SMPC คืนชีพ ! รุกลงทุนรับการโตครั้งใหม่

SMPC คืนชีพ ! รุกลงทุนรับการโตครั้งใหม่

ใช้เวลาเคลียร์หนี้นับ 'พันล้านบาท' นานกว่า 12 ปี ! แต่วันนี้...'สหมิตรถังแก๊ส' กลับกับพร้อมการลงทุนอีกครั้ง 'ปัทมา เล้าวงษ์' นายหญิง โชว์ 3 พันธกิจเติบโต 'ตลาดเกิดใหม่-ขยายกำลังผลิตสินค้ามาร์จิงสูง-ซื้อกิจการ' เพื่อรองรับดีมานด์ต่างประเทศโดดเด่น

12 ปี ! กับการปรับโครงสร้างหนี้ มูลค่านับ 'พันล้านบาท' ของ บมจ. สหมิตรถังแก๊ส หรือ SMPC ผู้ประกอบการผลิตถังแก๊สปิโตรเลียมเหลวสำหรับบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ก่อนเดินออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อนุญาตให้กลับมาซื้อขายได้ใหม่อีกครั้งเมื่อ 11 พ.ย.2556 เป็นต้นมา

'ธุรกิจผลิตถังแก๊สในเมืองไทยอาจจะไม่มีเห็นการเติบโตเป็นระดับสูงอีกแล้ว ดังนั้นแผนธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยงจึงเกิดขึ้น ด้วยการมุ่งสู่ตลาดประเทศกำลังพัฒนา นั่นคือ เรือธงสร้างการเติบโตครั้งใหม่อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต'

'ปัทมา เล้าวงษ์' รองกรรมการผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 19.60% ของ SMPC บอกเล่า 'สตอรี่' การเติบโตครั้งใหม่ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า เมื่อธุรกิจผลิตถังแก๊สในประเทศไทยไม่เห็นโอกาสเติบโตระดับสูงอีกแล้ว ! ซึ่งสวนทางกับตลาดถังแก๊สทั่วโลกที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 4-5% ต่อปีโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ 'ความต้องการ' (ดีมานด์) เติบโตโดดเด่น 

และ SMPC คือหนึ่งในผู้ประกอบการผลิตถังแก๊สไทยที่มีสัดส่วน 'การส่งออก' (Export) ถึง 95% และในประเทศอยู่ที่ 5% 

สอดคล้องกับแผนธุรกิจของบริษัทมุ่งเน้นขยายการเติบโตในกลุ่ม 'ตลาดใหม่' โดยเฉพาะตลาดประเทศกำลังพัฒนาที่ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตระดับสูงมาก อย่าง กลุ่มประเทศ บังคลาเทศ , อินเดีย , ศรีลังกา หลังนโยบายภาครัฐพยายามให้ประชาชนหันมาใช้ LPG ทดแทนการใช้ฟืน หรือ น้ำมันก๊าด เป็นเชื้อเพลิง 

รวมทั้งเปิด 'ตลาดลาตินอเมริกา' ที่บริษัทเริ่มเข้าไปทำตลาดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาคือ 'ซิลี-เปรู' หลังถังแก๊สของบริษัทผ่านมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบันคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ยังไม่สูงมาก แต่มองเป็นตลาดใหม่ที่บริษัทพยายามรุกเข้าไป และในปีนี้บริษัทเพิ่งได้งานประมูลผลิตถังแก๊สทั้งในซิลีและเปรูเข้ามาใหม่ 

โดย ณ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้ 95% มาจาก สหรัฐฯ , แอฟริกา , เอเชียใต้ , ออสเตรเลีย , สหภาพยุโรป 

162280236616

ทั้งนี้ ในแผนธุรกิจบริษัทมุ่งเน้นขยายตลาดใหม่ต่อเนื่อง ดังนั้น แผนลงทุนในระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า (2564-2568) บริษัทศึกษาลงทุนตั้งโรงงานผลิตถังแก๊สแห่งใหม่ในต่างประเทศ เพื่อรองรับกับแผนขยายฐานลูกค้าใหม่เข้ามา รวมทั้งลดต้นทุนค่าขนส่ง และแก้ไขปัญหาเรื่องภาษีนำเข้า โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเป็น 'การซื้อกิจการ' (M&A) โรงผลิตถังแก๊สใน 'สาธารณรัฐเคนยา' คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท กำลังการผลิต 2.5 ล้านถังต่อปี ซึ่งสาธารณรัฐเคนย่าเป็นประเทศในแอฟริกาตะวันออกที่ปัจจุบันเป็นกลุ่มประเทศฐานลูกค้าหลักของบริษัทอยู่แล้ว 

'เดิมเราศึกษาสร้างโรงงานผลิตถังแก๊สแห่งใหม่ในต่างประเทศในปีที่แล้ว แต่แผนลงทุนต้องชะลอออกไปก่อนเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ตอนนี้บริษัทกำลังศึกษาลงทุนใหม่โดยปรับเปลี่ยนแผนเป็นการซื้อกิจการ (M&A) แทน เพราะมองว่าสร้างใหม่ล่าช้าไปแล้ว ซึ่งเบื้องต้นดูโรงงานในประเทศเคนย่า'

นายหญิง แจกแจงต่อว่า สำหรับแผนลงทุนในประเทศบริษัทตั้งงบลงทุนไว้ 100 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิต 'ถังแก๊สขนาดใหญ่' (น้ำหนักเกิน 16 กิโลขึ้นไป) ซึ่งเป็นถังแก๊สที่มีผู้ประกอบการน้อยรายที่สามารถผลิตได้ทำให้เป็นสินค้าที่มีมาร์จินระดับสูง โดยบริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ 3-5 ปี (2564-2568) อยู่ที่ 20-25% จาก 15% ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตถังแก๊สขนาดเฉลี่ย 2,000 ใบต่อเดือน คาดโรงงานแล้วเสร็จไตรมาส 2 ปี 2564 กำลังการผลิตเพิ่มเป็นเฉลี่ย 4,000 ใบต่อเดือน 

โดยที่ผ่านมาตลาดมีความต้องการถังแก๊สขนาดใหญ่จำนวนมาก สะท้อนผ่านออเดอร์ที่เข้ามาแต่บริษัทไม่สามารถผลิตให้ลูกค้าทัน ซึ่งกลุ่มลูกค้าในกลุ่มนี้หลักๆ จะเป็นต่างประเทศ เช่น เอสโซ่ (ESSO) , เซลล์ (Shell) เป็นต้น แต่หลังจากเพิ่มกำลังการผลิตใหม่แล้วบริษัทจะสามารถรับออเดอร์ที่เข้ามาที่มากขึ้นอีก รวมทั้งเป็นสินค้าที่มีมาร์จินสูง ดังนั้น ผลประกอบการจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

'เรามองว่าอยากจะเพิ่มกำลังผลิตถังขนาดใหญ่ เนื่องจากยังมีตลาดรองรับอีกมาก และเป็นสินค้าที่มีมาร์จินสูงกว่าถังแก๊สขนาดเล็ก โดยกำลังผลิตใหม่เพิ่มขึ้นเท่าตัวหลังโรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ไตรมาส 2/64'

นอกจากนี้ บริษัทลงทุนการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ประเภท Solar Rooftop ขนาดกำลังผลิต 1.8 เมกะวัตต์ (MW) ในพื้นที่โรงงาน และสำนักงานใช้งบลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าไฟโดยรวมได้ประมาณ 10% 

สำหรับภาพรวมยอดขายในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 10-15% หรือขายถังแก๊สได้ประมาณ 8 ล้านใบต่อปี ซึ่งมียอดการใช้ (Utilization) คิดเป็น 80% จากกำลังการผลิตทั้งสิ้น 1 ล้านใบต่อปี ซึ่งภาพรวมการใช้แก๊ส LPG ในเอเชียแปซิฟิก และแอฟริกายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

162280239749

ด้านราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 มองว่าแม้จะกระทบต้นทุนสูงขึ้น แต่มีผลดีเนื่องจากช่วงราคาเหล็กเพิ่มจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีออเดอร์ล่วงหน้านานหลายเดือน นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้บริษัทสามารถซื้อเหล็กในระดับราคาที่ถูกลง อีกทั้งบริษัทยังป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาท (Natural Hedge) ประกอบกัน

สำหรับปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นมากมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 ส่งผลให้ลูกค้าเลื่อนการส่งมอบ FOB แต่บริษัทพยายามแก้ไขโดยการหาค่าขนส่งสินค้า(Freight) ให้ตรงกับความพอใจลูกค้า อีกทั้งภาพรวมลูกค้าบางส่วนเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ ส่วนปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ บริษัทได้แก้ไขโดยสั่งจองล่วงหน้า โดยสถานการณ์โดยรวมเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ดีขึ้นมากแล้วและเชื่อว่าน่าจะเริ่มคลี่คลายกว่านี้ 

สุดท้าย 'ปัทมา' ทิ้งท้ายไว้ว่า ทิศทางอุตสาหกรรมโดยรวมมีการขยายตัว คาดการผลิตและการใช้งาน LPG จะเติบโตต่อเนื่อง และในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา อย่าง แอฟริกา และเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะใช้งานแบบก้าวกระโดดในอนาคต สะท้อนผ่านในปี 2563 การใช้แก๊ส LPG ถือเป็นพลังงานที่มีความต้องการใช้ปรับตัวลดลงน้อยที่สุดเพียง 2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับพลังงานอื่นๆ ที่การใช้งานลดลง 10-14%