยอดให้เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง

เมื่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคมของทุกปี นำมวลอากาศชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมาสู่ประเทศไทย ทำให้มีเมฆมากและฝนชุกทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณชายฝั่งทะเล... ทันทีที่ผู้เขียนฟังข่าวพยากรณ์อากาศจบลง ในใจพลันนึกไปถึงกาแฟสไตล์หนึ่งของอินเดียที่ผลิตกันขึ้นมาในช่วงฤดูมรสุม เป็นกาแฟที่มีรสชาติเฉพาะตัวมากๆ แล้วก็มีชื่อเสียงไม่น้อยทีเดียว นั่นคือ "มอนซูน มะละบาร์" (Monsooned Malabar /Monsoon Malabar)

อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรกว่าหนึ่งพันล้าน มากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ใช้ภาษาพูดกันร้อยแปดสิบแปดภาษาโดยประมาณ  เป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมและศาสนา ด้านเศรษฐกิจก็ไม่ธรรมดา มีอำนาจการซื้อสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก

แต่เมื่อเอ่ยถึงเครื่องดื่มยอดนิยมของโลกอย่างกาแฟ อินเดียแทบไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันมากนักในฐานะแหล่งปลูกกาแฟ “ชั้นแนวหน้า" ของโลก แม้ว่าในส่วนปริมาณการผลิตกาแฟนั้น ประเทศยักษ์ใหญ่ของเอเชียใต้แห่งนี้รั้งอยู่ใน "อันดับที่ 7" ของโลกทีเดียว

ปริมาณการผลิตกาแฟต่อปีของอินเดียยืนอยูที่ประมาณ 300,000 ล้านตัน ในปีค.ศ. 2019 ตัวเลขนี้นับรวมกาแฟ 2 สายพันธุ์หลักที่ปลูกกันในประเทศ ได้แก่ "อาราบิก้า" และ "โรบัสต้า" แต่สำหรับสายพันธุ์ยอดนิยมอย่างกาแฟอาราบิก้านั้น ราว 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินค้าส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ตลาดใหญ่อยู่ในภาคพื้นยุโรป โดยเฉพาะอิตาลี, เยอรมนี, รัสเซีย, สเปน, เบลเยียม, ฝรั่งเศส และกลุ่มสแกนดิเนเวีย รวมทั้งญี่ปุ่น ที่เหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์ จำนวนนี้บริโภคกันภายในประเทศ

บนฉลากบรรจุภัณฑ์กาแฟจากอินเดียที่ส่งไปขายต่างประเทศนั้น แทบทุกซองทุกถุงจะมีคำว่า "Monsooned Malabar" หรือ "Monsoon Malabar" ติดหราอยู่ด้านหน้าปรากฎให้เห็นกันอย่างชัดเจน เป็นกาแฟที่ขึ้นชื่อมากในเรื่องรสชาติเฉพาะตัวเมื่อถูกนำไปทำเป็นเอสเพรสโซ ถือว่าถูกปากคอกาแฟรุ่นเก๋าในยุโรปมากทีเดียว

162281724013

คอกาแฟยุโรปนิยมชงเอสเพรสโซ จากมอนซูน มะละบาร์ / ภาพ : Tim St. Martin on Unsplash

"มอนซูน มะละบาร์" ไม่ได้หมายถึง "สายพันธุ์กาแฟ" แต่หมายถึง "สารกาแฟ" รูปแบบหนึ่งซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงสีและรูปลักษณะจากอิทธิพลของลมมรสุม พบเฉพาะในอินเดียตะวันตกเฉียงใต้เท่านั้น แล้วชื่อนี้ก็โด่งดัง รู้จักกันมาเป็นร้อยปีแล้ว

เป็นการแปรรูปกาแฟแบบดั้งเดิมที่มีลักษณะเฉพาะตัวของชาวไร่อินเดีย ได้แรงบันดาลใจการขนส่งสารกาแฟระหว่างมรสุมฤดูฝนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งมรสุมนั้นมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Monsoon แล้วก็มีการนำมาตั้งเป็นชื่อกาแฟด้วย ไฮไลท์ของกระบวนการนี้ อยู่ที่อาศัย "ลมทะเล" ที่พัดจากชายฝั่งตะวันตกของทะเลอาหรับช่วงฤดูมรสุม พร้อมหอบเอา "ความชื้น" มาด้วย ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตสารกาแฟ จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแหล่งปลูกกาแฟ 3 แหล่งบริเวณชายฝั่งมะละบาร์ อันแนวชายฝั่งทะเลยาวและแคบทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ได้แก่พื้นที่รัฐกรณาฏกะ, รัฐเกรละ และแถบภูเขานิลคีรีของรัฐทมิฬนาดู

...นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งการจำลองเหตุการณ์ทางธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในการแปรรูปกาแฟ จนกลายเป็นแบบฉบับและวิถีประจำท้องถิ่นขึ้นมา แทบไม่มีเทคนิคซับซ้อนอะไรมากมายนัก

162281683112

บริเวณแนวชายฝั่งมะละบาร์ แหล่งแปรรูปกาแฟมอนซูน มะละบาร์ / ภาพ : commons.wikimedia

กาแฟนั้นมีประวัติมายาวนานทีเดียวในดินแดนภารตะ ย้อนหลังไปถึงกว่า 300 ปีทีเดียว นับจากวันที่ "บาบา บูดัน" นักแสวงบุญมุสลิมชาวอินเดีย ได้นำกาแฟ 7 เมล็ด ออกมาจากท่าเรือ "มอคค่า" ของเยเมน หลังเดินทางกลับจากนครเมกกะในปี ค.ศ. 1670 แล้วลงมือปลูกในพื้นที่ซึ่งรู้จักกันว่า "เขตชิคมากาลูร์" ปัจจุบันอยู่ในรัฐกรณาฏกะ จากนั้นไร่กาแฟก็กระจายออกไปตามส่วนต่างๆ ของอินเดียตอนใต้ จนกลายมาเป็นเครื่องดื่มที่มีบทบาทสูงต่อเศรษฐกิจและสังคมของอินเดียตลอดช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อังกฤษ ในฐานะเจ้าอาณานิคมอินเดียได้หันไปส่งเสริมการ "ปลูกชา" เป็นการใหญ่เพื่อเป็นสินค้าส่งออก หลังจากอังกฤษและจีนมีปัญหาจนถึงขั้นประกาศสงครามกันซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ "สงครามฝิ่น" ส่งผลให้กาแฟในอินเดียถูกลดบทบาทความสำคัญลงไป ทั้งๆ ที่เป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ทำไร่กาแฟในเชิงพาณิชย์ จนปัจจุบัน อินเดียกลายเป็นชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องชาที่ปลูกบนภูเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ไร่กาแฟยึดครองพื้นที่ภาคใต้

แม้เป็นแหล่งปลูกกาแฟอันดับที่ 7 ของโลก และมีกาแฟอาราบิก้าอยู่ 4 สายพันธุ์หลักๆ ได้แก่ เค้นส์ (Kent), เอส.795 (S.795), คาเวอรี่ (Cauvery) และ ซีเล็คชั่น 9 (Selection 9) แต่อินเดียกลับไม่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากมายอะไรนักในแวดวงกาแฟนานาชาติ ยิ่งตลาด "กาแฟแบบพิเศษ" ที่กำลังเบ่งบานอยู่ในเวลานี้ด้วยแล้ว กาแฟอินเดียแทบไม่มีพื้นที่ให้สอดแทรกเข้าไปปักหลักได้เลย ในธุรกิจมีกาแฟจากทวีปแอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ เป็นเจ้าตลาดเสียส่วนใหญ่

ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา คนอินเดียรุ่นใหม่ที่กระโจนเข้าสู่ธุรกิจกาแฟได้พยายามปรับปรุงคุณภาพกาแฟทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

มีการนำเทคนิคและองค์ความรู้การทำกาแฟยุคใหม่เข้ามาใช้ โดยเฉพาะนำวิธีการแปรรูปกาแฟแนวใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงเคมีในกาแฟ อันเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น carbonic maceration และ anaerobic fermentation ซึ่งเป็นกระบวนการหมักกาแฟแบบไม่ใช้ออกซิเจน หวังยกระดับคุณภาพการผลิต สร้างความหลากหลายในด้านกลิ่นและรสชาติ และเพิ่มมูลค่าในด้านการส่งออกกาแฟไปยังตลาดต่างประเทศ จากที่ชาวไร่อินเดียตามแหล่งปลูกทั่วประเทศ นิยมใช้กันอยู่ 2 วิธี คือ การโพรเซสแบบแห้ง (dry process) และแบบเปียก (wet process)

แต่ไม่ว่ากาลเวลาจะนำมาซึ่งวิธีแปรรูปกาแฟแบบใหม่ๆ มิได้ว่างเว้น สุดท้าย... ชาวไร่กาแฟบริเวณชายฝั่งทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ยังคงยึดมั่นกับวิธีแปรรูแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า "มอนซูน มะละบาร์" อาจเพราะว่า เอกลักษณ์ระดับท้องถิ่น ได้กลายเป็นเสมือน “เครื่องหมายทางการค้า” ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกแล้ว กาแฟสไตล์นี้ยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย แม้ความนิยมนี้ยังไม่สูงเท่ากาแฟตัวดังๆ จากแอฟริกาหรืออเมริกากลาง/ใต้ แต่ก็มีตลาดรองรับมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพื้นยุโรป

162281700279

เมล็ดกาแฟมอนซูน มะละบาร์ ที่ผ่านการคั่วแล้ว / ภาพ : Karachun/commons.wikimedia

เอาเข้าจริงๆ เมื่อเอ่ยถึงกาแฟจากแดนภารตะ ชื่อของ “มอนซูน มะละบาร์” น่าจะลอยขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ เลย ตามมาด้วยกาแฟพันธุ์เค้นส์ ที่ปลูกกันมาก

กระบวนการผลิตสารกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นในแบบของ “มอนซูน มะละบาร์” ทำให้เกิดกาแฟที่มีกลิ่นรสเฉพาะตัวขึ้นมา รสชาติออกโทนคล้ายเครื่องเทศและช็อคโกแลต  ตามด้วยกลิ่นแบบถั่วเปลือกแข็งและกลิ่นคล้ายยาสูบ บอดี้ค่อนข้างหนักแน่น ที่สำคัญมี "ความเปรี้ยว" ในระดับต่ำซึ่งถือเป็นจุดขายหลักของกาแฟอินเดียสไตล์นี้

สำหรับต้นกำเนิดของการแปรรูปกาแฟแนวนี้ นั้น ต้องย้อนปูมไปถึงอินเดียในยุค "บริติชราช" (British Raj) ซึ่งเป็นช่วงที่อินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ระหว่างปี ค.ศ.1858 -1947 ตอนนั้น อินเดียมีการปลูกกาแฟกันมาก่อนแล้ว ส่วนใหญ่บริโภคกันเองในประเทศ แต่พออังกฤษเข้ามาปกครอง ตามนิสัยผู้กอบโกย ก็เลยออกนโยบายต้องการนำกาแฟส่งไปขายยังตลาดยุโรป การขนส่งนั้นเล่าก็ต้องขนกระสอบบรรจุกรีนบีน (green bean) หรือ “สารกาแฟ” ที่ผ่านการสีเอากะลาออกพร้อมนำไปคั่ว ขึ้นเรือเดินสมุทรข้ามน้ำข้ามทะเล อ้อมผ่านแหลมกู้ดโฮป มุ่งเหนือขึ้นไปยังยุโรป ซึ่งต้องใช้เวลารอนแรมนาน 4-6 เดือนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง

ตอนนั้น ในอินเดียนิยมวิธีแปรรูปแบบเปียกซึ่งนิยมใช้ตามแหล่งปลูกที่ไม่ขาดแคลนน้ำ เมื่อเสร็จขั้นตอนแปรรูป ก็จะได้สารกาแฟออกโทนสีเขียวอมเทา แต่สีสารกาแฟได้เกิดเปลี่ยนไปขณะอยู่บนเรือ

การขนส่งกาแฟในช่วงฤดูมรสุมตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงกันยายน ก็เลยเกิดปรากฎการณ์นี้ขึ้นมา เมื่อลมทะเลกับฝนที่นำมาซึ่งความชื้น ทำให้สารกาแฟในกระสอบค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็น “สีเหลืองซีด” หรือเหลืองจางๆ ต่างไปจากสีเดิม นอกจากนั้นแล้ว ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องขนาดที่ “บวม” ขึ้น เมื่อนำมาคั่วและชงเป็นกาแฟ ปรากฎว่าเมื่อดื่มแล้ว ให้กลิ่นและรสชาติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือมีความเปรี้ยวลดลงมาก จนได้รับความนิยมสูงมากในยุโรป เลยเป็นที่มาของชื่อ "มอนซูน มะละบาร์" นับจากบัดนั้น

162281691412

สีของสารกาแฟมอนซูน มะละบาร์ (ซ้าย) เมื่อเทียบกับสารกาแฟเอธิโอเปีย เยอกาเชฟ / ภาพ : Takeaway/commons.wikimedia

"มอนซูน มะละบาร์" จึงเป็นชื่อที่คำแรกนำมาจาก “มรสุม” คำที่สองหมายถึงแหล่งปลูกกาแฟตามชายฝั่ง “มะละบาร์”

เรื่อง "ความชื้น" ทำให้สารกาแฟเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีดนั้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสมัยที่ไปอบรมการคั่วกาแฟมา เนื้อหาส่วนหนึ่งก็พูดถึง "ข้อบกพร่อง" ของกาแฟสาร (defect) แล้วสารกาแฟที่มีค่าความชื้นสูง (moisture content) ก็จะมีสีเหลืองซีดหรือสีเหลืองอ่อน อาจมี “เชื้อรา” เจือปนอยู่ด้วย ถือเป็นกาแฟเสื่อมคุณภาพ เข้าข่ายมีข้อบกพร่องหรือมีตำหนิตามตำราที่ร่ำเรียนมา

เลยเกิดสงสัยขึ้นมาอย่างไม่แน่ใจว่า การขนส่งทางเรือเดินสมุทรที่สมัยนั้นเรือก็สร้างกันจากไม้ เดินทางนานเป็นเดือนๆกลางทะเลในช่วงฤดูมรสุม ผ่านทั้งพายุฝนและลมทะเล จนสุดท้ายเกิดความชื้นขึ้นในสารกาแฟ ใช่จะมีเชื้อราเจือปนอยู่ด้วยหรือไม่?

ความชื้นนั้นเป็นที่ต้องคำนึงถึงมากๆ ในการแปรรูปกาแฟ เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กาแฟเกิดภาวะเสื่อมคุณภาพ สารกาแฟจะต้องมีความชื้นที่เหมาะสมเพื่อรักษาซึ่งกลิ่นและรสชาติตามธรรมชาติเอาไว้ แล้วก็ตามโรงคั่วหรือไร่กาแฟยุคใหม่ ก็จะมีเครื่องวัดความชื้นกาแฟ ติดเอาไว้เสมอ เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของกาแฟ

จากข้อมูลขององค์กรกาแฟสากล (ICQ) ก็ระบุเอาไว้ว่า กาแฟที่ผ่านการแปรรูปมาแล้วนั้นควรมีค่าความชื้น อยู่ที่ 8–12.5 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นในกาแฟพิเศษที่ผ่านการแปรรูปแบบดั้งเดิม เช่น "กาแฟมอนซูน" ในอินเดียที่มีค่าความชื้นสูงกว่าโดยทั่วไป

ปัจจุบัน ระบบคมนาคมที่ทันสมัยและมีความรวดเร็วขึ้นมาก การขนส่งสินค้าไม่ต้องใช้เวลานานเป็นครึ่งปีเหมือนเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้เรือสามารถแล่นตัดเข้าคลองสุเอซได้เลย การส่งสินค้าจากอินเดียไปยุโรปไม่จำเป็นต้องอ้อมแหลมกู้ดโฮปอีกต่อไป อีกทั้งการปกป้องสารกาแฟจากลมฟ้าอากาศและความชื้นก็ทำได้ดีกว่าแต่ก่อน สารกาแฟจากแหล่งปลูกมาอย่างไร ก็ไปถึงมือลูกค้าอย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม สารกาแฟในแบบฉบับ "มอนซูน มะละบาร์" กลับยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดยุโรป ร้านและโรงคั่วกาแฟหลายประเทศยังคงเรียกร้องถามหากันอยู่ อาจเป็นเพราะเรื่องราว "ต้นกำเนิด" ที่เปี่ยมสีสัน หรือ "รสชาติ" ที่มีความเปรี้ยวต่ำ หรือเป็นทั้ง 2 องค์ประกอบ เมื่อมี “จุดขาย” เช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจที่กาแฟลมมรสุมมะลาบาร์จะได้ไปต่อ

แต่สภาพการณ์เช่นเดิมที่สารกาแฟบนเรือโดนฝนโดนลมทะเลไม่มีอีกต่อไปแล้ว บรรดาเกษตรกรชาวไร่อินเดีย เลย "จำลอง" เหตุการณ์กลางทะเลมาใช้บนภาคพื้นดิน แล้วก็อาศัยช่วงฤดูมรสุมมาประยุกต์ใช้ในการแปรรูปกาแฟ เปิดโรงตากทำงานกัน 4 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน โดยนำสารกาแฟที่ได้จากการแปรรูปกาแฟแบบแห้ง (dry process) และจัดเก็บไว้เป็นอย่างดี มาเรียงบนลานพื้นปูนซิเมนต์ที่มีหลังคา ให้สารกาแฟเรียงซ้อนกันหนาราว 4-6 นิ้ว เพื่อรับความชื้นอย่างเต็มที่จากลมทะเลและฝนที่ตกลงมาเป็นเวลา 12-16 สัปดาห์ ในระหว่างนี้ จะต้องคอยพลิกสารกาแฟกลับไป-มาตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้

สารกาแฟจะค่อยๆ เปลี่ยนจากเขียวอมเทาเป็นสีซีดจนเหลือง ขณะที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน ก่อนนำมาคัดแยกสารกาแฟที่ไม่สมบูรณ์ออก และนำมาบรรจุกระสอบเพื่อส่งออกเป็นล็อตใหญ่ หรือแยกใส่ถุงขนาดเล็กส่งขายให้ลูกค้ารายเล็กๆ ...แน่นอนว่าบนฉลากของกระสอบหรือถุงกาแฟทุกขนาดและทุกไซส์ ต้องมีคำว่า Monsoon Malabar หรือ Monsooned Malabar ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน

ในระยะหลัง เริ่มมีการปรับเปลี่ยนจากวางบนลานปูนมาวางบนแคร่ยกพื้น ตามรูปแบบของกาแฟพิเศษที่เน้นในเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน แล้วก็นำเทคนิคและองค์ความรู้ต่างๆ มาใช้เพื่อคุมโทนของกลิ่นและรสชาติให้ใกล้เคียงกับ “ของเดิม” มากที่สุด พร้อมๆ กับมีการวัดค่าความชื้นในสารกาแฟ ป้องกันไม่ให้มีค่าสูงเกินไปจนเกิดภาวะเสื่อมคุณภาพหรือตำหนิของกาแฟขึ้นมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคอกาแฟในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่

162281706332

เมล็ดกาแฟบรรจุถุง มอนซูน มะละบาร์ จากร้านในเยอรมนี / ภาพ : instagram.com/kaffeeroesterei_eiderstedt/

ปัจจุบัน สารกาแฟที่ผ่านวิธีการแปรรูปแบบนี้ จากแหล่งปลูกใน 3 รัฐบริเวณชายฝั่งมะละบาร์ ได้แก่ รัฐกรณาฏกะ,รัฐเกรละ และแถบภูเขานิลคีรีของรัฐทมิฬนาดู ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมาย "สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์" ของอินเดีย เหมือนเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า รวมไปถึงป้องกันการลอกเลียนแบบด้วย

ในแหล่งปลูกทั้ง 3 รัฐที่นิยมแปรรูปกาแฟแบบ “มอนซูน มะละบาร์” มีการนำกาแฟทั้งสายพันธุ์อาราบิก้าและโรบัสต้ามาเข้าสู่กระบวนการนี้ ดังนั้น เวลาสั่งซื้อ ควรตรวจสอบฉลากบนถุงกาแฟให้ชัดเจนว่า เป็น "มอนซูน มะละบาร์ อาราบิก้า" หรือ "มอนซูน มะละบาร์ โรบัสต้า"  จะได้ไม่เกิดกรณีผิดฝาผิดตัวขึ้นมา

พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า "มอนซูน มะละบาร์" ถือเป็นวัฒนธรรมหรือวิถีกาแฟของอินเดียที่เกิดขึ้นมานานแล้วก็สืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ถึงขั้นพัฒนาต่อยอดให้เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง เป็นสินค้าที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่อินเดียมานักต่อนัก ในระยะหลังๆ ก็เริ่มได้รับความสนใจจากบรรดาโรงคั่วกาแฟชั้นนำในโลกตะวันตกกันบ้างแล้ว ตามกระแสค้นหาตามล่ากาแฟที่ซุกซ่อนไว้ด้วยตำนานและเรื่องราวต่างๆ นานา

แม้ว่าตลาดกาแฟแดนภารตะเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคกาแฟพิเศษซึ่งนับวันจะเป็นที่นิยมในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ทว่าขณะเดียวกันนั้นเอง "มอนซูน มะละบาร์" ยังคงโลดแล่นไปตามวิถี ท่ามกลางคลื่นลมและพายุฝนของฤดูมรสุม